ข่าว

วิกฤติหน้ากากอนามัย โวยหาซื้อไม่ได้-แพงเว่อร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติหน้ากากอนามัย ชาวบ้านโวยหาซื้อไม่ได้-แพงเว่อร์ รพ.เอกชนเดือดร้อนหนัก จี้รัฐเร่งแก้ พาณิชย์ถกด่วน สั่งโรงงานผลิต 24 ชม.

 

               วิกฤติ “หน้ากากอนามัย” ป้องกัน “โควิด-19” ขาดแคลนหนัก ปชช.โวยหาซื้อไม่ได้-ออนไลน์ขายแพงเวอร์ ด้าน 250 รพ.เอกชน เดือดร้อนหาซื้อไม่ได้ห่วงกระทบควบคุมระบาด ขณะที่ “จุรินทร์” ถกด่วนแก้ปัญหา สั่ง 11 รง.ผลิต 24 ชม.ไม่มีวันหยุด ส่งคาราวานรถ 111 คันออกจำหน่ายทั่วประเทศ ลั่นเอาผิดขายกำไรเกินควร เผยจับกุมโก่งราคาไปแล้ว 51 ราย มท.จ่อขอ 250 ล้านหนุนอปท.ผลิตหน้ากากใช้เอง ด้าน “อนุทิน” ชงครม.ใช้งบ สปสช.3.5 พันล้านสู้ไวรัส 

 

อ่านข่าว สุดช็อก หน้ากากล้านชิ้นโผล่เฟซบุ๊ก ทั้งที่ทั่วประเทศขาดแคลน

อ่านข่าว สาวโพสต์เดือด ซื้อหน้ากากอนามัยมา ไหนคุณภาพ มันบางมาก

 

               จากสถานการณ์ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่เป็นที่ต้องการอย่างสูง โดยประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป และในร้านสะดวกซื้อต่างก็บอกว่าสินค้าหมดและบอกไม่ได้ว่าสินค้าจะมาเมื่อใด

 

               ในขณะที่พบว่ามีขายตามเพจและโลกออนไลน์ต่างๆ แต่ในราคาที่สูงมากจนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าหาซื้อหน้ากากอนามัยค่อนข้างหายากและราคาแพง พร้อมมีการแห่ติดแท็ก #หน้ากากอนามัย จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์นั้น

 

               ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกแถลงการณ์โรงพยาบาลเอกชน 250 แห่งทั่วประเทศขาดแคลนหน้ากากอนามัยเข้าขั้นวิกฤติลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงรมว.สาธารณสุข โดยระบุว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดหาได้เพราะถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมและโรงงานผู้ผลิตต้องจัดส่งให้กรมการค้าภายในเท่านั้นเมื่อติดต่อขอซื้อจากกรมการค้าภายในแต่ได้รับคำตอบว่าให้แจ้งเข้าไปเพื่อเข้าระบบการรอคิวจึงอาจเกิดความเสี่ยงไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ 

 

               ด้าน น.ส.ฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา ยอมรับว่าหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ในพื้นที่อยู่ในภาวะสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยช่วงนี้ค่อนข้างขาดแคลน  อ.หาดใหญ่ และอ.เมืองสงขลา แทบไม่มีจำหน่าย ที่ยังพอมีจำหน่ายบ้างก็เป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้า

 

               และจากการสอบถามร้านจำหน่ายให้ข้อมูลว่าตัวแทนที่จัดส่งสินค้ามาให้ไม่สามารถส่งสินค้าให้ได้และก็ไม่สามารถบอกระยะเวลาได้ว่าสินค้าจะมาถึงเมื่อไหร่ ส่วนที่กรมการค้าภายในจะให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสั่งหน้ากากอนามัยเข้ามาเพื่อจำหน่าย สำหรับร้านที่เพิ่งสั่งเข้าไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ยังรอรับสินค้าอยู่ประมาณ 4 ร้าน ส่วนเจลแอลกอฮอล์แม้จะมีสินค้าขายอยู่บ้างแต่จำนวนก็มีน้อยลงกว่าเดิมเนื่องจากประชาชนตื่นตัวมาก

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมา ว่าผู้บริโภคในพื้นที่ก็ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลได้ และบางสถานที่ อาทิ รพ.สัตว์ ในพื้นที่ก็เริ่มขาดแคลนเช่นกัน โดย สพญ.พรเพ็ญ ไตรบัญญัติกุล สัตวแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลสัตว์ไชยณรงค์ ถนนยมราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตอนนี้ไม่เฉพาะโรงพยาบาลสัตว์ไชยณรงค์แห่งนี้เท่านั้นเริ่มรับผลกระทบเนื่องจากหน้ากากอนามัย เจลทำความสะอาด และแอลกอฮอล์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ พยาบาล จะต้องใช้ทุกวัน

 

               เมื่อขาดตลาดก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่นนำหน้ากากอนามัยเดิมที่ใช้มา 5 วันมาใช้อีก แต่นำทิชชูมารองด้านในซึ่งประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่าของใหม่แต่ก็ต้องปรับตัว อย่างไรก็ตามในส่วนของภาครัฐเชื่อว่าทุกหน่วยงานกำลังทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ จึงอยากฝากไปถึงผู้ค้าที่กำลังกักตุนสินค้าให้ช่วยกระจายสินค้า ส่วนประชาชนไม่อยากให้แตกตื่นแย่งกันหาซื้อสินค้าจนขาดตลาด


สั่งรง.เร่งผลิต24ชม.ไม่มีวันหยุด

 

               ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนซึ่งเกิดจากความตื่นตระหนกของผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสในขณะที่โรงงานในประเทศมีกำลังการผลิตที่จำกัด 1,350,000 ชิ้นต่อวัน ประกอบกับปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเริ่มขาดแคลนและหายาก

 

               กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในได้รับมอบหมายให้จัดระเบียบให้โรงงานผลิตกระจายหน้ากากโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมวันละ 600,000 ชิ้น โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ 350,000 ชิ้น ผ่านโรงพยาบาลโดยตรง 150,000 ชิ้น ผ่านองค์การเภสัชกรรม 200,000 ชิ้น 

 

               และส่งมาที่กรมการค้าภายใน 250,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังสมาคมร้านขายยา การบินไทย ร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ขายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพ็ก แพ็กละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท รวมจำหน่ายแพ็กละ 10 บาท

 

               ในส่วนที่เหลืออีก 750,000 ชิ้นต่อวัน โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการบริหารจัดการตามการค้าปกติ นอกจากนี้ในเรื่องของวัตถุดิบได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์จัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และกระทรวงยังขอให้โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย 24 ชั่วโมง และให้เพิ่มการทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย

 

               ทั้งนี้ในวันนี้ (2 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้เชิญโรงงานผู้ผลิต 11 โรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและกระจายให้ทั่วถึง

 

               นอกจากนี้ยังสั่งการให้จัดรถคาราวานออกจำหน่ายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ รวม 111 คัน โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 21 คัน และในต่างจังหวัด 90 คัน ซึ่งจะหมุนเวียนออกจำหน่ายให้ทั่วถึงแต่ละชุมชน โดยจะจำหน่ายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพ็ก แพ็กละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท รวมจำหน่ายแพ็กละ 10 บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 5 มีนาคมนี้

 

กระจายทุกร้านขอปชช.แบ่งปัน

 

               ส่วนการกระจายหน้ากากอนามัยช่องทางอื่นๆ ที่กรมการค้าภายในได้รับมาวันละ 6 แสนชิ้น ยังคงดำเนินการเหมือนเดิมคือ จำนวน 3.5 แสนชิ้น กระจายไปให้องค์การเภสัชกรรม 2 แสนชิ้น และอีก 1.5 แสนชิ้น ได้ประสานผู้ผลิตให้กระจายโรงพยาบาลโดยตรง คงเหลือ 2.5 แสนชิ้น จะกระจายให้สมาคม ร้านขายยาที่มีสมาชิก 3 พันรายวันละ 2.5 หมื่นชิ้น การบินไทยวันละ 1.8 หมื่นชิ้น

 

               ที่เหลือจะกระจายผ่านร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น มินิบิ๊กซี โลตัสเอ็กซ์เพรส และล่าสุดได้เพิ่มแฟมิลี่มาร์ทเข้ามาอีก โดยจำกัดการซื้อคนละ 1 แพ็ก 4 ชิ้น ราคา 10 บาท ซึ่งกรมอยากจะขอความร่วมมือประชาชนต้องยึดหลัก “เทใจให้กัน แบ่งปันกันใช้” เพราะหากซื้อเยอะเวียนซื้อหรือซื้อไปกักตุนจะทำให้คนข้างหลังไม่ได้ซื้อ

 

               อย่างไรก็ตามในส่วนของกรมฯ ยืนยันว่าหน้ากากอนามัยที่ได้รับจัดสรรมาไม่มีหลุดออกไปจำหน่ายในช่องทางอื่นๆ ยกเว้นตามช่องทางที่กำหนด และในส่วนของโรงงานโดยกำลังผลิตรวมต่อวัน 1.35 ล้านชิ้น แบ่งให้กรมฯ 6 แสนชิ้น เหลือ 7.5 แสนชิ้น ทราบว่ามีการกระจายตามช่องทางการค้าปกติแต่ไม่รู้ว่าโรงงานบริหารจัดการยังไง กระจายไปที่ไหนบ้าง ซึ่งนายจุรินทร์ได้สั่งการให้เชิญโรงงานผู้ผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึงแล้ว ซึ่งต้องรอข้อสรุปว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา

 

เผยจับกุมโก่งราคาแล้ว51ราย

 

               นายวิชัยกล่าวว่า กรมกำลังหาช่องทางเอาผิดตามกฎหมายกับแพลตฟอร์มค้าออนไลน์หลายแห่งที่เคยมาร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ที่เคยรับปากจะช่วยดูแลการจำหน่ายหน้ากากอนามัยบนแพลตฟอร์มไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร แต่ทุกวันนี้ยังมีการเปิดให้คนเข้ามาขายสินค้าแพงเอาเปรียบประชาชน ก็ต้องถือว่ามีความผิดด้วย ส่วนการจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊กได้ตรวจสอบและตามหาตัวผู้กระทำผิดโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าตามตัวได้ยาก แต่ก็จะตามให้ถึงที่สุด และขอความร่วมมือให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1569 โดยต้องมีรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

 

               สำหรับการจับกุมผู้ที่ค้ากำไรเกินควรล่าสุดจับกุมได้แล้ว 51 ราย มีทั้งผู้ค้าทั่วไปและค้าออนไลน์ โดยส่งดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จำนวน 31 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท และผิดมาตรา 28 เรื่องปิดป้ายแสดงราคา 20 ราย มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

 

สำรวจสต็อกแจ้งพณ.เร่งแก้ไข

 

               ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าหลายโรงพยาบาลขาดแคลนหน้ากากอนามัยว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้แจ้งให้โรงพยาบาลในสังกัด รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดทหาร ตำรวจ และโรงพยาบาลเอกชน ให้สำรวจสต็อกว่ามีเพียงพอหรือไม่เพื่อแจ้งมายังส่วนกลางรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอกระทรวงพาณิชย์ แต่เบื้องต้นหากเขตสุขภาพใดที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดให้ช่วยกระจายให้ทั่วถึง

 

               ด้าน นพ.ทวีสิน วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่แจกหน้ากากอนามัยเฉพาะที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น เนื่องจากเป็นการสั่งการเร่งด่วน และตรงกับช่วงวันหยุดทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบดำเนินการ ส่วนจะแจกในพื้นที่อื่นอีกหรือไม่จะต้องรอประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆ อีกครั้ง พร้อมย้ำว่าหน้ากากอนามัยที่นำมาแจกประชาชนได้มาจากการบริจาคและสต็อกขององค์การเภสัชกรรมเป็นคนละส่วนกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสต็อกไว้ให้แล้ว

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกระทรวงสาธาณสุขเแจกหน้ากากอนามัยวันแรกมีประชาชนมาต่อคิวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้นมา โดยที่กรมอนามัย 1 ใน 9 จุดมีประชาชนเข้ามารับจำนวนมาก โดยแต่ละจุดแจกประมาณ 1 หมื่นชิ้น รวมแจกวันนี้ทั้งหมดประมาณ 1 แสนชิ้น และจะแจกวันที่ 3 มีนาคมอีกหนึ่งวัน 

 

               ขณะที่ประชาชนที่มารอรับแจกบอกว่าหน้ากากอนามัยหาซื้อแถวบ้านไม่มีเลยขาดตลาด ถ้ามีของก็ราคาสูงเกือบแผ่นละ 20 บาท จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อประชาชนด้วย

 

อยากให้รณรงค์การใช้หน้ากากผ้า

 

               นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้หันมารณรงค์การใช้หน้ากากแบบผ้าให้มายิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลน และในส่วนของการลดมลพิษการกำจัดหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

 

               ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์หรือไม่กรณีที่มีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาแล้วประชาชนร้องว่าไม่สามารถหาซื้อได้ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าร้องให้ไปทำหน้ากากอนามัยแบบผ้ามาใช้ หากกระแสหน้ากากแบบผ้า เกิดขึ้นมาเมื่อไร 2 สัปดาห์หน้ากากอนามัยจะมีเต็มตลาด เผลอๆ ต้องแจกฟรี ต้องทำให้ความต้องการลดลง เพื่อเป็นการสั่งสอนผู้ที่กักตุนเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วย

 

มท.ขอ250ล้านให้อปท.ผลิตเอง

 

               ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ที่ตึกภักดีบดินทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้หารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยได้กำชับมาตรการการจำหน่ายหน้ากากอนามัยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งห้ามมีการกักตุนสินค้าโดยเด็ดขาด หากพบการกระทำความผิดจะต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

 

               สำหรับหน้ากากอนามัยในพื้นที่ต่างๆ คาดว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 3 มีนาคม อนุมัติงบกลางจำนวน 250 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปผลิตหน้ากากอนามัยในพื้นที่ของตัวเองลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์ยังแจ้งว่าจะขอให้โรงงานผลิตหน้ากากเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

รัฐเตรียมมาตรการลดผลกระทบ

 

               ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 ว่าเป็นการเปิดการประชุมการบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าคนไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้างหลายๆ ด้าน

 

               "ผมจะไม่พูดเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น จะพูดในส่วนของเรื่องสำคัญคือไวรัสโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญขณะนี้ ก็อยากเรียนว่าสิ่งที่พูดว่าผมจะพูดในวันจันทร์ วันอังคารก็เป็นเรื่องนี้ เรื่องโควิด-19 กำลังเตรียมการอยู่ รวมถึงมาตรการรับมือภัยแล้ง และมาตรการลดผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และภัยแล้ง มันก็มาตามลำดับ ยังไม่มีประกาศเรื่องอื่นหรือแถลงการณ์อะไรทั้งสิ้น ขอให้เข้าใจด้วย เอาเรื่องที่เป็นสาระประโยชน์ เป็นประเด็นที่ประชาชนเดือดร้อนดีกว่า” นายกฯ กล่าว

 

               ผู้สื่อข่าวรายรายงานว่าตลอดการสัมภาษณ์นายกฯ มีสีหน้าเคร่งเครียดและไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ