ข่าว

ยะลาดับรายที่ 2 คุณตาวัย 79 ไปร่วมงานแต่งที่มาเลย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป่วยเพิ่ม 127 ราย สะสม 1,651 พบ กทม.ยังสูงสุด เชื้อลาม 61 จังหวัด ด้านสุวรรณภูมิพบคนไทยกลับจากอินโดฯติดไวรัส 19 ราย

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ยะลา ว่าเจ้าหน้าที่ รพ.ยะลา ได้รายงานมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นคุณตาอายุ 79 ปี ชาว อ.ยะหา โดยติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่ รพ.ยะลา เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) ก่อนเสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ของ จ.ยะลา สำหรับผู้เสียชีวิตรายล่าสุดมีโรคประจำตัวเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง อีกทั้งมีประวัติการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม และเริ่มป่วยวันที่ 20 มีนาคม โดยในวันที่ 23 มีนาคม เข้ารับการรักษาที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา แต่อาการไม่ดีขึ้น จนวันที่ 27 มีนาคม ระหว่างรับการรักษามีไข้สูงถึง 39.1 องศา มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีปอดอักเสบ จึงส่งต่อมาที่ รพ.ยะลา จนอาการทรุดหนักและเสียชีวิตวันนี้ (31 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.15 น. นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของจังหวัด และถือเป็นผู้เสียชีวิตอันดับที่ 11 ของประเทศ นอกจากนี้ยังพบผู้สัมผัสภายในบ้าน 2 ราย ภรรยาและหลาน ผลการตรวจยังไม่มีอาการโดยให้กักตัวเอง 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสในชุมชนที่เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยก่อนติดเชื้อมีจำนวน 5 คน ทุกคนสังเกตอาการที่บ้าน 14 วัน 

ส่วนผู้เสียชีวิตรายแรกของยะลา เป็นชายอายุ 54 ปี อาชีพค้าขาย อาศัยอยู่ใน อ.เมือง จ.ยะลา มีประวัติเดินทางไปมาเลเซียเพื่อส่งบุตรสาวที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 127 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้าหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้าจำนวน 62 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 4 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 11 ราย กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้า 47 ราย 2.ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 49 ราย ได้แก่ เดินทางกลับจากต่างประเทศ เป็นคนไทย 17 ชาย คนต่างชาติ 6 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง สถานที่แออัด หรือใกล้ชิดต่างชาติ 9 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย ซึ่งตรวจสอบแล้วเป็นการติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยและกลุ่มไปที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ 6 ราย กลุ่มอื่น 8 ราย และ 3.กลุ่มผลแล็บติดเชื้อแต่รอสอบสวนโรคจำนวน 16 ราย

ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 48 ปี เป็นนักดนตรี ทำงานที่ กทม. โดยมีประวัติส่วนตัวเป็นเบาหวานและมะเร็ง โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม มีอาการไอ ไข้ กลับจาก กทม.ไปต่างจังหวัด โดยมีอาการหอบมากขึ้น จึงไปที่โรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดพบอาการปอดอักเสบ อาการรุนแรงขึ้น จนระบบหายใจล้มเหลว ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อเวลา 05.00 น.เศษ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ส่งผลให้วันนี้มีผู้ป่วยสะสม 1,651 ราย เสียชีวิตรวม 10 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 127 ราย พบใน 20 จังหวัด ได้แก่ กทม. 74 ราย นนทบุรี ภูเก็ต ยะลา จังหวัดละ 6 ราย นครปฐม 3 ราย ปทุมธานี สมุทรสาคร ศรีสะเกษ อุตรดิตถ์ จังหวัดละ 2 ราย ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สระแก้ว พิษณุโลก หนองบัวลำภู และชุมพร จังหวัดละ 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 13 ราย ส่งผลให้ภาพรวมทั้งประเทศผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,651 ราย กระจายเพิ่มเป็น 61 จังหวัด สูงสุดยังอยู่ที่ กทม.และนนทบุรี 869 ราย ภาคอีสาน 77 ราย ภาคเหนือ 55 ราย ภาคกลาง 172 ราย และภาคใต้ 206 ราย เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่กลุ่มอายุอื่นๆ เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนอายุเฉลี่ยการติดเชื้อลดลงมาเป็น 39 ปี

ทั้งนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 3 วันที่ผ่านมา คือ 143 ราย 136 ราย และ 127 ราย ถามว่าพึงพอใจหรือไม่ ก็กลับไปดูวันที่เราแถลงภาวะฉุกเฉินโดยนายกฯ คือ วันที่ 26 มีนาคม ถือว่ายังไม่ถึง 7 วัน ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยวันนี้ 127 ราย เป็นปรากฏการณ์คนติดเชื้อเมื่อ 5-7 วันก่อนแล้วมาแสดงอาการ แปลว่าหลังวันที่ 26 มีนาคมต้องบวกไปอีก 7 วัน ถ้าเราร่วมมือกันดี ตัวเลขติดเชื้อใหม่ต้องลดลง ส่วนตัวเลขช่วง 3 วันที่ผ่านมาก็พึงพอใจระดับนึงแต่ไม่นิ่งนอนใจต้องติดตามใกล้ชิด

“กทม.และนนทบุรี ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังคงมากอยู่ แม้แนวโน้มจะลดลงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังมีตัวเลขน้อยกว่านี้เยอะ ก็บ่งบอกว่าต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ การออกมาท้องถนนจำนวนมากต้องจำเป็นจริงๆ ที่ต้องออกมาก การเจอกันต้องมีระยะห่างกว่า 2 เมตร เพราะ กทม.และปริมณฑลมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ในทางระบาดวิทยาสามารถเป็นพาหะโรคและรังโรคได้ ส่วนต่างจังหวัดต้องไม่นิ่งนอนใจตัวเลขยังทรงๆ อยู่ แต่กราฟจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ถือว่าเพิ่มขึ้นมาจากวันที่ 29 มีนาคม จำนวนสูงมาก ต้องขอความร่วมมือทุกคน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 215 ราย รวมรักษาหาย 342 ราย ยังอยู่โรงพยาบาล จำนวน 1,299 รายมีผู้ป่วยอาการหนัก 23 ราย ขณะนี้ประเทศไทยมีจังหวัดปลอดผู้ป่วยรวม 19 จังหวัด คือจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 7 วัน จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ยโสธร ลพบุรี สุโขทัย ซึ่งเน้นมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 7-14 วัน ก่อนหน้านี้ และอีก 15 จังหวัดมีทั้งไม่เคยพบผู้ป่วยเลย และมีแต่หายหมดแล้ว ขณะที่มีรายงานว่า โรงพยาบาลจะนะ ได้รักษาผู้ป่วย 6 คนหายหมดแล้ว ทำให้ อ.จะนะ ไม่มีผู้ป่วยแล้ว

ด้าน นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม (สสจ.มหาสารคาม) เปิดเผยว่าผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกของ จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้ป่วยชายอายุ 48 ปี ได้เสียชีวิตแล้ว โดยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้เพียง 5 วัน จากการสอบถามพบทำงานเป็นนักดนตรีที่กรุงเทพฯ ตระเวนเล่นตามแหล่งบันเทิงย่านปิ่นเกล้าและศิริราชก่อนกลับภูมิลำเนาซึ่งมีที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ แต่พี่สาวแนะนำให้มากักตัวอยู่ที่บ้านใน อ.พยัคภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน มะเร็งลำไส้ผ่าตัดแล้วให้เคมีบำบัดครบแล้ว และไวรัสตับอักเสบเคยรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ทั้งนี้คณะแพทย์โรงพยาบาลมหาสารคามได้ทำการรักษาโดยให้ยาต้านไวรัส และให้การรักษาตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (30 มี.ค.) ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรคและเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากภาวะระบบหายใจล้มเหลว เมื่อเวลาประมาณ 05.37 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวัดนาควิชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม ได้ติดป้ายประกาศหยุดรับประกอบพิธีฌาปนกิจศพชั่วคราว ไม่รับศพที่ตายจากโควิด-19 จนกว่าสภาวการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จนทำให้ประชาชนบางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์

ด้านพระครูวิชัยบุญพิศิษฏุ์ เจ้าอาวาสวัดนาควิชัย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด ทางวัดรับศพที่ญาติโยมนำมาเผา แต่ก็ได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้เสียชีวิตเกิดจากโควิด-19 ทางชุมชนไม่เห็นด้วยว่าทำไมต้องรับศพมาเผาที่วัด แต่ทางวัดได้ชี้แจงว่าศพที่มาเผาหรือทำพิธีทางศาสนาซึ่งชุมชนหวั่นศพที่เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ไม่ได้ปิดถาวรคนในชุมชนหากมีการเสียชีวิตก็สามารถนำมาเผาได้ ส่วนสาเหตุที่ปิดอีกประการคือจะปิดเพื่อซ่อมเตาเผาด้วยเนื่องจากชำรุดเพราะสร้างมาตั้งแต่ปี 2548

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมาวัดได้ปลดป้ายงดรับพิธีศพดังกล่าวออกไป และเปิดรับฌาปนกิจศพตามปกติ

 

 

 

 

 

มีรายงานข่าวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แจ้งถึงการคัดกรองผู้โดยสารเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เวลา 00.00-23.59 น. มีจำนวนเที่ยวบินทั้งสิ้น 202 เที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสาร 11,355 คน ทั้งนี้ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ 995 คน ไม่พบผู้โดยสารเข้าเกณฑ์เสี่ยงแต่ได้เก็บตัวอย่างผู้โดยสารคนไทยที่กลับจากการไปประกอบพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซีย จำนวน 27 คนส่งตรวจมีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อจำนวน 19 ราย จึงนำส่งต่อโรงพยาบาล ส่วนอีก 8 รายเดินทางกลับภูมิลำเนาได้แต่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านดูอาการ 14 วัน

สำหรับการคัดกรองผู้โดยสารขาออก 6,302 คน พบเข้าเกณฑ์เสี่ยง 1 คน จึงได้นำส่งต่อโรงพยาบาล ทั้งนี้ในวันที่ 30 มีนาคม มีเที่ยวบินที่มาจากเกาหลีใต้ 1 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 147 คน เป็นคนไทย 144 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ที่มีวีซ่าการเดินทางหมดอายุ 95 คนและตรวจไม่พบผู้โดยสารที่เข้าเกณฑ์เสี่ยง

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ