คอลัมนิสต์

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นทางค้นหา..ยอดเขาขี้อาย "Everest" เทคนิคและเคล็ดลับสำหรับผู้ไม่เคยเดินเขาเดินป่า...แต่อยากทำตามความฝันพิชิต "EBC" เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 

 

         

          ยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้รับการยกย่องว่า “สูงงามและมีเสน่ห์สุดในโลก” เนื่องจากเป็น ภูเขาขี้อาย คนเนปาลเรียกเทือกเขาหรือยอดเขาส่วนใหญ่ด้วยเพศหญิง แต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ได้รับการยกเว้นให้เรียกเป็นเพศชาย...แถมเป็นหนุ่มขี้อายมากๆ เสียด้วย !

 

 

          แม้เป็นยอดเขาสูงสุดในโลก 8,848 เมตร แต่ถ้าใครไม่ได้ตั้งใจดั้นด้นปีนขึ้นไปใกล้ๆ จะเห็นไม่ค่อยชัด...เพราะธรรมชาติแอบเสกมนต์ให้ยอดเขาอื่นๆ ข้างเคียงมาบดบังไว้เกือบทุกมุม แถมด้วยเมฆหมอกหนาทึบแผ่ปกคลุมยอดเอเวอเรสต์ตลอดวัน ทำให้การได้ยลโฉมภูเขาหนุ่มขี้อายด้วยตาตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย !


          หลายคนมีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิต ต้องไปสัมผัสและมองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วยตาตัวเองว่าสวยยิ่งใหญ่สมกับคำเล่าลือแค่ไหน โดยเฉพาะการไปให้ถึง “อีบีซี” หรือ “เอเวอเรสต์เบสแคมป์” Everest Base Camp อันเป็นเหมือนพื้นที่พิเศษบนความสูงระดับ 5,364 เมตร ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่ใช่นักปีนเขาแล้วอยากสัมผัสยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ใกล้ที่สุดต้องไปที่นี่เท่านั้น

 

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 


          “ทีมข่าวรายงานพิเศษ คมชัดลึก” มีโอกาสร่วมเส้นทางจากประเทศไทยสู่ “เอเวอเรสต์เบสแคมป์” พร้อมกรุ๊ปเพื่อนต่างชาติ 4 คน โดยมีหัวหน้าทีมเป็นนักข่าวชาวเยอรมัน จึงขอนำประสบการณ์เดินทางร่วมกันมาเล่าให้ฟังบางส่วน โดยขอเน้นไปที่ผู้อ่านคนไทยทั่วไปที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในฐานะนักเดินเขาหรือนักปีนเขามาก่อนในชีวิต แต่อยากออกผจญภัยท้าทายเส้นทางธรรมชาติของเทือกเขาสูงหิมาลัย


          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าคนทั่วไปเรียก “ภูเขาเอเวอเรสต์” ว่า “ยอดเขาเอเวอเรสต์” (Mount Everest) เพราะตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาหิมาลัย (Himalaya Range) ความยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยยอดเขาสูงต่ำมากกว่าหนึ่งร้อยยอด ชาวอินเดียเพิ่งคิดค้นวิธีวัดความสูงได้เมื่อปี 1955 แต่ฝรั่งไม่ค่อยเชื่อเท่าไร พยายามคอนเฟิร์มวัดซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อพิสูจน์ว่า ยอดเอเวอรเรสต์สูงที่สุดในโลกจริงหรือ? จนกระทั่งจีนออกมายืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1975 นี้เอง

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 



          “บีไนฟ์” หนุ่มเนปาลีหน้าเข้มผู้ทำหน้าที่ไกด์ แปลให้ฟังว่า หิมาลัย หมายถึง บ้านของหิมะ คนเนปาลหรือ “เนปาลี” เคารพนับถือเทือกเขาหิมาลัยมานานแล้ว ส่วนยอดเอเวอเรสต์เรียกว่า ซาการ์มาธา “SAGARMATHA” ควรจำคำนี้แม่นๆ เพราะในแผนที่หรือป้ายบอกเส้นทางหลายแห่งไม่ได้ใช้คำว่า “EVEREST” แต่ใช้คำนี้ ส่วนความหมายของ “SAGARMATHA” ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ เพราะ “sagar” แปลว่า ทะเล (sea) ส่วน “matha” แปลว่า หน้าผาก (forehead) ยากจะคาดเดาได้ว่าทำไมบรรพบุรุษเนปาลีถึงใช้คำว่า ทะเล เรียกยอดเขาหนุ่มที่สูงสุดในโลกแห่งนี้

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 


          เมื่อได้กรุ๊ปเพื่อนร่วมทางและ “ไกด์ผู้เชี่ยวชาญ” สาเหตุที่ต้องเรียกว่าไกด์ผู้เชี่ยวชาญเพราะ “บีไนฟ์” ไกด์หน้าเข้มของเราขึ้นไปถึง “อีบีซี” ไม่ต่ำกว่าร้อยครั้งแล้ว จนรู้จักทางลาด ทางชัน โขดหิน ซอกภูเขา ฯลฯ เป็นอย่างดี เพราะตลอดเส้นทางเดินเกือบ 2 อาทิตย์นั้น เขาต้องวางแผนปรับเปลี่ยนที่พักและระยะทางตามแรงกาย แรงขา และแรงใจของพวกเราตลอดเวลา หากกรุ๊ปไหนได้ไกด์ผู้ไม่ค่อยเชี่ยวชาญ โอกาสล้มเหลวไปไม่ถึง “อีบีซี” ค่อนข้างสูงมาก หรือแม้แต่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตก็เป็นได้

 


          ขั้นตอนการวางแผน-เตรียมอุปกรณ์ล่วงหน้า 6เดือน!
          “ตัดสินใจว่าไปแน่นอน” ก็อย่าลังเลรีบจองตั๋วเครื่องบินได้เลย เพราะการผจญภัยเส้นทาง “อีบีซี” ไปได้แค่ 2 ช่วงเท่านั้น คือ ก่อนมรสุม ช่วงปลายเดือนเมษายน–พฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ “15 องศา” ถึง “-5 องศา” และหลังมรสุม ปลายกันยายน–ตุลาคม อุณหภูมิประมาณ “8 องศา” ถึง “-8 องศา” สำหรับคนไทยหรือนักท่องเที่ยวทั่วไปมักไปช่วงแรกมากกว่า อากาศดีเมฆหมอกน้อย ตั๋วเครื่องบินจึงค่อนข้างเต็มตลอด


          ขอให้โปรดจำและท่องประโยคนี้ให้ขึ้นใจเลยว่า ไม่มีอะไรแน่นอนบนภูเขาสูงเสียดฟ้า

          การจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ไกด์ทัวร์ ลูกหาบ ไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรากำลังจะไป เอเวอเรสต์เบสแคมป์ ไม่ได้ไปทัวร์เกาหลี ญี่ปุ่น จองล่วงหน้าไม่กี่วันก็ได้ แบบสบายๆ

 

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 


          ไฟลต์บินตรงจากไทยไป สนามบินตริภูวัน “Tribhuvan International Airport” กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล มี 2 สายการบิน คือ ไลออนแอร์ และการบินไทย ให้เลือก ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง หลังจองเสร็จให้รีบส่งรายละเอียดให้ไกด์ทัวร์ เพื่อนำไปจองตั๋วเครื่องบินเล็กของเนปาล บินจากกรุงกาฐมาณฑุต่อไปยังสนามบิน Tenzing Hillary ของเมือง Lukla ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าอย่างแท้จริง แต่การจองตั๋วเครื่องบินไปเมือง Lukla ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องลุ้นระทึกน่าดู


          หัวหน้ากรุ๊ปเล่าว่า การไป Lukla ต้องอาศัย “โชคบวกดวง” พอสมควร หมายความว่า 1.ต้องมี “ดวงเดินทาง” ในวันนั้น เวลานั้น เพราะไฟลต์บินส่วนใหญ่โดนดีเลย์จากภูมิอากาศไม่เหมาะสม เช่น ฝนตก พายุเข้า ฟ้ามัว ฯลฯ แค่ภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยเพียงเล็กน้อย สายการบินจะไม่ยอมเสี่ยงขึ้นบินอย่างแน่นอน หลายคนมีประสบการณ์อากาศไม่อำนวยต้องนอนรอในกรุงกาฐมาณฑุ 1–2 คืน และ 2.ต้องมี “โชคดี” ลุ้นให้ได้กัปตันนักบินที่เก่งกาจระดับมือพระกาฬ เนื่องจากสนามบินแห่ง Lukla ขึ้นชื่อเป็นสนามบินอันตรายอันดับ 1 ของโลก (เคล็ดลับเพิ่มเติม: อย่าไปค้นข้อมูลอ่านข่าวสนามบินนี้ในกูเกิลมาก เพราะอ่านไปก็ทำให้ใจเสียเปล่าๆ) ตัวอย่างเช่นกรณีกรุ๊ปเรา แม้จองตั๋วทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว แต่วินาทีสุดท้ายต้องเพิ่มเงินเปลี่ยนไฟลต์ไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์แทนอย่างกะทันหัน


          ต่อจากซื้อตั๋วคือ รายการสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับ เทรคกิ้ง (Trekking) แม้กระทั่งคนมีประสบการณ์เทรคกิ้งบ่อยๆ และมีอุปกรณ์มากมายแต่การไป อีบีซี รับรองได้ว่าต้องมีอุปกรณ์จำเป็นพิเศษหาซื้อเพิ่มเติมอย่างแน่นอน เช่น ถุงนอนขนาดอุณหภูมิติดลบ

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 

 


          ก่อนไปช็อปปิ้งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ขออธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจความแตกต่างของกิจกรรมเดินป่าที่แบ่งเป็น 3 แบบด้วยกันเพื่อให้คุยกันคนขายหรือพนักงานร้านเข้าใจมากขึ้น นั่นคือ ไฮกิ้ง (Hiking) หรือ เทรคกิ้ง (Trekking) และ เมาเทนเนียริ่ง (Mountaineering)


          “ไฮกิ้ง” หมายถึงการเดินป่าแบบสบายๆ ไม่สมบุกสมบันมากนัก เช่น เดินดูนกแปลกๆ ผีเสื้อหลากสี ต้นไม้ดอกไม้สวยๆ ในสวนป่า น้ำตกหรืออุทยานแห่งชาติทั่วไป เป็นการเดินป่าแบบ 3–8 ชั่วโมง มีเพียงกระเป๋าเป้ขนาดปานกลางใส่น้ำ อาหาร ขนม ไม่นอนค้างคืน ส่วนใหญ่เดินวนกลับไปยังจุดเริ่มต้น และที่สำคัญคือเส้นทางการเดินป่ามีสัญลักษณ์หรือป้ายบอกชื่อสถานที่ชัดเจน ไม่ต้องพกอุปกรณ์จีพีเอสหรือเข็มทิศแบบมืออาชีพ


          เทรคกิ้ง เป็นการเดินป่าหรือเดินไต่ขึ้นภูเขาแบบหลายสิบกิโลเมตร ที่สำคัญคือการเตรียมอุปกรณ์ค้างคืนไปด้วย แล้วแต่ระยะเวลาว่ากี่คืน บางครั้งกางเต็นท์นอนและทำอาหารเอง หรือบางเส้นทางอาจมีที่พักอาหารบริการไว้ให้ อุปกรณ์เริ่มมากขึ้น จากกระเป๋าเป้ใบเล็กกลายเป็นแบ็กแพ็กใบโต หากเส้นทางลึกลับท้าทายมากหน่อย บางครั้งต้องมีไกด์นำทางไปด้วย


          เมาเทนเนียริ่ง คือการ “ปีนเขา” ไม่ใช่แค่เดินไต่ขึ้นภูเขาแบบทั่วไป คนที่ไปทริปนี้ต้องมีทักษะความสามารถในการใช้อุปกรณ์ปีนก้อนหิน ไต่ผา โรยเชือก ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการปีนภูเขาน้ำแข็ง

 

 

 

"6 เดือน"เตรียมพร้อมสู่"เอเวอเรสต์เบสแคมป์"

 


          สำหรับการไปเบสแคมป์นั้น ถือเป็น เทรคกิ้ง ระดับสุดยอดความทรหด เพราะใช้เวลาเดินไต่ขึ้นลงภูเขาที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 5 พันกว่าเมตร รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 12–15 คืน อาหารการกินลำบาก แต่เส้นทางยังไม่ถึงขนาดเป็น เมาเทนเนียริ่ง ที่ต้องปีนป่ายใช้ขวานจิกภูเขาน้ำแข็งโรยตัวขึ้นเชือกไต่ ถ้าเป็นขนาดนั้นก็ต้องเป็นกลุ่มที่ตั้งใจไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์ หรือที่เรียกกันว่า ซัมมิตยอดเอเวอเรสต์ (Mount Everest Summit)


          หลังจากคอนเฟิร์มตั๋วเครื่องบินทุกคนเรียบร้อย หัวหน้ากรุ๊ปมีคำสั่งให้เตรียมฟิตร่างกายและเตรียมจัดหาอุปกรณ์สำคัญ 4 อย่างไว้ก่อนเลย คือ 1.รองเท้า 2.แว่นกันแดด 3.ถุงมือ ถุงเท้า และ 4.ถุงนอน ฟังเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงหาซื้อยากพอสมควร โดยเฉพาะรองเท้าเทรคกิ้งต้องเลือกแบบหุ้มข้อและมีพื้นเป็นช่องลึกกันลื่น กันกระแทก กันน้ำ


          การหาซื้อรองเท้าเทรคกิ้งไป “อีบีซี” ต้องใช้ความละเอียด อย่าเลือกเพราะราคาหรือยี่ห้อเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการซื้อผ่านออนไลน์ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ต้องลองสวมใส่เดินไปๆ มาๆ ยกเท้า กระแทกเท้า เอาให้เหมาะจริงๆ บางคนไม่ชอบหุ้มข้อสูงมาก บางคนชอบหัวหนาป้องกันกระแทก ฯลฯ ค่อยๆ เลือกอย่าใจร้อน เพราะตามโปรแกรมต้องเดินและปีนขึ้นๆ ลงๆ ก้อนหินที่เป็นขั้นๆ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 6-8 ชั่วโมง เมื่อไม่ได้เดินบนถนนฟุตบาทธรรมดา พื้นรองเท้าต้องดอกลึกและยางคุณภาพดีเหนียวแต่แน่น


          “เลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้า ไม่ใช่เลือกที่ราคาแพง ถ้าเป็นรองเท้าซื้อใหม่ ต้องใส่เดินอย่างน้อย 3–4 เดือนก่อนวันเดินทาง ควรซื้อให้ใหญ่กว่าเบอร์เท้า 1-2 เบอร์เผื่อใส่ถุงเท้า 2 ชั้น และเพื่อให้เท้ากับรองเท้าเข้ากันได้ดี ให้ใส่ซ้อมเดินอย่างน้อยอาทิตย์ละหลายๆ ชั่วโมงจนไม่โดนรองเท้ากัดหรือถลอกบาดผิวเท้า”


          คำสั่งออกมาค่อนข้างชัดเจน แต่คนไม่เคยเทรคกิ้งและไม่รู้ว่าจะไปซ้อมใส่รองเท้าเดินแถวไหน ก็ขอให้ใส่ขึ้นบันไดเดินขึ้นเดินลงในตึกที่ทำงาน เปลี่ยนจากขึ้นลิฟต์ 20 ชั้น เป็นขึ้นบันไดแทน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ใส่ไปเดินจตุจักร ห้างสรรพสินค้า มาบุญครอง สยาม ที่ไหนก็ได้ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเดินต่อเนื่อง 2–3 ชั่วโมง (เคล็ดลับเพิ่มเติม : ใส่รองเท้าไปซ้อมเดินห้างอีเกีย เดินดูเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านเพลินดี เดินอ้อมไปๆ มาๆ 2 ชั้นก็ 3 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้รองเท้าใหม่กับเท้ารู้จักคุ้นเคยเข้ากันได้มากขึ้น)


          "แว่นกันแดด" ต้องเป็นเลนส์ป้องกันแสงยูวี อันนี้ง่ายสุด ควรเอาไปหลายอัน เผื่อหายแตกหักระหว่างทาง สำหรับ “ถุงมือ” ควรมี 3 คู่อย่างน้อย คือ ถุงมือทั่วไปใช้ถือไม้ walking stick กลางวัน ถุงมือใส่กลางคืนถ้าอยากออกมาเดินชมวิว และถุงมือสำหรับครอบกันฝนและลมหนาว


          “ถุงเท้า” เป็นอุปกรณ์ที่หัวหน้ากรุ๊ปให้ความสำคัญมาก แต่เอาไปหลายคู่ไม่ได้ เพราะถูกจำกัดเรื่องน้ำหนักของเครื่องบินเล็กที่จะไป Lukla ส่วนใหญ่ได้ไม่เกินคนละ 12 กิโลกรัมเท่านั้น ควรเอาไปไม่เกิน 5 คู่ และเป็นแบบหนา ควรมีส่วนผสมของขนแกะ Merino wool ซึ่งราคาแพงกว่าถุงเท้าทั่วไปประมาณ 1 เท่า (เคล็ดลับ : ควรเลือกซื้อแบบมีตัวอักษรกำกับด้านข้างถุงเท้าด้วยว่าเป็น “ข้างซ้ายL” หรือ “ข้างขวาR” เพราะเวลาใส่ถุงเท้าซ้ำกันหลายวัน ใส่ข้างเดิมจะรู้สึกลื่นไหลมากกว่า เนื่องจากถุงเท้าเข้ากับรูปทรงเท้าเรียบร้อยแล้ว)


          “ถุงนอน” ต้องเป็นระดับเกรดเอ ใช้รองรับอุณหภูมิ “-5 ถึง -10 องศา” ไม่ค่อยมีขายตามร้านขายของเดินป่าทั่วไป ต้องสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต ขอให้ลงทุนซื้อยี่ห้อดีๆ ราคาหลักหมื่นบาท ยิ่งเบายิ่งดี และต้องเลือกที่มีส่วนผสม “ขนห่าน” (Down Sleeping Bags) โปรดอย่าคิดว่าจองห้องพักแล้วไม่ต้องห่วงความหนาว เพราะในห้องพักจะให้แค่ผ้าห่มบางๆ กับหมอน 1 ใบ อุณหภูมิในห้องต่ำกว่า 10 องศาจนถึงติดลบแทบทุกคืน ต้องนอนในถุงนอนแล้วเอาผ้าห่มคลุมอีกที หลายคนซื้อถุงนอนแบบประหยัดหรือยืมเพื่อนมาแบบไม่อบอุ่นพอ เดินขึ้นเขาไปได้แค่ 2–3 คืน กลางคืนนอนสั่นจนร่างกายทนไม่ไหว กลายเป็นไข้ไม่สบาย อดขึ้นไปถึงจุดหมาย


          ส่วนเสื้อหนาว กางเกง หมวก เสื้อกันฝน และอุปกรณ์อื่นๆ สามารถเลือกซื้อได้ตามความพอใจ แต่ควรเตรียมไป 3 ระดับ คือ ระดับทั่วไป ระดับหนาว และระดับหนาวมาก สามารถเช็กรายละเอียดอุปกรณ์ที่ต้องเอาไปได้ในเว็บไซต์ เช่น www.everestbasecamptrektours.com


           “อย่าลืมว่าตอนเดินนั้น เราจะมีเหงื่อออกตลอด จนรู้สึกร้อน แต่ตอนหยุดพักเดินจะหนาวขึ้นมาทันที ควรพกเสื้อหนาวสำรอง เสื้อกันฝน ถุงมือ แว่นสำรอง ไฟฉาย อุปกรณ์ยังชีพ ติดเป้ประจำตัวไว้ตลอดเวลา ส่วนอย่างอื่นให้ลูกหาบช่วยขนได้” หัวหน้ากรุ๊ปสั่งทิ้งท้ายช่วง 1 เดือนก่อนเดินทาง


          สำหรับคนที่หาซื้ออุปกรณ์ไม่ครบหรือไม่ได้ดังใจก็ต้องไม่แปลกใจ เพราะร้านในเมืองไทยแค่บอกคนขายว่าไป “อีบีซี” เขาก็ส่ายหน้าแล้วว่าให้ไปหาซื้อในเน็ต ใครที่ของไม่ครบขอแค่เผื่อเวลาไปช็อปปิ้งแถวถนน Thamel ในกรุงกาฐมาณฑุ อย่างน้อย 1 วัน ที่นั่นมีขายทุกอย่าง ราคาถูกกว่าเมืองไทย แถมมีคนช่วยแนะนำด้วยว่า การปีนเขาแต่ละวัน ควรสวมใส่อะไรและมีอุปกรณ์จำเป็นอะไรบ้าง


          แทบไม่น่าเชื่อว่า การใช้เวลาช็อปปิ้งล่วงหน้าเลือกซื้อทุกอย่างแบบพิถีพิถัน 4-5 เดือน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ครบ เพราะฉะนั้นเตรียมเงินเยอะๆ ไปจ่ายให้พ่อค้าถนน Thamel ถือเป็นการกระจายรายได้ ตอนนี้หลายคนเริ่มมีคำถามในใจว่า ซึ่งเป็นคำถามที่เจอบ่อยสุดคือ


          อยากไปเอเวอเรสต์เบสแคมป์ต้องเตรียม “เงิน” ไว้เท่าไร ?
          โปรดติดตามคำตอบได้ในตอน 2

 


          ฟิตร่างกายพร้อมสู้ “อีบีซี”
          การฝึกกล้ามเนื้อขา เพื่อฟิตร่างกายให้เดินไต่เขาได้โดยไม่ปวดตัวจนไข้ขึ้น นอกจากการซ้อมเดินขึ้นบันไดทุกวันแล้ว หากใครเป็นสมาชิกคลับฟิตเนส ควรเล่นเครื่อง “อีลิปติคอล” (Elliptical) หรือที่เรียกว่า “เครื่องตั๊กแตน” อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที อาทิตย์ละ 2-3 วัน หรือวิ่งจ๊อกกิ้งแถวบ้านช่วงเช้าหรือเย็น อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนออกเดินทาง
 

 

....................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง”..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์
“สต็อปสโตน”... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !ตอน 3

 

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ