วันที่ 21 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าของ น.ช. ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ โดยเมื่อวานนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้ออกหนังสือต่อเวลาการรักษาตัว ให้อยู่ใน รพ.ต่อไปอีก 30 วัน ทำให้เกิดความสงสัยถึงอาการป่วยของ น.ช. ทักษิณ ว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานถึงอาการและรายละเอียดจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นไปตาม พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์ ปี 2560 ที่ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีอำนาจอนุญาตให้นักโทษรักษาตัวใน รพ. รวม 60 วัน
แต่หากเกิน 60 วัน เป็น 90 วัน เป็นอำนาจการพิจารณาของปลัดกระทรวงยุติธรรม และถ้าเกิน 90 วัน เป็น 120 วัน จะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งกระทรวงฯ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงคำวินิจฉัยแพทย์ได้ ทั้งนี้มี่ผ่านมาเคยมีกรณีนักโทษที่มีอาการป่วยหนัก และใช้ พ.ร.บ.ฯ เพื่อเข้า-ออกเรือนจำ ไปรักษาตัวที่ รพ. จนกระทั่งเสียชีวิต
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกลุ่มมวลชนร้องทางกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยข้อมูลการรักษา น.ช.ทักษิณ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ให้เป็นดุลยพินิจแพทย์
ส่วนกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เตรียมศึกษาการพักโทษ น.ช. ทักษิณ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องพักโทษของนายทักษิณ
เมื่อถามถึงการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในชายแดนใต้ เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ในที่ประชุม มีผู้เสนอให้ต่อ พ.ร.ก.ฯ ไป 3 เดือน แต่นายกฯ ขอให้ใช้เวลาเพียง 1 เดือน โดยให้ความสำคัญ ความสมดุลย์ และเตรียมพิจารณาว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรมีต่อไปหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ควรบังคับใช้เพิ่มต่อไปอีก 1 เดือน และมีการแต่งตั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงร่วมนั่งด้วย โดยในระหว่าง 1 เดือนนี้ จะพิจารณาถึงรายละเอียด และผลกระทบ แต่หากพิจารณาตามหลักทางกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าสิ้นสภาพแล้ว นับตั้งแต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการอุ้มหายได้ประกาศบังคับใช้ไปแล้วทำให้ระบบการสืบสวน ต้องมีการบันทึกภาพและหลักฐาน ทำให้อำนาจการควบคุมตัวตามกฎหมาย 3 ฉบับ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าสิ้นสภาพในทางปฏบัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง