คอลัมนิสต์

หลังน้ำลดปีนี้ขอให้มีข้าวกินเสียงสะท้อนชาวนาลุ่มน้ำชี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงสะท้อนชาวนาลุ่มน้ำชีหลังน้ำลดปีนี้ขอให้มีข้าวกิน

 

 

 


          เมื่อนาข้าวซึ่งเป็นความหวังของชาวบ้านลุ่มน้ำชีถูกน้ำท่วม ต้นข้าวเน่าตายเสียหายเกือบทั้งหมด เท่ากับว่า นาปี รอบนี้สูญเปล่า


          สถานการณ์น้ำท่วม 2 ฝั่งแม่น้ำชีตอนกลางถึงตอนล่างของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร เป็นปัญหาต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี ตั้งแต่มีการสร้าง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และ เขื่อนธาตุน้อย 

 

 

          ด้วยเหตุจากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะหรือที่ลุ่มน้ำท่วมถึงช่วงฤดูน้ำหลาก จากอดีตที่เคยท่วมเพียง 10–15 วัน ต้นข้าวจึงไม่เสียหาย ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำสระหัวข้าว” แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนาน 1-3 เดือน ข้าวต้องจมอยู่ใต้น้ำเน่าเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


          ปัญหาน้ำท่วมขังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนสองฝั่งลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะ 1.ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินและชุมชน เนื่องจากการสร้างเขื่อนเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง เดิมน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากขึ้นช้าลงเร็ว ท่วมนานที่สุดไม่เกิน 10-15 วัน ไม่ทำให้ข้าวเสียหาย แต่จะเป็นตัวเร่งให้ข้าวเจริญเติบโตเพราะมีสารอาหารพัดพามากับน้ำและตกตะกอนในที่นาหลังน้ำลด 


          แต่ปัจจุบันน้ำท่วมขังนานกว่า 1–3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย รวมถึงชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินจากการที่ถูกน้ำท่วม นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงวิถีชีวิต 

 

 

 

หลังน้ำลดปีนี้ขอให้มีข้าวกินเสียงสะท้อนชาวนาลุ่มน้ำชี

 


          2.วิถีการเกษตรเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่สองฝั่งลุ่มน้ำชีมีวิถีการทำนาปีหรือนาทามเป็นหลัก หลังจากพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมนาข้าวเสียหาย ชาวบ้านลุ่มน้ำชีจึงต้องเริ่มดิ้นรนในการทำนาปรัง หาซื้อพันธุ์ข้าวปลูก เพื่อมาปลูกทดแทนนาปีที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และเป็นการทำนาปรังที่มีการลงทุนสูงกว่านาปี

 

 




          3.ปัญหาหนี้สิน เมื่อพืชผลทางการเกษตรอย่างเช่นข้าวเสียหายจากน้ำท่วมชาวบ้านจึงไม่มีรายได้ในการดำรงชีวิต และภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาต้องขาดทุนและก่อปัญหาหนี้สินในที่สุด เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็ต้องหาหยิบยืม หรือกู้เงินจากแหล่งเงินทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อเป็นทุนมาเตรียมทำนาปรัง
 

          สังวาลย์ วงษ์จันแดง อายุ 60 ปี ชาวบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด มีที่นา 5 แปลง เนื้อที่รวมกัน 40 ไร่ มีทั้งอยู่ในพนังกั้นน้ำชีและนอกพนังกั้นน้ำชีถูกน้ำท่วมเสียหายหมด เงินลงทุนกับนาปีประมาณ 50,000 กว่าบาท ทั้งค่าพันธุ์ข้าว ค่าไถนา ค่าพรวนดิน ค่าปุ๋ยบำรุงดิน ค่าหว่านข้าว และค่าแรงสูญเปล่าไปกับน้ำท่วม 

 

 

หลังน้ำลดปีนี้ขอให้มีข้าวกินเสียงสะท้อนชาวนาลุ่มน้ำชี

 


          แต่ถึงกระนั้น สังวาลย์ เป็นชาวนาแม้นาปีถูกน้ำท่วมเสียหายก็จำต้องดิ้นรนทำ นาปรัง ทดแทน แต่ปัญหาคือเงินลงทุนต้องหายืมบางส่วน ขณะที่พันธุ์ข้าวนาปรัง หรือปุ๋ยบำรุงต้นข้าวก็ต้องซื้อเชื่อไว้ก่อน หลังจากเก็บข้าวนาปรังเสร็จถึงจะนำเงินมาหักลบกลบหนี้ได้ 


          สังวาลย์บอกว่า  ถึงแม้ปีนี้คาดว่าจะมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไร่ละ 1,113 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ รวมกับเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ลงทะเบียนปลูกข้าวนาปีไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ และเงินจากการซื้อประกันภัยข้าวนาปีจาก ธ.ก.ส. 1,260 บาทต่อไร่ ในกรณีเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ก็ถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนและค่าเสียโอกาสที่ควรจะได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปี เพราะเงินที่จะมาบางส่วนต้องนำไปใช้หนี้ ค่าปุ๋ยนาปี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก โดยเฉพาะต้องนำไป ซื้อข้าวกิน 


          "สิ่งที่เราต้องทำต่อก็คือการทำนาปรังเพื่อทดแทนนาปี ตอนนี้เราต้องคิดถึงทุนที่จะนำมาทำนาปรังทั้งหมด 40 ไร่ เพราะเราพอมีคลองน้ำผ่านพื้นที่นา โดยจะต้องเตรียมหาซื้อพันธุ์ข้าว 80 กระสอบ ปีนี้คาดว่าจะต้องติดหนี้พ่อค้าไว้ก่อนเพราะพันธุ์ข้าวนาปรังเราไปปลูกในช่วงนาปีประมาณ 2 ไร่ แล้วก็จะเก็บเกี่ยวก่อนนาปีแล้วเรานำมาตากแดดและเก็บไว้อีกประมาณ 2 เดือนก็จะนำมาปลูกเพราะจะทำให้ต้นข้าวแข็งแรงไม่ค่อยมีเมล็ดที่เสีย แต่ปีนี้น้ำท่วมพันธุ์ข้าวเสียหายหมดจะต้องซื้อพันธุ์ข้าวทั้งหมด โดยปกติแล้วนาปรังจะลงทุนสูงกว่านาปีเสี่ยงต่อราคาข้าวที่ไม่แน่นอนในบางปี ถ้าได้ขายข้าวนาปรังก็จะใช้หนี้ไปก่อนส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้เป็นทุนทำนาปีต่อไป” สังวาลย์ บอก


          เช่นเดียวกับ นิมิต หาระพันธุ์ ชาวนาวัย 57 ปี แห่งบ้านบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เล่าว่า มีที่นาทั้งหมด 15 ไร่ ช่วงพายุเข้ามาทำให้พื้นที่นาทาม 8 ไร่เสียหายหมด ยังดีที่เหลือนาโคก 7 ไร่ คงพอได้เก็บเกี่ยวและขายบางส่วน 


          นิมิต บอกว่า เสียดายข้าวน่าทามมาก เพราะต้นข้าวสวยมาก ตอนแรกไม่คิดว่าจะถูกน้ำท่วมจึงได้จัดการทำเป็นที่นาเลี้ยงปลาโดยเข้าร่วมกับโครงการประมงจังหวัดเพื่อปรับที่นา 2 ไร่เลี้ยงปลาในนา เป็นการยกคันนาขึ้นสูง และตามคันนาก็ปลูกกล้วย มะละกอ ฟักทอง พริก แต่ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด 

 

 

หลังน้ำลดปีนี้ขอให้มีข้าวกินเสียงสะท้อนชาวนาลุ่มน้ำชี

 


          “ถ้ามองถึงการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐก็คงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเราต้องมาเริ่มลงทุนกันใหม่อีกและการลงทุนในทุกๆ ครั้งจะต้องใช้เงิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ ดีอย่างหนึ่งที่ผมมีที่นาที่เสียหายน้อย การลงทุนก็เลยน้อย เห็นใจชาวบ้านบางคนที่มีที่นาเยอะ การลงทุนและความเสียหายก็ต้องมากไปด้วย ปีนี้ยังไงก็จะทำนาปรังเพียง 5 ไร่ ส่วนพันธุ์ข้าวนั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้เมื่อปีที่แล้วจึงเป็นต้นทุนสำคัญของชาวนา จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูก ปลูกผัก และเลี้ยงปลาเพื่อทดแทนหลังน้ำท่วม” นิมิต บอก


          ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อโครงสร้างของชุมชนโดยตรง เมื่อโครงสร้างของชุมชนถูกทำลาย การล่มสลายจึงเกิดขึ้นต่อชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมและง่ายต่อความเข้าใจ คือ สภาวะน้ำท่วมที่ผิดแผกไปจากอดีต 


          ภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐแตกต่างจากการท่วมที่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติอย่างในอดีตโดยสิ้นเชิง น้ำหลากที่เกิดจากธรรมชาติชาวลุ่มน้ำสามารถปรับตัวให้สอดคล้องอยู่ได้ สามารถคาดคะเนหรือคาดการณ์การมาของน้ำจนถึงขั้น “จับชีพจรน้ำ” ได้ แต่ภาวะน้ำท่วมอันเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาของรัฐเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชาวบ้านมิอาจปรับตัวให้กลมกลืนหรือยังชีพอย่างปกติสุขได้  


          ปีนี้ถึงแม้ที่นาจะถูกน้ำท่วมต้นข้าวเสียหายแต่ชาวนาลุ่มน้ำชีก็ยังยืนหยัดที่จะเดินหน้าทำนาปรังทดแทน และปลูกพืชที่สอดคล้องกับพื้นที่ต่อไป ในขณะที่การแก้ไขปัญหาของภาครัฐนั้น ชาวบ้านสะท้อนว่าหากมองในแง่การลงทุนย่อมไม่คุ้มค่าแน่นอน ชาวบ้านต้องสูญเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด 


          ชาวบ้านบอกว่าถ้าเกิดน้ำท่วมอีกอยากเสนอให้รัฐกลับไปทบทวน โครงสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น เขื่อน และการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เป็นระบบ เพราะเป็นปัญหาต้นเหตุ รัฐควรพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ทั้งต้นและดอกเบี้ย สนับสนุนพันธุ์ข้าวปลูกนาปีและนาปรังอย่างน้อยครัวเรือนไร่ละ 20 กระสอบ และสุดท้ายรัฐควรจ่ายค่าสูญเสียโอกาสตามความเป็นจริงไม่ควรกำหนดจำนวนไร่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ