คอลัมนิสต์

วงศ์สกุล ว่าที่อัยการสูงสุด กับข้อสงสัยคดีวิคตอเรียซีเคร็ท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งานเข้าไม่ทันตั้งตัว วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ว่าที่ อสส. เมื่อชูวิทย์ โพสต์คดีวิคตอเรีย พาดพิงถึง ว ช่วยคดี..เขาเป็นใคร ดีพอที่จะเป็น อสส.หรือไม่.. ที่นี่มีคำตอบ

     โดย เกศินี แตงเขียว 

     จู่ๆ อัยการ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว  พร้อมกับเหตุการณ์เสียชีวิตของพริตตี้สาว ลันลาเบล

     เมื่อ “เสี่ยชูวิทย์” เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วันที่ 21 ก.ย.62 สะท้อนมุมมองเหตุการณ์เสียชีวิตพริตตี้สาว จนมาถึงข้อมูลที่เสี่ยชูวิทย์ เรียกว่าธุรกิจสีเทาเรื่องเพศพาณิชย์ ในเคสนำเด็กหญิงอายุน้อยมาค้าบริการทางเพศที่วิคตอเรีย แล้วกล่าวพาดพิงว่า คนในวงการกฎหมายชื่อย่อ “ว” กำลังจะไปทำงานใหญ่โตบน ถ.แจ้งวัฒนะ ช่วยสนับสนุนรอดคดี

      อัยการในฐานะที่เรียกว่านักกฎหมายเหมือนกัน และในส่วนที่ต้องทำคดีค้ามนุษย์ในสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรียซีเคร็ทโดยตรง ก็ต้องออกมาชี้แจงข้อพาดพิงทันควัน 

       โดยรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง 2 ประเด็นหลักสำคัญ คือความเป็นมาคดีวิคตอเรียฯ และข้อความที่ฟังแล้วอ้างถึงนักกฎหมายชื่อย่อ “ว” น่าเข้าใจผิดถึง “นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” ว่าที่อัยการสูงสุดคนใหม่ ที่กำลังจะต้องมานั่งโต๊ะทำงานที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะหรือไม่

      ซึ่งอัยการยืนยันว่า นักกฎหมายชื่อย่อ “ว” นั้น ไม่ใช่ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และกำลังผ่านขั้นตอนเสนอชื่อเป็น "ว่าที่อัยการสูงสุด" ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยย้ำว่าขณะนายวงศ์สกุล ดำรงตำแหน่ง อธ.อัยการสำนักงานคดีพิเศษ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการดำเนินคดีวิคตอเรียฯ 

     ส่วนคดีที่กล่าวหา “นายกำพล วิระเทพสุภรณ์” เจ้าของวิคตอเรียฯ และบริษัท วิคตอเรียซีเคร็ท จำกัดนั้น อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของพนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ สำนักงานคดีพิเศษที่นายวงศ์สกุล นั่งเป็น อธ.อัยการ อยู่นานแล้วตั้งแต่ช่วงกล่าวหาคดีเมื่อปี 2561 โดยคดีที่กล่าวหา นายกำพล , บ.วิคตอเรียฯ และลูกน้องอีกหลายคน อัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ รับผิดชอบอยู่  2 เรื่องก็มีคำสั่งฟ้องทั้ง 2 คดี แต่นายกำพลหลบหนีไป พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็ได้ขอศาลออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาส่งอัยการฟ้อง ภายในอายุความ 20 ปีแล้ว ส่วนกลุ่มลูกน้องที่มีตัวอยู่ อัยการก็ยื่นฟ้องต่อแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญากระทั่งศาลชั้นต้นลงโทษข้อหาเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และร่วมกันเป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารฯ ส่วนข้อหาค้ามนุษย์ยกฟ้อง ซึ่งคดียังลุ้นผลอุทธรณ์อีกชั้น

     แต่ด้วยความต่อเนื่อง ถัดมาหลังจากการแถลงข่าวของอัยการ 23 ก.ย.62 “เสี่ยชูวิทย์” ยังได้เขียนในเฟซบุ๊ก เป็นประโยคคำถามว่า กินปูนร้องท้อง ? พร้อมกับตั้งข้อสังเกตคดีเรื่องที่การสั่งถอนหมายจับผู้ต้องหาบางคน ซึ่งน่าจะหมายถึงนางนิภา ภรรยาของนายกำพล ที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาร่วม แต่สุดท้ายคดีสิ้นสุดลงที่คำสั่งไม่ฟ้องนางนิภา โดยทั้งอธิบดีอัยการคดีค้ามนุษย์และอธิบดีดีเอสไอ มีความเห็นตรงกันหลังจากที่นางนิภาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ตามที่อัยการแถลงข้อเท็จจริง 

 วงศ์สกุล ว่าที่อัยการสูงสุด กับข้อสงสัยคดีวิคตอเรียซีเคร็ท

     แม้จะมีเรื่องร้อนๆ มาถึงหน้าบ้าน “นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” ก็ยังคงคิดว่า น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในข้อมูลมากกว่า เมื่อทีมโฆษกได้แถลงถึงข้อมูลคดีที่ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ก็จะได้เห็นภาพที่ถูกต้อง โดยรองโฆษกอัยการ ก็ระบุชัดเจนว่า "นายวงศ์สกุล ว่าที่อัยการสูงสุด" ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมายในการตั้งข้อสังเกตคดีครั้งนี้ที่น่าจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน 

    แล้วการตั้งข้อสังเกตคดีในครั้งนี้ ที่เผอิญว่าอยู่ในช่วงที่กำลังรอขึ้นตำแหน่ง จะสะเทือนไปถึงการเข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุด “นายวงศ์สกุล” หรือไม่

      มาย้อนดูเส้นทางในความก้าวหน้าอัยการของ “นายวงศ์สกุล” ว่าที่อัยการสูงสุดคนที่ 15 กันสักหน่อย 

     โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) 15 คน มีมติเอกฉันท์ ให้แต่งตั้ง “นายวงศ์สกุล ” อธ.สำนักงานคดีพิเศษ ขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไปโดยจะมีวาระดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด 2 ปี เป็นการดำรงตำแหน่งต่อจากนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย.นี้

    ซึ่ง “นายวงศ์สกุล” เป็นว่าที่อัยการสูงสุดคนแรก ที่มาจากตำแหน่งอธิบดีอัยการ โดยไม่ผ่านตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการและรองอัยการสูงสุด เนื่องจากอัยการคนอื่นที่มีอาวุโสกว่าในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และผู้ตรวจการอัยการ 17 คน ล้วนพ้นตำแหน่งบริหารเพราะอายุครบ 65 ปีไปทั้งหมด 

       ขณะที่นายวงศ์สกุล เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเพิ่งได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีล่าสุดอีกด้วย จึงนับว่าเป็นศิษย์เก่าจากรั้วรามคำแหงคนแรกที่จะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

      โดยหลังจากที่ ก.อ. มีมติดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เสนอชื่อ “นายวงศ์สกุล” ให้วุฒิสภาพิจารณาความเห็นชอบตามขั้นตอนกฎหมาย จนวันที่ 3 ก.ย.62 ที่ประชุมวุฒิสภา ก็มีมติ 215 ต่อ 6 เสียง ให้ความเห็นชอบ “นายวงศ์สกุล” อธ.สำนักงานคดีพิเศษ ขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนใหม่ แบบไร้ข้อกังขาหลังจากรับฟังข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบประวัติ จากคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลฯ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน

     อันที่จริงก่อนที่ คณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. จะมีมติเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดนั้น ก็จะต้องตรวจสอบประวัติละเอียดที่มีการบันทึกข้อมูลไว้ นับตั้งแต่เมื่อสอบเข้ามาเป็นผู้ช่วยอัยการ และเมื่อเป็นอัยการในตำแหน่งต่างๆ ทั้งระดับอัยการผู้เชี่ยวชาญ อัยการพิเศษฝ่าย อัยการจังหวัด รองอธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการ ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลว่ามีเรื่องที่ถูกร้องเรียน เรื่องที่ถูกลงโทษตักเตือน เรื่องวินัยหรือไม่ โดยกรณีของ “นายวงศ์สกุล” ก็ไม่ได้ถูกบิดพลิ้วในทางอื่น การพิจารณาเป็นเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมาตามขั้นตอน ซึ่งประธาน ก.อ. ก็ย้ำว่าการพิจารณาดูความเหมาะสมทุกเรื่อง โดยวันที่ลงมติไม่พบเรื่องที่เคยถูกร้องเรียน 

       ขณะที่ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่ง อธ.อัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายวงศ์สกุล ก็ขยับมาจากตำแหน่งระดับเฮดในสำนักงานคดี 

      จาก รอง อธ.อัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งร่วมดูแลคดีสำคัญที่ส่งมาจากดีเอสไอ เช่น คดีชุมุนมทางการเมือง คดีที่มาจาก ปปง. และ ป.ป.ช. ก็โยกมาเป็น รอง อธ.อัยการสำนักงานการสอบสวน ที่ดูแลการร่วมสอบสวนคดีสำคัญที่ได้รับมอบหมาย 

      แล้วเมื่อสำนักงานอัยการสูงสูด เปิดสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต เพื่อให้สอดรับกับการทำหน้าที่ฟ้องคดีอาญาข้าราชการทุจริต เมื่อศาลยุติธรรมตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มาพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ นายวงศ์สกุล ได้รับการแต่งตั้งไป นั่งเป็น อธ.สำนักงานคดีปราบปรามทุจริต คนแรก ในปี 2559 ที่ต้องดูแลคดีที่ส่งมาจาก ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ที่เดิมเป็นงานสำนักงานคดีพิเศษ

    จนปี 2561 กระทั่งมีการแต่งตั้งโยกย้าย นายวงศ์สกุล ได้กลับมาบริหารงานสำนักงานคดีพิเศษ อีกครั้ง ในตำแหน่ง อธ.อัยการสำนักงานคดีพิเศษ

     ซึ่งระหว่างนี้ในปี 2562 นายวงศ์สกุล ยังได้รับเลือกจากอัยการทั่วประเทศ ร่วมลงคะแนนกว่า 2,000 ตะแนน ให้เป็น 1 ใน ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง ก.อ.นี้ จะมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ รวมทั้งการพิจารณาดำเนินการทางวินัย หรือการสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการอัยการที่กระทำผิดระเบียบ และการพิจารณาออกระเบียบบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับอัตรากำลังของข้าราชการฝ่ายอัยการด้วย

     แม้จะได้ฝ่าเส้นทางที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาไม่น้อย จนได้รับเลือกด้วยความเหมาะสมจาก ก.อ.และ ส.ว.ให้ความเห็นชอบ เป็นว่าที่อัยการสูงสุด ในวัย 62 ปีเศษนี้แล้ว ในการบริหารสำนักงานอัยการสูงสุด กับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดนี้ ก็ยังมีงานที่พร้อม ให้นายวงศ์สกุล ได้พิสูจน์ฝีมือกัน ทั้งเรื่องคดีและการบริหารที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความยุติธรรม ที่จะคลายทุกข์-เพิ่มสุขให้ประชาชน อีกไม่น้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อัยการแจงยิบบทความชูวิทย์ คลาดเคลื่อนพาดพิงว่าที่ อสส.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ