ข่าว

ย้อนรอยเส้นทาง การสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ปลายทางที่ยังไม่เจอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยการดำเนินการการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ หลัง 8 พรรค ตั้งคณะทำงานประชุมเดินหน้า เปลี่ยน นายกฯมา 7 คน การเจรจาไม่คืบ

หากนับ เวลาจาก 4 ม.ค. 2547 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 19 ปีแล้ว กับเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตั้งแต่นั้นมา ไฟใต้โหมแรงร้อน และคุกรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และยังไร้แววที่จะมอดดับลง ที่สำคัญเหตุการณ์ที่ตอกลิ่มสร้างความร้าวลึก นั่นคือเหตุการณ์กรณีตากใบ เมื่อปี 2546 รวมถึงกรณีกรือเซะ ที่รัฐได้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม กลายเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนบางส่วนยังมีรอยจำ ไฟปัญหาไฟใต้ได้ผ่านการบริหารจัดการของรัฐบาล 8 ชุดของนายกรัฐมนตรี 7 คน (ตั้งแต่ยุคนายทักษิณ ชินวัตร ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) งบประมาณให้การแก้ไขปัญหาจนถึงปี 2565 กว่า 3.3 แสนล้านบาท แต่ทุกอย่างยังมีเพียงคำตอบในสายลมเท่านั้น 

การประกาศเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ
และเมื่อมีการประกาศเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา  ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยภายในงานได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์บัตรเพื่อร่วมแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลในประเด็น ”ให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย“ ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลและตื่นตระหนกของประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง

ความพยายามครั้งใหม่ ในการทำงานร่วมกันของฝ่ายการเมือง ผ่านการประชุมร่วมครั้งแรก ของ 8 พรรคการเมืองที่จับมือร่วมกัน พร้อมที่จะเดินหน้าตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีความชัดเจนในแนวทาง ที่จะใช้กลไกลพลเรือนนำการทหาร แต่ยังต้องรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งรอการประชุมครั้งต่อไป

การประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล คณะทำงานย่อยสันติภาพปัตตานี
ย้อนกลับไปตามลำดับเส้นทางความขัดแย้ง มิใช่เพียงปะทุขึ้นในค่ำคืนปล้นปืนในปี2547 แต่ได้หยั่งรากฝังลึกมายาวนานในแง่เงาของประวัติศาสตร์  การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟใต้ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้  ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานได้ผลักดัน“แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process)

 

โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งสาระสำคัญของการปรึกษาหารือในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน โดยมี 5 เรื่องสำคัญที่ผลักดันจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง 1.ยอมรับอัตลักษณ์พหุวัฒนธรรมของชุมชน 2.สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการทางกฎหมาย 3.การศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 4.เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่ 5.รูปแบบการบริหารในพื้นที่

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP โดยมีกรอบเวลาด้วยกัน 2 ขั้น ขั้นแรกอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคมปี 2566 - มิถุนายน ปี 2566 ซึ่งจะเป็นช่วงของการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) และ ขั้นที่สองอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี2566- ธันวาคม ปี 2567

ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของการปฏิบัติจริงตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) โดยทั้งสองฝ่าย คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน


แม้จะมีการผลักดันนโยบายต่างๆ แต่ดูเหมือนว่า การทำงานเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีอะไรไปมากกว่าการเจรจาและใช้ฝ่ายความมั่นคงกำกับดูแลพื้นที่ ก้าวที่ใกล้ที่สุดในการจะสยบความรุนแรงของจังหวัดชายแดนใต้ คือ การเจรจาที่เกาะลังกาวี เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ซึ่งมี ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในฐานะประธานมูลนิธิขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ Perdana Global Peace Organization หรือ PGPO


ช่วงปลายปี 2548 นายอานันท์ ปันยารชุน สมัยที่ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เริ่มต้นการเจรจา ผ่านการประสานงานของ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด สถานที่ที่ใช้เจรจาครั้งนี้นคือ "กำปง ตก เซนิค" รีสอร์ทหรูขึ้นชื่อของเกาะลังกาวี 


หลังผ่านการพูดคุยเจรจากัน ได้มีการจัดทำเอกสารที่เรียกว่า Peace Proposal ผู้ร่วมลงนามมีแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานกลุ่มเบอร์ซาตู อุสตาซมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน ประธานกลุ่มจีเอ็มพี (มูจาฮีดีนปัตตานี) นายรอซี บิน ฮัดซัน รองประธานกลุ่มพูโล และ อุสตาซอับดุลเลาะห์ บิน อิสมาแอล ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ.2549 จากนั้นจึงนำมาสู่การจัดทำ แผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในเดือนกรกฏาคม 2549 แต่แผนงานดังกล่าวและการเจรจาครั้งนั้น หายวับไปหลังเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงทุกวันนี้แผนงานในครั้งนั้นไม่เคยถูกนำมาใช้อีกเลย.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ