คอลัมนิสต์

"สต็อปสโตน"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          เส้นทางค้นหา...ยอดเขาขี้อาย “Everest” เทคนิคและเคล็ดลับสำหรับผู้ไม่เคยเดินเขาเดินป่า...แต่อยากทำตามความฝันพิชิต “EBC” เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 

 

          หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเสียเงินเป็นแสน เพื่อไปทรมานร่างกาย แค่หวังได้เห็นดูยอดเขาสูงที่สุดในโลก ?

 

 

          อยากตอบคำถามนี้ด้วยประโยคที่ว่า “Life Begin at the end of your Comfort Zone” รสชาติของชีวิตที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเรายอมออกจากความสะดวกสบายที่ซ้ำซากจำเจ โดยเฉพาะผู้มีความฝันอยากเห็นความงดงามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ความลำบากเป็นต้นทุนต้องจ่าย ใครไม่อยากลำบาก ก็ทำได้แค่เปิดรูปสวยๆ ของ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ผ่านทางโลกออนไลน์

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !


          ระหว่างการเดินทางผ่านแนวเทือกเขาหิมาลัย เพื่อไปให้ถึง “อีบีซี” หรือ “เอเวอเรสต์เบสแคมป์” Everest Base Camp ในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง... เหมือนได้เติมเต็มพลังให้ชีวิตด้วยความมหัศจรรย์ของธรรมชาติแวดล้อมบนเทือกเขาสูง ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจทำให้ลืมความอ่อนล้าของน่องขาทั้ง 2 ข้าง เหงื่อที่ไหลซึมอยู่ในเสื้อกันหนาว เหมือนจะแห้งเหือดไปทันทีหลังจากได้หยุดพัก ยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพเหล่านี้ด้วยตัวเอง


          ความสนุกตื่นเต้นลุ้นระทึกระหว่างทางเดินขึ้นเขา 9 วัน และเดินลงอีก 3 วัน เริ่มจากจุดนี้ !    Kathmandu -Lukla (ความสูง 2,800 ม.)


          กรุ๊ปของเราโชคดีได้นั่งเฮลิคอปเตอร์จาก “กาฐมาณฑุ” ไปยังสนามบินเมืองลุคลา (Lukla airport) ใช้เวลานั่งลุ้นชมวิวไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงสนามบินที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดในโลก เพราะสร้างรันเวย์ให้นักบินลงจอดสั้นแค่ 527 เมตรเท่านั้น นอกจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว ก็มีแค่เครื่องบินเล็กนั่งได้สิบกว่าคนเท่านั้นที่ลงจอดสนามบินนี้ได้ กัปตันหรือนักบินต้องมีใบอนุญาตพิเศษ เพราะอากาศบนนี้ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยเมฆหมอก มีฝนตกและกระแสลมแรงเป็นระยะ ก่อนกรุ๊ปเราเดินทางมาไม่กี่วัน มีข่าวเครื่องบินเล็กหลุดไถลออกนอกรันเวย์ไปชนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์สองลำ ทำให้นักบินเสียชีวิตทันทีและเจ้าหน้าที่บนลานจอดอีก 2 คน

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

ยอดเขาที่ขวานน้ำแข็งชี้คือ “ยอดเขาเอเวอเรสต์”



          ชื่อทางการของสนามบินนี้คือ เทนซิง-ฮิลลารี (Tenzing-Hillary Airport) ตั้งไว้เป็นเกียรติกับ 2 นักปีนเขาชื่อดัง ที่ร่วมกันพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1953 ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปแค่ 66 ปีเอง ปัจจุบันมีผู้ขึ้นไปพิชิตยอดเขาได้แค่ปีละ 200-300 คนเท่านั้น จากกลุ่มนักปีนเขาที่พยายามขึ้นไปปีละหลายพันคน


          กรุ๊ปของเราหยุดพักปรับร่างกายที่นี่ 2 คืน เมืองลุคลามีกลิ่นอายของเมืองท่องเที่ยวท้องถิ่นขนาดเล็ก เรียบง่าย แต่มีร้านค้าและร้านอาหารน่ารักๆ หลายร้าน อยากให้ทดลองสั่ง “ชานม มาซาล่า” (masala tea) มาลิ้มรส เพราะเป็นหนึ่งในชาท้องถิ่นยอดนิยมของชาวเนปาล รสชาติกลมกล่อมหอมเครื่องเทศหลายอย่างที่ใส่เป็นส่วนผสมในชาดำ เช่น อบเชย กานพลู ขิง ฯลฯ กลิ่นอบเชยหอมแตะจมูกสร้างความชื่นใจ ช่วยลดความตื่นเต้นจากการนั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านเทือกเขาสูงชันได้เป็นอย่างดี

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 


          ห้องพัก หรือ “ทีเฮาส์” ของลุคลามีให้เลือกทั้งแบบ 2 คน 3 คน หรือเป็นกรุ๊ปใหญ่ แต่มีเงื่อนไขต้องกินอาหารในทีเฮาส์เท่านั้น เพราะกำไรส่วนใหญ่อยู่ที่ร้านอาหาร หลังเดินทางไปอีกหลายวันก็เริ่มเข้าใจรู้ว่า “เมนู” ของทีเฮาส์เกือบทุกแห่งในเส้นทางนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก อาหารเช้า เที่ยง เย็น มีทั้งพิซซ่า สปาเกตตี ข้าวผัด ต้มมาม่าเนปาล ผัดหมี่แบบเนปาล และที่ขาดไม่ได้คือ โมโมหรือเกี๊ยวสไตล์เนปาลี หน้าตาเหมือนเกี๊ยวซ่า แต่ก้อนใหญ่แป้งหนากว่า มีทั้งโมโมสอดไส้ไก่สับผสมผัก หรือโมโมไส้ผักล้วน แต่บนภูเขามีแค่ไส้ผักล้วน สั่งทำเป็น โมโมทอด โมโมแกงจืด โมโมลวก ฯลฯ


          ส่วนอาหารประจำท้องถิ่นที่ห้ามพลาดคือ ดาลบัต (Dal Bhat) บัต หมายถึง ข้าว ส่วน ดาล คือ ซุปถั่ว อาหารถูกจัดเป็นชุดวางบนถาดใหญ่ เครื่องเคียงเป็นไก่ผัดเครื่องเทศ ผักโขม กระหล่ำปลีกับดอกกระหล่ำดอง ต้องสั่งเป็นชุดเท่านั้น ความพิเศษอยู่ที่เมื่อสั่ง 1 ชุดแล้วสามารถขอเพิ่มข้าวหรือกับข้าวมาเติมได้เรื่อยๆ จนกว่าจะอิ่ม พวกเราเรียกกันว่า “พลังดาลบัต" เพราะ บีไนต์ ไกด์ของเรา กับ อินดรา ลูกหาบสุดหล่อ สั่งดาลบัต เป็นอาหารเที่ยงและอาหารเย็นแทบทุกมื้อ หลังกินเสร็จสีหน้าจะเปี่ยมไปด้วยความสุขจากพลังแห่งเครื่องเทศ ไม่แตกต่างจากสีหน้าคนไทยหลังได้กินส้มตำปลาร้ารสเผ็ดสะใจ

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 


          หลังจากได้เติมพลังดาลบัต พวกเราเข้านอนตั้งแต่ 3 ทุ่ม มาร์ติน หัวหน้ากรุ๊ปนัดหมายให้ตื่นรับประทานอาหารเช้าแล้วออกไปฝึกซ้อมเทรคกิ้งเดินขึ้นเขาระยะทางไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อทดสอบอุปกรณ์และสอนเทคนิคการเดินขึ้นลงก้อนหินใหญ่ๆ ให้ถูกวิธี ไม่ทำให้ขาพลิกล้มลุกคลุกคลานไปเสียก่อน


          ช่วงเช้าตรู่ตั้งแต่ 6 โมงเป็นต้นไป เสียงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์จะดังสนั่นต่อเนื่อง เพราะนักเดินเขาและนักท่องเที่ยวทยอยขึ้นเครื่องบินไปๆ กลับๆ จนถึงประมาณช่วงก่อนเที่ยง เครื่องบินเริ่มลดลงเพราะฟ้ามีเมฆหมอกปกคลุม พวกเรามาตามเวลานัดหมาย มี “อินดรา” ลูกหาบมาช่วยดูแล


          หลักการสำคัญที่สุดของการเดินขึ้นเขาในเส้นทางนี้คือ การมองหา “ก้อนหินหลัก” มาร์ตินเรียกสั้นๆ ว่า สต็อปสโตน (stop stone) เพื่อวางเท้าเหยียบให้มั่นคงในแต่ละก้าว เพราะถ้าเท้าไปเหยียบก้อนหินผิด อาจทำให้ลื่นไถลหกล้มได้ง่าย เวลาที่เล็งเห็นก้อนหินหลักที่จะวางเท้าลงไปต้องเอาเท้าสัมผัสแตะนิดๆ ดูก่อนว่าก้อนหินที่เราเลือกวางไว้มั่นคงแน่นหนาจริงหรือไม่ ก่อนจะลงน้ำหนักเต็มที่เพื่อก้าวต่อไป


          คนที่ไม่เคยเทรคกิ้งมาก่อนอาจรู้สึกว่าเลือกไม่ถูกว่าจะลงน้ำหนักที่ก้อนหินไหนดี บางก้อนดูใหญ่แต่พอเหยียบแล้วก้อนหินเลื่อนไปมา ก็ต้องรีบชักเท้าออก เปลี่ยนไปเหยียบก้อนอื่นแทน แต่พอเริ่มได้ไปสัก 2 ชั่วโมงก็จะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจลักษณะธรรมชาติของก้อนหินเหล่านี้มากขึ้น เลือกวางเท้าได้แม่นยำขึ้น


          นอกจากการเลือก สต็อปสโตน แล้ว มาร์ตินเน้นย้ำให้พยายามก้าวขาแบบสั้นๆ เวลาที่ก้าวปีนขึ้นไปบนหินที่เรียงเป็นชั้นๆ คล้ายบันไดนั้น อย่าก้าวสูงแล้วเขย่งตัวตาม เพราะจะทำให้ล้มได้ง่ายหรือเส้นเอ็นตึง ควรเลือกมองหาชั้นขนาดไม่สูงมาก ให้ขาเรายกก้าวได้พอดี เวลาเห็นฝรั่งตัวใหญ่ก้าวสูงๆ ขึ้นไปพรวดๆ เราก็แอบทำตาม แต่ทำได้ไม่กี่ชั้นรู้สึกเหนื่อยหอบเหงื่อตกทันที เพราะฉะนั้นอย่าฝืนร่างกายตัวเองดีกว่า ออมแรงไว้ เส้นทางไปสู่ความฝันอีกยาวนานนัก

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 


          ระหว่างซ้อมเดิน มีอาการเซไปเซมา ลื่นไถลเกือบตกบันไดหินหลายครั้ง ช่วงขาเดินกลับฝนตกเทลงมา เหมือนจะทดสอบให้พวกเราฝึกใช้เสื้อคลุมกันฝน ซึ่งมองดูเหมือนง่ายๆ ไม่ซับซ้อนมาก แต่พอใส่จริงๆ พบว่าเสื้อกันฝนมีขนาดใหญ่และยาวเกะกะเมื่อสวมคลุมเสื้อผ้าแล้วทำให้มองไม่เห็นรองเท้าเวลาก้าวเดิน ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เกือบเดินสะดุดเสื้อคลุมฝนตัวเองหลายครั้งกว่าจะคุ้นเคย (เคล็ดลับ : พยายามฝึกจังหวะก้าวเดินให้สอดคล้องกับจังหวะสะบัดเสื้อคลุมกันฝน เพื่อเปิดทางให้เห็นรองเท้าสะดวกมากขึ้น) ในที่สุดพวกเราก็กลับมาถึงที่พักโดยสวัสดิภาพใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง


          หมดแรงจนต้องฉลองด้วยหมูอบแห้งที่พกมาจากเมืองไทย กินกับข้าวสวยร้อนๆ และผัดผักโขมแบบเนปาลี ราดน้ำแกงกะหรี่รสชาติกลมกล่อม บางคนเลือกสั่งมาม่าเนปาลต้มใส่ผักร้อนๆ ช่วยคลายความหนาวได้อย่างดี


          วันที่ 3 Lukla - Phakding (ความสูง 2,600 ม.)
          วันนี้คือก้าวแรกของการเริ่มต้นเทรคกิ้งอย่างจริงจังของเส้นทาง “อีบีซี” เอเวอเรสต์ เบส แคมป์ ! แม้วันแรกมีระยะทางแค่ 8 กม. แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 4–6 ชม. เพราะร่างกายยังไม่เคยชินกับบันไดหินธรรมชาติและเส้นทางคดเคี้ยว มีบันไดหินขึ้นเขาเป็นระยะแต่ไม่สูงชันมากนัก แต่ก็เหนื่อยหอบเหมือนกัน เส้นทางเดินวันแรกผ่านหมู่บ้านเล็กๆ หลายแห่ง มีวัดและก้อนหินใหญ่ที่แกะสลักตัวอักษรงดงามหลากสีสัน ก้อนหินเหล่านี้นักบวชหรือชาวบ้านท้องถิ่นจะวาดเป็นบทสวดมนต์หรือตัวอักษรที่แสดงถึงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในธรรมชาติบริเวณนั้น

 

 

 

\"สต็อปสโตน\"... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 


          เดินเพลินๆ พร้อมแวะร้านชา ร้านอาหาร ชาวบ้านเอาโต๊ะเก้าอี้มาตั้งล้อมวงแบบง่ายๆ เพื่อให้นั่งชมบรรยากาศยอดเขาวิวป่าไม้ธรรมชาติ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่น่าเชื่อว่าเดินมาแล้ว 6 ชั่วโมง พวกเราถึงที่พักประมาณบ่ายสาม อากาศแจ่มใส ฝรั่งส่วนใหญ่ออกมานั่งตากแดดหน้าห้องพัก ส่งเสียงคุยกันอย่างมีความสุข ก่อนเริ่มดินเนอร์ในทีเฮาส์ และเข้านอนประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อเก็บแรงสำหรับวันพรุ่งนี้


          ซึ่งเป็นวันทดสอบความอึดของกล้ามเนื้อขาให้สู้กับระยะทางเดินเขาไต่ระดับสูงขึ้นไปอีก 600 กว่าเมตร ให้ถึงเมืองนัมเช...ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางทรหดพอสมควร

 

....................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

6 ทักษะจำเป็นสำหรับงานอนาคตผู้นำ-คนทำงานตอบโจทย์ดิจิทัล

 “ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง”..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ