ข่าว

พิธา เสนอแนวนโยบาย สร้างงาน -ซ่อมประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“พิธา” เสนอแนวคิด ‘ถูกใจคนไทย-ตรงใจตลาดโลก’ ชู 'สร้างงาน-ซ่อมประเทศ' เปลี่ยนปัญหา-ความต้องการคนไทย เป็นอุตสาหกรรมใหม่-จ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตพร้อมลดความเลื่อมล้ำ

โพสต์ทูเดย์ ได้จัดงานครบรอบ 20 ปี “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจ “Policy Push-Market Drives กำหนดนโยบายอย่าไร ให้ตรงใจตลาดโลก”

พิธา เสนอแนวนโยบาย สร้างงาน -ซ่อมประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพรรคการเมือง แสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า โจทย์ที่ได้รับมาวันนี้จากผู้จัดงาน คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจตลาดโลก ซึ่งตนขอมองต่าง ซึ่งแนวทางเอาใจตลาดโลก ในมุมมองผู้บริหาร เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าในมุมมองนักการเมือง นั้น โจทย์ไม่ใช่กำหนดนโยบายอย่างไรให้ตรงใจตลาดโลก แต่คำถามที่ถูกต้อง คือเราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจคนไทยและตลาดโลก เหตุผลที่หนึ่ง ถ้าเราทำของราคาถูกมีคุณภาพ สามารถทำได้ เพราะมีอุตสาหกรรมที่ตรงใจตลาดโลกพอสมควร

พิธา เสนอแนวนโยบาย สร้างงาน -ซ่อมประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ

เพราะที่ผ่านมาเรามีเศรษฐกิจที่ตรงใจตลาดโลกมามากแล้ว แต่จะมีประโยชน์อะไรเพราะถ้าสัดส่วนคนจนในประเทศยังมีสูง  คิดเป็นถึง 66% หรือ 2 ใน 3 ของคนจนอยู่ในภาคการเกษตร จะมีประโยชน์อะไรกับการที่รายได้การท่องเที่ยวของประเทศก่อนโควิด สูงถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ 74% กระจุกตัวอยู่แค่ใน 5 จังหวัดจากทั้งประเทศ และจะมีประโยชน์อะไรกับการที่ประเทศไทยมีภาคธนาคารที่เข้มแข็งเป็นอันดับที่ 21 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยพุ่งทะยานไปถึง 89% ของจีดีพีแล้ว
 

เหตุผลที่ 2  พิธา กล่าวว่า จากการคาดการณ ของ ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี เหตุผลที่ยกมาทั้ง 2 ข้อ จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องออกแบบนโยบายให้สอดคล้องตรงใจตลาดโลก และคนไทย และการที่เราจะพึ่งเพียงการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก เป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าเราตั้งโจทย์ผิดเมื่อไหร่ แม้จะได้คำตอบที่ถูก ประเทศก็ไปผิดทิศผิดทาง ในการขึ้นมาพูดครั้งนี้ เราต้องการวิธีคิดมากกว่าตคำตอบ พรรคก้าวไกลมีกระบวนการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบ 

พิธา เสนอแนวนโยบาย สร้างงาน -ซ่อมประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ
ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือความสร้างสรรค์ ห่วงโซ่อุปทานที่ดีระดับหนึ่ง และมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ในขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนคือการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว การมีระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก หากมองในแง่โอกาส แนวโน้มการลงทุนของโลกในขณะนี้กำลังมุ่งไปที่การกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดิม 

ขณะเดียวกันกำลังจะเกิดการปฏิรูปภาษีโลกครั้งใหม่ (Global Minimum Tax) หรือ GMT แต่โลกก็กำลังมอบโจทย์ความท้าทายให้กับประเทศไทยในหลายด้านเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องภาวะโลกร้อน ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นสงคราม และราคาโภคภัณฑ์ที่ผันผวน

พิธา เสนอแนวนโยบาย สร้างงาน -ซ่อมประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ

พิธา อธิบายแนวคิดว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย คือการนำจุดแข็งและจุดอ่อน ทำให้ตรงใจตลาดโลก และหาโอกาสให้ได้ ไม่ใช่แค่ให้สินทรัพย์เป็นรายได้แบบสมัยก่อน ขณะเดียวกัน หนี้สิน ก็ต้องทำให้เป็นรายได้ให้ได้เหมือนกัน นี่คือโจทย์ของรัฐบาลชุดต่อไป  เมื่อได้ภาพปัจจุบันของประเทศดังนี้แล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลจึงเกิดขึ้นภายใต้โจทย์เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่นโยบาย “สร้างงาน ซ่อมประเทศ” จ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง หรือการนำปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่เรื้อรังมาข้ามทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ น้ำประปาที่ไม่สะอาด ปัญหาพลังงาน ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้นเปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการสร้างงาน เพื่อซ่อมประเทศ ได้แก่

1. เพิ่มจุดแข็ง ด้วยนโยบายกองทุนภาพยนตร์ เพื่อนำไปสู่การส่งออกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้นและสามารถขายไฟส่วนเกินคืนให้รัฐได้ และคูปองเมืองรองเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังหัวเมืองรองต่างๆ

2. ลดจุดอ่อน ด้วยนโยบายหวย SMEs ให้ใบเสร็จจากการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยแลกเป็นสลากกินแบ่ง เพิ่มแรงจูงใจในการอุดหนุน SMEs ให้มีแต้มต่อแข่งกับทุนใหญ่ การกระจายอำนาจให้นำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การสร้างระบบ AI ตรวจจับการทุจริต และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การลดจำนวนใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการต้องขอลง 50% และแก้ไขกฎระเบียบการออกใบอนุญาต ให้ต้องทราบผลภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นให้มีผลเท่ากับการอนุมัติในทันที

3. คว้าโอกาส ด้วยแนวทางการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเองขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโซลาร์เซลล์ที่กล่าวไปข้างต้น

4. ป้องกันภัยคุกคามที่เกิดจากความท้าทายของโลก เช่นภาวะโลกร้อน ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะรถเมล์ไฟฟ้าในทุกจังหวัด การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือผลักประเทศให้เติบโตไปด้วย และลดความเหลื่อมล้ำให้คนในประเทศไปด้วย การสร้างการเติบโตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมเก่า การส่งออกแบบเก่า พึ่งพาการลงทุนแบบเก่า ไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อีกแล้ว ทางออกเดียวของประเทศไทยที่จะตอบโจทย์นี้ได้ คือการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและปัญหาของคนไทย” พิธา กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ