ข่าว

แพทย์รามาฯ หลักสูตรใหม่ที่แรก 7 ปี 2 ปริญญา พ.บ. - วศ. ม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (พ.บ. - วศ. ม.) 7 ปี จบได้ 2 ปริญญา

 

              ในปัจจุบันงานวิจัยและวิทยาการต่างๆ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาททางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการคัดกรองผู้ป่วย การวินิจฉัยและติดตาม และการรักษาโรค ตัวอย่างเช่น การสร้างภาพทางการแพทย์ (CT-scan, MRI, PET), หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, อุปกรณ์แขน-ขาเทียม เป็นต้น ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททางการแพทย์ ทำให้วิธีการทำงาน กระบวนการทำงานของแพทย์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การทำงานร่วมกับและการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว นอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ที่ดีแล้ว ยังต้องมีความรู้และความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

 

 

 

              คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวคิดสร้างหลักสูตรร่วมกันระหว่างแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ภายใต้โครงการร่วม 2 หลักสูตร พ.บ. - วศ. ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) เพื่อที่จะสร้างแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์กับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและให้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยปลูกฝังความเป็นนักวิจัยและนวัตกรให้แก่นักศึกษาแพทย์ทั้งในด้านของกระบวนการคิด ทักษะ และความสามารถทางการวิจัย

 

รูปแบบการเรียนการสอน

              การจัดการศึกษามีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 7 ปี มีการแบ่งช่วงปีการศึกษาในลักษณะ 3 + 1 + 3 ปี โดยในช่วงการศึกษาปีที่ 1 - 3 จัดให้มีการเรียนการสอนความรู้ด้านปรีคลินิก ในชั้นปีที่ 4 จัดให้มีการเรียนการสอนและการดำเนินงานวิจัยในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา และกลับเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในชั้นปีที่ 5 - 7 โดยจัดให้มีการเรียนการสอนความรู้ทางด้านคลินิก และยังคงดำเนินงานวิจัยของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หรือต่อยอดงานวิจัยในชั้นคลินิกอย่างต่อเนื่อง เมื่อจบการศึกษาตลอดโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 6 ปี และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต 1 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรทั้งสอง จะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต

 

แนวทางงานวิจัย

              การเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวการแพทย์ ส่วนใหญ่มีลักษณะแบบ Problem Based Learning (PBL) โดยเน้นการทำ Class Project เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการลงมือจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการทำงานวิจัย เกิดกระบวนการคิดการแก้ปัญหาร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน และสามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ได้อย่างดี

              นอกจากนี้การเข้าศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวการแพทย์ ส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัย นวัตกรรม การตีพิมพ์ผลงาน ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหลักในการจบการศึกษาในหลักสูตร สำหรับแนวทางการทำวิทยานิพนธ์ ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทางการทำวิจัยในด้านต่างๆ ได้แก่

 

Research Facilities

              เครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานวิจัยที่ทันสมัยพร้อมให้บริการแก่นักศึกษาในโครงการร่วม 2 หลักสูตร พ.บ. - วศ.ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) ณ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

              ในปี พ.ศ. 2565 ศูนย์วิจัยทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จะแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการแก่นักศึกษาในหลักสูตร พ.บ. - วศ.ม. ในการทำงานวิจัย

 

 

 

คำถามที่พบบ่อย

1. พ.บ. - วศ. ม. คืออะไร ?

              พ.บ. - วศ.ม. คือนวัตกรรมการศึกษาที่ผสมผสานระหว่าง 2 หลักสูตร เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งเน้นสร้างแพทย์นวัตกร มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต

2. พ.บ. - วศ. ม. เป็นหลักสูตรแพทย์ที่เขียนขึ้นใหม่หรือไม่ ?

              พ.บ. - วศ.ม. เป็นโครงการร่วม 2 หลักสูตร พบ.-วศ.ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีอยู่แล้ว และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมชีวการแพทย์ ที่มีอยู่แล้ว ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผสมผสานการศึกษาระหว่าการแพทย์และวิศวกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อเป้าหมายการสร้างแพทย์นวัตกร

3. พ.บ. - วศ. ม. ต่างกับหลักสูตร พ.บ. ปกติ อย่างไร ?

              นักศึกษาในโครงการ พ.บ. - วศ.ม. จะได้รับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์เช่นเดียวกับหลักสูตร MD. ปกติ นอกจากนั้นนักศึกษาจะได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานทางวิศวกรรม อีกทั้งได้รับประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และมีสังคมร่วมกับเพื่อน นักวิจัย และอาจารย์ ต่างคณะอีกด้วย

 

 

 

4. พ.บ. - วศ. ม. เรียนกี่ปี ?

              ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 7 ปี โดยปีที่ 1 - 3 มีการเรียนการสอนทางด้านพรีคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ ในชั้นปีที่ 4 จะเป็นช่วงของการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมและลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม หลักจากนั้นในปีที่ 5 - 7 จึงกลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พร้อมทั้งทดลองและต่อยอดนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน

5. การสมัครเข้าเรียน พ.บ. - วศ. ม. ทำอย่างไร ?

              รับสมัครโดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio ของ ทปอ. และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple Mini Interview (MMI)

6. จำนวนการรับนักศึกษาต่อปีการศึกษา ?

              การรับนักศึกษาจำนวน 20 คนต่อปีการศึกษา โดยเป็นการรับตรงในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน มีการรับนักศึกษาแยกจากหลักสูตรแพทย์ปกติอย่างชัดเจน

7. เรียนที่ไหนบ้าง ?

              ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

              ชั้นปี่ที่ 2 - 3 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

              ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

              ชั้นปีที่ 5 - 6 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี

              ชั้นปีที่ 7 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสมทบ

 

 

 

8. มีหลักสูตรแบบนี้ที่ไหนบ้าง ?

              มีหลักสูตรในลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้ว ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น

              Duke University -> (https://bme.duke.edu/grad/masters/md-meng)

              TEXAS A&M University -> (https://medicine.tamhsc.edu/enmed/index.html)

              Stanford University -> (http://med.stanford.edu/education/dual-degree-programs.html)

              Case Western Reserve University -> (https://case.edu/medicine/admissions-programs/md-programs/dual-degrees)

              โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่แรก และที่เดียวที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ในประเทศไทย

9. นักศึกษาจำเป็นต้องทำงานวิจัยและตีพิมพ์หรือไม่ ?

              นักศึกษาต้องทำงานวิจัยและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเงื่อนไข ในการสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรมหาบัณฑิต ตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย

10. จบแล้วได้ปริญญาอะไรบ้าง ?

              1) ปริญญาตรี แพทยศาสตร์บัณฑิต (พบ.)

              2) ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วศ.ม. วิศวกรรมชีวการแพทย์)

11. จบไปทำงานอะไรได้บ้าง ?

              แพทย์ที่เป็นได้มากกว่าแพทย์ มองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น

              แพทย์นวัตกร เป็นแพทย์ที่ได้รับการปูพื้นฐานพร้อมที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์

              แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โอกาสที่จะได้รับเลือกให้เรียนต่อเฉพาะทางหรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศมีสูงขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเป็นพื้นฐาน

 

 

 

การรับสมัคร

              1. รับด้วย Portfolio จำนวน 20 คน

              2. คุณสมบัติทั่วไป ม.ปลาย / เด็กซิ่ว / เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนในระบบนานาชาติ ทั้งในและต่างประเทศ

              3. ผลการสอบ (เพียงข้อใด ข้อหนึ่ง)

              3.1 มีผลการศึกษาที่มีคะแนนสะสมเฉลี่ยตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนถึงวันที่สมัคร > 3.50 และมีคะแนนแต่ละรายวิชาเฉลี่ยในชั้นมัธยมปลายทั้ง 3 รายวิชา ได้แก่ (ก) ชีววิทยา (ข) เคมี และ (ค) คณิตศาสตร์ หรือ ฟิสิกส์ โดยแต่ละรายวิชา > 3.5 หรือ

              3.2 มีผลการสอบระดับ A level ทั้ง 3 รายวิชา ได้แก่ (ก) Biology (ข) Chemistry และ (ค) Mathematics หรือ Physics โดยแต่ละวิชา > A หรือ

              3.3 มีผลการสอบ SAT II ทั้ง 3 รายวิชา (ก) Biology: Molecular (ข) Chemistry และ (ค) Mathematics level 2 หรือ Physics โดยแต่ละวิชา > 700 คะแนน หรือ

              3.4 มีผลการสอบ International Baccalaureate (IB) Higher Level ทั้ง 3 รายวิชา ได้แก่ (ก) Biology (ข) Chemistry หรือ Physics โดยมี 2 รายวิชา ที่มีคะแนนแต่ละรายวิชา > 6 ร่วมกับ (ค) Mathematics - Standard level (not included Mathematics Studies) > 6 หรือ Mathematics-Higher level > 5

              4. Portfolio เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาเรียกผู้สมัครมาสัมภาษณ์ ประกอบด้วย 5 ส่วน (พิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)

              (1) Personal statement การสมัคร พ.บ. - วศ.ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) ที่อย่างน้อยควรอธิบายเหตุผลที่สมัครเรียนแพทย์ และ Biomedical Engineering แรงจูงใจในการอยากเรียน จุดมุ่งหมายในชีวิต

              (2) กิจกรรม/ผลงานพร้อมรายละเอียด และหลักฐานของกิจกรรม/ผลงานต่างๆ

              (3) มีอาจารย์ที่รู้จักท่านเป็นอย่างดี จำนวน 2 ท่าน เขียนแนะนำผู้สมัครว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นแพทย์ทาง Biomedical Engineering เพราะอะไร

              (4) มีผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL แบบ IBT (Internet based test) > 80 คะแนน หรือ ผลสอบภาษาอังกฤษ IELTS (Academic modules) > 6.5 ซึ่งสอบมาแล้วไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่คณะฯ ปิดรับสมัคร

              (5) มีผลการสอบ Biomedical Admission Test (BMAT) ของการสอบในปี พ.ศ. 2561 -พ.ศ. 2562 ที่มีผลคะแนนขั้นต่ำรวมทั้ง 3 sessions > 12.0 และ session 3 (Quality of written English) > C  รายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

 

 

 

--------------------

ที่มา : med.mahidol.ac.th

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ศิริราชเปิดโอกาสคนอยากเรียนหมอไม่ต้องจบสายวิทย์ก็เรียนได้

- ว่าที่คุณแม่สูญเสียลูกในครรภ์หมอทำแท้งผิดคน

- ชาวเน็ตแห่ #SavePancake ถูกโยงข่าวเก่าดราม่าข่าวใหม่

- สาธิตพัฒนา แผนกมัธยมฯ ปั้นหลักสูตรเข้มวิชาการ

- เปิดหลักสูตรผู้ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ