ข่าว

PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพที่ไม่จิ๋ว คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ทำให้เจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศถึง 1.7 ล้านคน และป่วยมะเร็งปอด 1.8 แสนราย ดังนั้นเรามาสังเกตอาการ รู้ก่อนรักษากัน

เป็นเวลากว่า 25 ปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในภาคเหนือ โดยในปี 2566 ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานถึง 14 เท่า มีรายงานว่า คนไทยเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ ช่วง 1 ม.ค. - 19 มี.ค. 2566 ถึง 1.7 ล้านคน และใน ปี 2565 มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 1.8 แสนราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ และ แอสตร้าเซนเนก้า จัดงานเสวนา LUNG Cancer Day  #มะเร็งปอด #โรคปอด #โรคระบบทางเดินหายใจ #ฝุ่นจิ๋วภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว #PM2.5 #LUNGCANCERDAYตระหนักแต่ไม่ตระหนก ฝุ่นจิ๋วภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว เนื่องในวันมะเร็งปอดสากล 1 สิงหาคม เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีความตระหนักรู้ รับมือ และดูแลตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะที่กระทบต่อสุขภาพ 

 

PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


"มะเร็งปอด" ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบในเพศชายมากเป็นอันดับที่ 2 และเป็นอันดับ 4 ในเพศหญิง ภาพรวมแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ราว 1.7 หมื่นราย หรือราว 47 รายต่อวัน จากเดิมปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่ หรือ การสูดดมควันบุหรี่มือสอง แต่ปัจจุบัน พบว่า ปัญหาการสูบบุหรี่น้อยลง สวนทางกับปัญหามลภาวะที่เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น PM2.5 การเผา ฝุ่นควันจากรถยนต์ แร่ใยหินบางชนิด หรือการได้รับรังสี นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น
 

"มะเร็งปอด" เจอก่อนรักษาก่อน
"นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล" รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี สะท้อนถึงการเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ฝุ่น มลภาวะ รวมถึงก้าวสู่สังคมสูงอายุ ทำให้แนวโน้มสัดส่วนผู้ป่วยมากขึ้น

 

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


ขณะที่ คนไข้มะเร็งปอดส่วนใหญ่จะตรวจพบในระยะที่เป็นมากแล้ว ส่วนหนึ่งการสังเกตอาการอาจจะไม่ชัดเจนนัก การคัดกรองเอกซเรย์ปอด ความไวในการตรวจพบค่อนข้างน้อย บางกรณีเป็นจุดเล็กๆ ในปอด เอกซเรย์ปอดธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ ต้องมีขนาดของก้อนที่ใหญ่พอสมควร การคัดกรองมะเร็งปอดถือเป็นสิ่งที่ยาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัจจุบัน โรคมะเร็ง ที่การคัดกรองมีประสิทธิภาพจะมีไม่กี่ชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนัก


"การทำงานด้านมะเร็งของประเทศ มียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ 6 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมป้องกันสุขภาพ 2. การคักรองวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก โดยคนไทยทุกคนได้รับสิทธิ 3.การรักษา Cancer Anywhere คนไข้สิทธิบัตรทอง รับบริการใน รพ.ที่ขึ้นทะเบียนรักษาโรคมะเร็งกับ สปสช. ได้ทุกที่ ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้เร็วขึ้น 4. การรักษาประคับประคองมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายมะเร็ง ช่วยดูแล ให้กำลังใจ 5.การวิจัยโรคมะเร็งทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามพัฒนายาและเทคโนโลยีใหม่ๆ มารักษามากขึ้น และ 6.การเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งของคนไทยเพื่อกำหนดนโยบาย"


ด้าน "พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข" อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด คือ อายุ 50-80 ปี สูบบุหรี่ หรือเคยสูบภายใน 15 ปีที่ผ่านมา หรือสูบบุหรี่ 1 ซอง 20 – 30 ปี ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน พบคนไข้กลุ่มอายุน้อยมากขึ้น ภาพรวมชายและหญิงใกล้เคียงกัน เพราะผู้หญิงสูบบุหรี่มากขึ้น โดยกลุ่มอาชีพ ที่มีผลทำให้มะเร็งปอด ปอดอักเสบ เช่น อาชีพที่ต้องสัมผัสแร่ใยหิน หากสัมผัสนานๆ 10 ปี จะเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด อีกทั้ง ยังพบผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเกิดจากยีนส์ในร่างกายมีการแบ่งตัวผิดปกติ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย

 

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


"การคัดกรอง ในมะเร็งก็ยังเป็นคอนเซปต์เดิม เจอก่อน รักษาก่อน หายก่อน สิ่งสำคัญ คือ ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะสูบเองหรือคนรอบตัวสูบ และในปัจจุบัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็เริ่มมีข้อมูลที่ต้องคอยเฝ้าระวัง และเรื่องฝุ่น PM2.5 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรหลีกเลี่ยง ในส่วนของการเฝ้าระวัง เมื่อที่รู้ว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง แนะนำให้ตรวจคัดกรองหากเจอก่อนระยะ 1-3 หากควบคุม จัดการได้ จุดมุ่งหมายในการรักษา คือ หายขาด แต่หากเจอระยะแพร่กระจายก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีแนวทางในการรักษา จุดมุ่งหมาย คือ ประคับประคอง แต่สามารถทำให้มีอัตรารอดชีวิตที่ยืนยาวและกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนเดิมได้"

 


สร้างความตระหนักรู้ผู้ป่วยมะเร็ง
ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง อดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและผู้ป่วยโรคปอดและหอบหืด เผยว่ามูลนิธิฯ มีการตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อรวบรวมปัญหา เสนอภาครัฐ ให้รับทราบถึงปัญหาและให้ผู้ป่วยให้ความรู้ว่าภาครัฐมีนโยบายรองรับอยากผลักดัน สิทธิการรักษาให้ทั้ง 3 สิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการคัดกรองทั้งกลุ่มเสี่ยงและคนทั่วไป จะช่วยให้ประเทศของเราลดค่าใช้จ่ายในอนาคตได้มาก

 

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


"อยากแนะนำว่า การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญ ที่เปลี่ยนชีวิต ส่วนใหญ่เราเจอผู้ป่วยสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นมะเร็งระยะท้าย เสียชีวิตเร็ว อาการหนัก กลุ่มสอง คือ บังเอิญตรวจเจอ และเป็นมะเร็งระยะแรกๆ เส้นทางชีวิตจะต่างกันมาก ค่าใช้จ่าย ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่างกัน ดังนั้น ตรวจก่อน เจอก่อน รักษาก่อน หายก่อน แต่หากตรวจทีหลัง รักษาทีหลัง จะยาก ตรวจไม่เจอดีกว่าไม่ตรวจเลย"


ด้าน จิตนิภา ภักดี เจ้าของเพจ ออย Cancer Diary ตัวแทนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า ตรวจพบมะเร็งปอดระยะสุดท้าย กระจายทั่วปอดทั้งสองข้างเมื่อ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา เริ่มจากมีอาการไอเรื้อรัง ไม่มีเสมหะ ตอนแรกคิดว่าแพ้อากาศ เนื่องจากตอนนั้นอายุ 29 ปี ครอบครัวไม่มีประวัติเป็นมะเร็ง ไม่กินเหล้า และไม่สูบบุหรี่ แต่หลังจากได้ฟังแผนการรักษา จึงรู้ว่าความจริงมะเร็งไม่ได้เท่ากับตายเสมอไป โดยช่วง 3 ปีแรก รักษาด้วยการกินยามุ่งเป้าวันละ 1 เม็ด หากไม่นับว่ามีมะเร็งในปอด ร่างกายทั่วไปแข็งแรงเหมือนคนปกติ สามารถเดินป่า ขึ้นเขา ทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่างได้ปกติ การเป็นมะเร็งทำให้เรารู้คุณค่าของเวลามากขึ้น ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น 


"อยากฝากถึงคนที่ไม่เป็นมะเร็งว่า การดูแลสุขภาพตัวเองก็ยังสำคัญทั้งการกิน การนอน เพราะแม้วันหนึ่งจะเป็นมะเร็งจริงๆ อย่างน้อย เราก็ไม่เป็นไขมัน ความดัน หัวใจ เมื่อไม่เป็นโรคอื่นๆ เพิ่มก็ทำให้การรักษาสามารถควบคุมได้มากกว่าการมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เหมือนเรามีต้นทุนมากกว่าคนที่ไม่ดูแลสุขภาพ" จิตนิภา กล่าว

 


ยกระดับรับมือฝุ่น-ดูแลประชาชน
"ปิ่นสักก์ สุรัสวดี" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึง ทิศทางและแนวโน้มมลภาวะทางอากาศ โดยระบุว่า ในปี 2566 พบว่า ปัญหา PM 2.5 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ กังวลมากที่สุด คือ สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา มีการยกระดับ PM2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 หลังจากนั้นก็มีการทำแผนเฉพาะกิจรายปี เดินหน้ายกระดับค่ามาตรฐานให้เข้มยิ่งขึ้น โดยลดค่ามาตรฐานจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่มิถุนายนที่ผ่านมา

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


มุ่งสร้างมาตรการในการแก้ปัญหาจะต้องแก้ให้ตรงจุด เมือง ป่า เกษตร มีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน โดยในเขตเมืองเน้นแก้ปัญหาการจราจรและโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับน้ำมันให้เป็น EURO5 การกำหนดค่ามาตรฐานรถยนต์ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในส่วนของป่าที่สำคัญต้องจัดการการใช้ประโยชน์ระหว่างคนกับป่าให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ภาคการเกษตรพยายามจะลดจุดความร้อนทำให้วัสดุทางการเกษตรที่ต้องเผามีมูลค่า และมีระบบการติดตาม ตรวจสอบ รายงาน ร่วมกันอย่างบูรณาการ


รวมทั้งปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำกลยุทธ์ Clear Sky ใช้ในการยกระดับการแก้ปัญหา มีการพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบการเผาในพื้นที่การเกษตร และยกระดับการทำการเกษตรที่ปลอดการเผา หรือ GAP PM2.5 Free จัดทำแผนดูแลป่าร่วมกับชุมชน มี War Room วิเคราะห์ประมวลผลในการบริหารจัดการไฟ ตั้งศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ ผลักดันกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา และ จัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประเด็นการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองภายในปี 2568 


ในส่วนของ กรุงเทพมหานคร "สุขสันต์ กิตติศุภกร" รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น การขยายระบบการติตดามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด การสื่อสารประชาชนในการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านสื่อต่างๆ การพยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5 โมเดลใหม่แม่นยำมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิดและเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด การปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว การตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ สถานประกอบการ และ จัดทีมนักสืบฝุ่น ศึกษาปัญหาฝุ่น อีกทั้ง ปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล มาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เอกชน รัฐ และภาคต่างๆ


สำหรับการดูแลประชาชนและผู้ป่วยในพื้นที่กทม. ที่ผ่านมา มีการสร้างเครือข่ายทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันแพทยศาสตร์ศึกษา รพ.เครือข่ายทหารภูมิพล และ รพ.เอกชนบางส่วน โดยแบ่งพื้นที่ Bangkok Health Zoning เป็น 7 โซน เชิญโรงพยาบาลต่างๆ ดูแลในระดับพื้นที่ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ดูแลแบบไร้รอยต่อให้เข้าการรักษาเร็วขึ้น รวมถึง การทำงานร่วมกับ สปสช. โดยนโยบายในปีที่ 2 ของผู้ว่าฯ กทม. คือ การคัดกรองมะเร็งปอด 1 ล้านคน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองได้ดียิ่งขึ้น


โรคปอด-ทางเดินหายใจ อันดับ 1 OPD
"นพ.วินัย โบเวจา" แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาพบหมอ จะมาด้วยอาการ ไอเรื้อรัง เสมหะในคอเรื้อรัง ไอมีเสียงหวีดร่วมด้วย สาเหตุหลัก คือ การติดเชื้อตามฤดู ไวรัส แบคทีเรีย หรือวัณโรค ขณะที่ อาการภูมิแพ้ จะล้อไปกับฤดูและฝุ่นที่พบมากเรื่อยๆ ในระยะเวลา 5 ปีมานี้ อัตราผู้ป่วยที่มาใช้บริการ กลุ่มโรคปอดและทางเดินหายใจติดอันดับ 1 ในทุก OPD และบาง รพ. อยู่ในอันดับ 2

 

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


"เทรนด์โรคปอดใน 10 ปีข้างหน้า กำลังมา 100% เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยน ความเป็นอยู่ที่แน่นมากขึ้น การเผาผลาญพลังงานมากขึ้น แต่ปัญหา คือ หลายคนไม่ได้รับการตรวจและเสียโอกาส แม้การคัดกรองมะเร็งปอดจะเป็นเรื่องยาก หลายคนบอกไม่มีอาการแต่ไปตรวจเจอระยะ 4 เมื่อซักประวัติจริงๆ แล้วมีอาการแต่ทน ขณะที่ โรคปอดอื่นๆ ตรวจไม่ยาก ซักประวัติ ใช้หูฟัง และเอกซเรย์ โดยค่าใช้จ่ายเอกซเรย์ราว 600-700 บาท"


นพ.วินัย อธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันเราพบโรคหอบหืดในผู้สูงอายุ เป็นปรากฏการณ์ที่ล่อไปกับ Climate Change หรือ สภาพอากาศ ผู้สูงอายุเริ่มหอบหืด บางคนเจอในช่วงอายุ 70-80 ปี เพราะบ้านอยู่ใกล้ริมถนน สูดดมฝุ่น มีปัญหาหลอดลม ในเชิงโรคปอดทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุยังเป็นเป้าหมายแรกจากการสำลักอาหาร เมื่ออายุมากขึ้นหูรูดยาน กระเพราะลื่น ถัดมา คือ ปอดติดเชื้อเนื่องจากภูมิต้านทานน้อยลง ค่านิยมฉีดวัคซีนยังไม่ถึง สภาพอากาศเปลี่ยนไป และยาที่ทาน เพราะผู้สูงอายุหลายคนทานยาที่มีผลต่อปอดทางอ้อม เช่น ยากดภูมิ ยาความดัน


อีกทั้ง ในสภาพอากาศที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ทั้งในประเทศจีนและอินเดีย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า PM2.5 กระตุ้นมะเร็ง เกิดปรากฏการณ์ว่าทำไมมะเร็งเจอมากขึ้นในเด็กและวัยรุ่นภาคเหนือ ผลกระทบระยะสั้น คือ ทำให้คันตา แสบตา คันจมูก คัดจมูก ไอ เสมหะในลำคอ คนที่เป็นโรคปอดอาจจะมีอาการไอ หลอดลมหดเกร็ง หายใจหอบเหนื่อยได้ ระยะยาวสะสมเกิดมะเร็งมีรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ 


"วิธีสังเกตอาการ คือ หอบเหนื่อยไม่เหมือนกับอ่อนเพลีย อาการ คือ หายใจเร็ว หรือต้องหยุดอริยบทต่างๆ เพื่อพัก หายใจด้วยปาก และมีชีพจรเร็วขึ้น เหงื่อแตก และหากเป็นเยอะขึ้นอาจจะพูดได้แค่ 2-3 คำ นี่คืออาการเยอะแล้ว หรือแค่การเดินเข้าห้องน้ำหากรู้สึกไม่เหมือนเดิมแปลว่าอาการมา รวมถึงโดนแอร์แล้วไอ ไอง่าย โดยเฉพาะไอกลางดึก แสดงว่าหลอดลมกำลังบอกอะไรอยู่ ไม่ควรซื้อยาทานเองเพื่อบรรเทา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ" นพ.วินัย กล่าว

 

 

มะเร็งปอด PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน

 


ด้าน "นิภาวรรณ กล้ากสิกิจ" ตัวแทนผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจ ซึ่งก่อนหน้านี้มีอาการภูมิแพ้ หอบหืด เหนื่อยง่าย ไอเวลากลางดึกและมีเสียงหวีดเวลาหายใจ จึงตัดสินใจไปหาหมอและพบว่า เป็นภูมิแพ้ หลังจากทานยา พ่นยา ตามที่หมอแนะนำ แม้ปัจจุบันจะอาการดีขึ้น สามารถเดินขึ้นสะพานลอยได้ แต่เราก็ต้องคอยระวังทั้งฝุ่น PM2.5 และ ฝน เพราะร่างกายจะไวกว่าคนอื่น พยายามใส่หน้ากากอนามัยตลอด ไม่ไปในที่แออัด ดังนั้น ฝากทุกคนว่า หากมีอาการแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากรู้ก่อน รักษาก่อน อาการจะไม่หนัก  ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/live/u2Nz1bc71VI?feature=share 
www.thaicancersociety.com 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ