ข่าว

ศาลชี้ ‘พล.ท. มนัส’ เอี่ยวแก๊งค้ามนุษย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาล พิเคราะห์หลักฐานอัยการ พบ “พล.ท.มนัส”เอี่ยวแก๊งค้ามนุษย์เงินโอนเข้าบัญชี 2 ปี 14 ล้าน อ้างได้จากเล่นพนันวัวชน-เอกชนสนับสนุนงบผลักดัน‘ โรฮิงญา’ แต่ไร้หลักฐาน

          เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2560 - ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกต่อมาเวลา 13.20 น. องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาต่อจากช่วงเช้าที่ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว

          โดยช่วงบ่าย ศาลได้พิเคราะห์ถึงความผิดของนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ. สตูล จำเลยที่ 29 ซึ่งฝ่ายโจทก์ มีชาวโรฮิงญา ผู้เสียหาย เบิกความว่า ได้ยินคนแวดล้อมของจำเลยที่ 29 เรียกจำเลยว่าเป็น“บิ๊กบอส”ทำให้เป็นจุดสนใจแก่พยานในการจดจำ โดยจำเลยที่ 29 ทำหน้าที่รับแรงงานชาวโรฮิงญา จากทะเลมาขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล ก่อนนำแรงงานทั้งหมดไปพักไว้แคมป์คนงานเพื่อรอเวลาส่งตัวแรงงานทั้งหมดไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แรงงานเสียชีวิต โกโต้งจำเลยที่ 29 จะเป็นคนนำผ้ามาให้ห่อศพแล้วนำไปฝังดิน ขณะที่ยังมีพยานอื่นระบุว่ารับรู้จากสามีว่าหากติดขัดปัญหาในการขนส่งต้องเจรจา“บิ๊กบอส”ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขนส่งแรงงานได้ โดยในชั้นสอบสวนพยานดักล่าวสามารถชี้ยืนยันตัวว่า“บิ๊กบอส”คือจำเลยที่ 29 

        จากการคำเบิกความพยานที่สอดคล้องกันรับฟังได้ว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีจำเลยที่ 29 เกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง ซึ่งรายละเอียดนั้นยากต่อการปั้นแต่ง โดยข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 29 ก็ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 29 ขนชาวโรฮิงญา ผ่าน จ.สตูล ขึ้นเทือกเขาแก้ว ก่อนส่งไปยังประเทศปลายทาง การกระทำของจำเลยที่ 29 จึงเป็นความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี , ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี , ร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกินกว่า 18 ปี , ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ , สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์ , ร่วมกันนำพาชาวต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และ ให้ที่พักพิงชาวต่างด้าว ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของความผิดนั้น

        ขณะที่ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด จำเลยที่ 7 ศาลเห็นว่าพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าโทรศัพท์ติดต่อกับกลุ่มจำเลยหลายคนโดยปรากฏหลักฐานมียอดเงินเข้าบัญชี เดือนละ 3,000 บาทที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ ซึ่งหน้าที่ของจำเลยที่ 7 คือต้องประจำอยู่ที่ด่านตรวจในพื้นที่ที่กลุ่มจำเลยต้องสัญจรผ่าน จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงินค่าผ่านทางในการขนส่งชาวโรฮิงญา จึงมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 แต่ไม่พยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำผิดฐานค้ามนุษย์

        ส่วนนายอาบู ฮะอูรา สมาชิก อบจ. อำเภอควนโดน จ.สตูล จำเลยที่ 14 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าทำหน้าที่รับตัวชาวโรฮิงญา จากที่บ้านวังประจัน จ.สตูล ไปส่งประเทศมาเลเซีย พร้อมระบุการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคนที่การลักลอบค้าแรงงานต่างด้าว โดยเล่าเหตุที่มีการกระทำผิดอย่างละเอียดชัดเจน แม้ว่าในชั้นพิจารณาคดีจำเลยที่ 14 จะให้การปฏิเสธโดยเบิกความกลับไปมาก็เป็นข้ออ้างลอย ๆ ขาดเหตุผลสนับสนุน จึงเชื่อในคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนที่ให้การทันทีหลังการจับกุมไม่นาน ซึ่งไม่มีโอกาสปรุงแต่งเรื่อง จึงน่าเชื่อถือได้มากกว่า อีกทั้งมีพิรุธเงินในบัญชีจำนวน 4.2 ล้านบาทที่จำเลยที่ 14 อ้างว่าได้รับโอนมาจากภรรยาจากการค้าขายอาหารทะเลกับจำเลยที่ 67 แต่จำเลยที่ 67 ประกอบอาชีพเกษตรกรไม่มีเหตุผลที่จะซื้ออาหารทะเลมูลค่ามากตามที่จำเลยที่ 14 อ้างจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 14 มีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ , ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ , สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์ โดยจำเลยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า

       ต่อมาเวลา 15.30 น. ศาลได้พิเคราะห์ ถึงพฤติการณ์ของ นายสุวรรณ หรือโกหนุ่ย แสงทอง จำเลยที่ 17 และ นายปิยวัฒน์ หรือโกหย่ง พงษ์ไทย จำเลยที่ 22ซึ่งโจทก์มีหลักฐานข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสอง วันที่ 1 -25 ม.ค.58 ที่มีการติดต่อกันถึง 48 ครั้ง ในช่วงเวลาแค่ 25 วัน ซึ่งถือว่ามีความถี่มากกว่าเหตุธรรมดาทั่วไป ขณะที่จากการนำสืบของพยานโจทก์ รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองคนได้ติดต่อกันเรื่องจัดหาเรือประมงเพื่อในการขนส่งชาวโรฮิงญา  จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ กับบุคลที่มีอายุ 15-18 ปี ,มีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ,ให้ที่พักพิงกับชาวต่างด้าว

       นอกจากนี้ โจกท์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย เบิกความสอดคล้องกันถึงพฤติการณ์ เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยนางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์ จำเลยที่ 30 เป็นเจ้าของรถกระบะ ที่ขนแรงงานโรฮิงญาไปจังหวัดสงขลาซึ่งถูกตำรวจจับได้ 2 ครั้งตั้งแต่ปี 56-57 แม้จำเลยจะอ้างว่าพี่สาวได้ยืมรถไปแต่ไม่ทราบว่านำไปใช้อะไร ก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้าง เพราะเมื่อครั้งแรกที่รถถูกจับ จำเลยเจ้าของรถก็ยอมทราบเรื่องว่าได้มีการนำรถไปกระทำผิด อีกทั้งยังมีหลักฐานการโอนเงินผ่านบัญชี ของจำเลยและพี่สาวด้วย

       ส่วน พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง จำเลยที่ 31 ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยานโจทก์ ให้การเบิกความสอดคล้องกัน ซึ่งรับฟังได้ว่าจำเลยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลขบวนการค้ามนุษย์แรงงานโรฮิงญา และโจทก์ยังมีหลักฐานการรับโอนเงินระหว่างบัญชี ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์จำเลยที่ 33 กับ นายวิรัช หรือบังเสม เบ็ญโส๊ะ จำเลยที่ 27 เจ้าของเรือ เป็นเงิน 100,000 บาท โดยจำเลยที่ 33 จะดูแลกลุ่มที่ส่งแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่ม ในพื้นที่ระนองและชุมพร ขณะเดียวกันยังพบหลักฐานการโอนเงินระหว่างบัญชีจำเลยที่ 33 และ นายชินพงษ์ ชาตรูประชีวินและจำเลยที่ 92อีกหลายครั้ง ซึ่งลำพังเงินเดือนของจำเลยที่ 33 จะอยู่ที่ 30,000 บาทแต่ ในการตรวจสอบบัญชีพบมีเงินหมุนเวียน 4 ล้านบาทแต่ในส่วนของนายจารึก สุวรรณรัตน์ จำเลยที่ 68 พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า ทำผิดตามฟ้อง

      สำหรับพล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยที่ 54 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนแยกที่1ระนองนั้น ศาลเห็นว่าในช่วงที่มีการพบแรงงานเมียร์มาและบังคลาเทศ ซึ่งเป็นชาวโรฮิงญา ทางการได้มีนโยบายผลักดังกลุ่มแรงงานเหล่านี้ออกจากนอกประเทศ ซึ่งระหว่างที่พล.ท.มนัส จำเลย54 ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.ตำรวจสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ 200 กว่าคน ซึ่งจะต้องทำการผลักดัน โดยส่งลงเรือลอยลำน่านน้ำสากล เพราะทั้งประเทศเมียนมา และบังคลาเทศ ไม่ยอมรับว่าบุคลดังกล่าวไม่ใช่พลเมือง แต่จากพยานหลักฐานโจทก์ พบว่าเมื่อมีการควบคุมแรงงานดังกล่าวแล้วได้ส่งให้จำเลยที่ 54 เพื่อผลักดันตามขั้นตอน แต่ขณะเดียวกันโจทก์ก็มีแรงงานโรฮิงญา  ผู้เสียหายที่ถูกจับกุมช่วงดังกล่าว ให้การว่าเคยถูกจับกุมแล้วแต่ก็ได้รับการช่วยเหลือกลับมาเข้าแคมป์เทือกเขาแก้ว ซึ่งรับฟังได้ว่าแม้จะให้มีการผลักดันแรงงานออกน่านน้ำ ตามแผนพิทักษ์อันดามัน 1 แต่แรงงานก็สามารถกลับมาได้โดยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

          ซึ่งจากรายงานประวัติรับราชการของจำเลยที่ 54 พบว่า ได้เป็นผอ.กอ.รมน.,ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร (ผบ.จทบ.ชุมพร) และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่42จ.สงขลาช่วงระหว่าง ต.ค.53 ถึง ธ.ค.57 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาที่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว มีความเชื่อมโยงในการผลักดันแรงงานโรฮิงญาออกนอกประเทศ ขณะที่ในการค้นบ้านพักนางอรปภา จันทร์พ่วงจำเลยที่ 65 และนางสาวศิริพร หรือแมว อุดมฤกษ์จำเลยที่ 82 ก็พบหลักฐานเกี่ยวสลิปการโอนเงิน ซึ่งเชื่อมโยงบัญชี พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ซึ่งพยานหลักฐานโจทก์ ปรากฏว่ามีการรับโอนเงิน ถึง 65 ครั้ง รวม 14,850,000 บาท โดยเป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค.55 ถึง 61 ครั้งเป็นเงิน 13,800,000 บาทเศษ และในช่วง เดือน ส.ค.56 อีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 1ล้านบาทเศษ

         แม้ พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 จะต่อสู้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการพนันวัวชน,ซื้อขายวัวและเป็นเงินสนับสนุนจากเอกชนในการผลักดันแรงงานโรฮิงญานั้น จำเลยกลับไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน ขณะที่การผลักดันแรงงานรัฐก็มีงบประมาณสนับสนุนอยู่จึงเชื่อได้ว่าเงินที่ได้รับโอนบัญชีของจำเลยที่ 54 เป็นผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ ไม่ให้ถูกจับกุม การกระทำนั้นจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯและมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงานจึงต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิดนั้น

      นอกจากนี้ศาลยังพิเคราะห์ ถึงพฤติการณ์ ของ น.ส.ขวัญฤทัย จันทร์พ่วง จำเลยที่ 59 น.ส.สถาพร ชื่นทับ จำเลยที่ 60 นางอรประภา จันทร์พ่วง จำเลยที่ 65 นายพิศิษย์ เพ็ชรคีรี จำเลยที่ 74 นางผานิต ด้วงขุนนุ้ย จำเลยที่ 78 นางรุ่งกานต์ พิพัฒนวานิช จำเลยที่ 79 นายสรศักดิ์ ห่อมา จำเลยที่ 88 ที่มีส่วนร่วมรับโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทั่งเวลา 18.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาฯได้พักการอ่านคำพิพากษา 30 นาที ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษาที่เหลืออีกประมาณ 100 หน้าในช่วงค่ำ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะเสร็จสิ้นกระบวนการพิพากษาในเวลา 21.00 น.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ