คอลัมนิสต์

เหรียญสองด้านชิม-ช้อป-ใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2562

 

 

 

          ปิดบัญชี 10 ล้านคนในเฟสแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำหรับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ โครงการมี 2 ส่วน คือ รัฐให้เงิน 1,000 บาท แก่ผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3 ทางคือ ชิม-ใช้ในร้านอาหารและเครื่องดื่ม ช้อป-ใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าที่ร่วมโครงการ สินค้าโอท็อป วิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ และใช้-สำหรับบริการเพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่โรงแรม แพ็กเกจทัวร์ และค่าไกด์ ที่ร่วมโครงการ โดยเงินส่วนนี้ ให้นำไปใช้จ่ายได้เฉพาะในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งต้องไม่ตรงกับทะเบียนบ้านภายใน 14 วันหลังการยืนยันสิทธิ์ผ่านเอสเอ็มเอส อีกส่วนคือเงินคืน 15% จากการใช้จ่ายสูงสุดไม่เกินคนละ 4,500 บาท

 

 

          มาตรการนี้ มีทั้งเสียงตอบรับในเชิงบวก และวิพากษ์วิจารณ์ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เห็นด้วยมองว่าเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้เงินไหลเวียนในระบบมากขึ้น สามารถดึงกำลังซื้อออกมาได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคนออกไปชิมช้อปใช้ส่วนมากก็ใช้เงินเกินกว่า 1,000 บาทที่รัฐให้ไปเป็นอย่างมาก แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า ประโยชน์จะเกิดกับผู้ค้ารายใหญ่ เม็ดเงินลงไม่ถึงระดับชุมชนฐานราก ผู้ค้ารายย่อย หรือแม้แต่โอท็อป ทั้งยังมองว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เมื่อใช้เงินหมดก็จบ ไม่ได้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว ขาดแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่า มาตรการนี้จะทำให้จีดีพีโตขึ้นอีก 0.2-0.3%

 


          ขณะเดียวกัน นิด้าโพล สำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 27.36 มองว่า มาตรการนี้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ประชาชนร้อยละ 27.28 บอกว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ขณะที่ความคิดเห็นต่อภาพรวมของมาตรการ ร้อยละ 28.95 ตอบว่าไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 25.62 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 22.60 เห็นด้วยมาก แต่ในส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการ ประชาชนร้อยละ 42.19 ให้ความเห็นว่า ควรปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น ส่วนร้อยละ 34.10 แนะนำว่า ขอให้ยกเลิกโครงการไปเลย ขณะที่นักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่า ผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงกลุ่มที่มีปัญหาและได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจริงๆ




          เสียงสะท้อนผ่านหลายๆ สื่อดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลซึ่งกำลังเดินหน้ามาตรการในเฟสที่ 2 นี้ น่าจะนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงการได้อย่างทั่วถึง ไม่ติดสารพัดปัญหาในเรื่องระบบออนไลน์ และการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่น่าพิจารณาก็คือ มาตรการนี้จะต้องตอบโจทย์ การหมุนเวียนของเม็ดเงินสู่ชุมชนคนฐานรากจริง ผลประโยชน์ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ที่ได้เปรียบในเชิงการค้า ประชาชนสะดวกสบายที่สามารถใช้จ่ายได้ครอบคลุมรายการสินค้า ท้ายที่สุด ต้องยอมรับว่า คนไทยจำนวนมากยังไม่คุ้นเคยกับระบบเงินออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้ แต่หากมองในแง่บวก มาตรการนี้ก็อาจช่วยให้ประชาชนได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับสังคมไร้เงินสดก็เป็นได้

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ตัดสิทธิ์ ร้านขายหวย ร่วม ชิมช้อปใช้
-(คลิปสอน) สมัคร ลงทะเบียน ชิมช้อปใช้ รับ 1,000 แอปเป๋าตัง
-ร้านค้าชิมช้อปใช้ เข้าร่วม ลงทะเบียน 
-5 เรื่องคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดใช้สิทธิ์ ชิมช้อปใช้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ