คอลัมนิสต์

ฝ่ายค้านร้อนแรง-ไร้เอกภาพ  เสียงานใหญ่ แก้ รธน. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การค่อยเป็นค่อยไปเกี่ยวกับการแก้ไข รธน. อาจพาให้ ฝ่ายค้าน ไปได้ไกลกว่าที่คิด การเร่งรัดชูประเด็นร้อนแรงแก้มาตรา1ว่าด้วย รัฐเดี่ยว อาจได้แค่วูบวาบ แต่ไปไม่ถึงไหน

       บริบทความขัดแย้งในการเมืองไทยพ.ศ.นี้ ยกระดับจากสงครามสีเสื้อไปนานแล้ว กลายเป็นสงครามความคิด แบ่งขั้วข้างชัดเจน ขับเขี้ยวกันด้วยข้อมูลข่าวสาร ไม่เว้นแม้แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 

      กลยุทธ์การเดินสายของ7พรรคฝ่ายค้าน ในการรณรงค์สร้างแนวร่วมในการแก้กฎหมายสูงสุด หลายเวทีกลายเป็นเรื่อง"ทอล์คออฟเดอะทาวน์"อยู่เสมอ จนถูกฝ่ายความมั่นคงจับตา กระทั่งฟางเส้นสุดท้าย ขาดลงที่เวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ จ.ปัตตานี 

        “การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา1 ด้วยก็ไม่แปลกอะไร” ประโยคปิดท้ายของ นางชลิตา บัณทุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บนเวทีเสวนา ที่อธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ มาจากสาเหตุความเป็นรัฐเดี่ยว ความรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจของผู้คน ที่ถูกกีดกันออกจากการพัฒนา รู้สึกตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง รวมถึงแนวทางการใช้กฎหมายพิเศษ 

       ฝ่ายรัฐจึงต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อ “พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ” ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ในฐานะผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รุดแจ้งความดำเนินคดีกับ 12 แกนนำพรรคฝ่ายค้าน 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดในลักษณะนั้นสุ่มเสี่ยงและล่อแหลมต่อความมั่นคงในพื้นที่อย่างมาก การอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อคุมสถานการณ์ไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานในพื้นที่ชายแดนใต้ ท่ามกลางความคิดของคนบางกลุ่มที่อยากแบ่งแยกเป็นทุนเดิม

        การพูดในลักษณะที่ทำให้สังคมอาจเข้าใจว่าคนพูดกำลังเห็นดีเห็นงามกับการไม่ต้องเป็น "รัฐเดี่ยว"นั้นอันตราย มีบางพวกจ้องผสมโรง ฝ่ายรัฐจึงต้องขยับ เพราะนั่นอาจเป็นการปลุกให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย

      การที่หนึ่งในแนวร่วมฝ่ายค้าน แตะต้อง “มาตรา1” ในรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้สั้นๆ แต่อาจสำคัญเทียบเท่าชีวิตของประเทศ

      “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” 

       การที่ระบุว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะแก้ไข “มาตรา1” ส่งผลให้สังคมระแวงถึงเจตนาที่แท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ว่าลึกๆ แล้วต้องการอะไรกันแน่ 

      หรือ “ชลิตา” เหาะเกินลงกา คิดและพูดไปไกลจากประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งใจจะแก้ หรือเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองรับบทเสี่ยงนี้ไปเล่น

        ด้าน “พรรคฝ่ายค้าน” ก็ใช่จะอยู่เฉยยอมให้โดนเชือดง่ายๆ ได้เอาคืนด้วยการแจ้งความกลับผู้เกี่ยวข้องที่แจ้งความฝ่ายค้าน ด้วย “ม.116” ว่าแจ้งความเท็จ กลั่นแกล้งให้ต้องรับโทษ โดยเป้าหมายจริงๆ ของ “ฝ่ายค้าน” คือ “กอ.รมน.” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ 

       การที่ฝ่ายค้านใช้ช่องทางกฎหมายดำเนินการกับรัฐ ก็อาจไม่ได้ผลตามต้องการทั้งหมด ผู้กุมอำนาจรัฐยังไงก็ได้เปรียบกว่าวันยังค่ำ แต่การเพลี่ยงพล้ำของ “ฝ่ายค้าน” ก็อาจกลายเป็นคะแนนสงสารเรียกกระแสปลุกกระแสคนเบื่อรัฐบาลได้

      อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาระบุว่าอยากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ถือธงนำในการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะได้รับการปฏิเสธ ไม่ขอรับบทบาทตรงนั้น ยิ่งสะท้อนชัดว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็น1ใน12นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จะไม่ได้รับการตอบสนองในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน 

       เมื่อฟากรัฐบาลที่คุมกลไกการขับเคลื่อน มี 250 ส.ว.เป็นกองหนุนไม่เอาด้วย ลำพังแค่ฝ่ายค้านเองจะมีกำลังมากเพียงพอแค่ไหน ในเมื่อเปิดหัวก็ไปแตะกล่องดวงใจ “บิ๊กตู่” ที่ต้องการทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่น คนเลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบบนี้ใครเขาจะเอาด้วย

        การที่ฝ่ายค้านพยายามเร่งรัด ชูแก้บางมาตราที่เป็นเรื่องอ่อนไหว ไม่มีใครคาดคิด สังคมย่อมเกิดคำถาม รวมถึงเกิดภาวะย้อนแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะก่อนหน้านี้บางคนพูดชัดเจนไม่แตะต้อง หมวด 1 และหมวด 2 ในรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว 

       แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่มีใครพูดชัดๆ ว่า ที่เดินสายหาแนวร่วมแก้รัฐธรรมนูญนั้น เจตนาจริงๆ คือ หมวดไหน มาตราใด แต่ดันเลือกพูดกันไปคนละทางสอง ไม่เจาะจงเอาชัดๆ ไปเลยว่า ไม่เอาอำนาจส.ว. ที่มีสิทธิโหวตเลือก “นายกฯ” หรือ แก้ไขบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ย้ำจุดยืน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับ แล้วให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างขึ้นใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่า “เพื่อไทย” และ พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เอาด้วยหรือไม่
       ความมุทะลุของแนวร่วมบางคนในฟาก “ฝ่ายค้าน” อาจทำให้เสียงานใหญ่ ตรงนี้คือจุดอ่อน เมื่อความต้องการแต่ละคนไม่ตรงกัน แทนที่จะว่าไปเลยตรงนั้นไม่ดีต้องแก้ ประสานเสียงพูดพร้อมๆ กัน จะเกิดอิมแพ็คมากกว่าทำอะไรคลุมเครือ พูดแค่ประเด็นกว้างๆ 

       การค่อยเป็นค่อยไป อาจจะพาให้ “ฝ่ายค้าน” ไปได้ไกลกว่าที่คิด การเร่งรัดชูประเด็นร้อนแรง อาจได้แค่วูบวาบ แต่ไปไม่ถึงไหน 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ