
สตรีทฟู้ดไทยปลอดภัย ผ่านเกณฑ์เกินครึ่ง
กทม. แจงแนวทางพัฒนาคุณภาพร้านอาหารริมทาง ร่วม 50 สำนักงานตรวจสอบสม่ำเสมอ
สำนักอนามัย กทม. แจงร่วม 50 สำนักงานเขต ตรวจสอบคุณภาพอาหารและการรักษาความสะอาดของร้านอาหารโดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย อย่างสม่ำเสมอ พร้อมแนะผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะ
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีผู้บริโภคเรียกร้องให้สตรีทฟู้ด (Street Food) หรืออาหารริมทาง มีมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ว่า
สำนักอนามัย ได้วางแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอาหารและการรักษาความสะอาดของร้านอาหารโดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย โดยร่วมกับ 50 สำนักงานเขต ตรวจสอบแนะนำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะอย่างสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกัน ในด้านคุณภาพอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน ได้แก่ บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน สารฟอกขาว สารกันรา สีสังเคราะห์ กรดแร่อิสระ (น้ำส้มสายชูปลอม) ยาฆ่าแมลง ไอโอเดท สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย
ซึ่งที่ผ่านมา ได้สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนไปแล้ว จำนวน 7,676 รายการ ผ่าน 7,600 รายการ ตรวจหาเชื้อก่อโรคระบบทางเดินอาหารในอาหารพร้อมบริโภค จำนวน 304 รายการ ผ่าน 242 รายการ
เมื่อพบการปนเปื้อน เจ้าพนักงานได้ออกคำแนะนำหรือออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการอาหารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับด้านผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร ได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. ทุกราย พร้อมทั้งมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. โดยป้ายรับรองเป็นแบบ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน
นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์เกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. รวมทั้งความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย โดยจัดทำสื่อต่างๆ ได้แก่ อินโฟกราฟิก วิดีโอคลิป เฟซบุ๊ก ยูทูป และเอกสารคู่มือ เผยแพร่ผ่านช่องทางของ 50 สำนักงานเขต
รวมถึงเว็บไซต์ของกองสุขาภิบาลอาหารและเฟซบุ๊กของสำนักอนามัย และแอปพลิเคชัน กทม. Connect เป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 1 - 2 เรื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ซีเอ็นเอ็น...จัดกรุงเทพเมืองแห่งความสนุกอันดับหนึ่งของโลก
-"อัศวิน"ตรวจสตรีทฟู้ดนำร่อง 3 จุด
-กรุงเทพติดอันดับ 10 สุดยอดเมืองอาหารอร่อย