"ประชาธิปัตย์"แนะโซนนิ่ง"PM2.5"ในกทม.เข้มใช้กฎหมายเขตก่อสร้าง
"ประชาธิปัตย์"จี้ทุกฝ่ายแก้ปัญหา"PM2.5"ในกทม.และปริมลฑล ห่วงสุขภาพประชาชน แนะโซนนิ่งพร้อมบังคับใช้กฎหมายเขตก่อสร้างและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น 2,000 จุด
เมื่อวานนี้ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา "ฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้"
รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 12 ของโลก โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครพบที่เขตยานนาวาสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ
องค์การอนามัยโลก กำหนดค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 มคก. /ลบ.ม. แต่กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย กำหนดไว้ที่ไม่ควรเกิน 50 มคก. /ลบ.ม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ตระหนักถึงอันตราย
ส่วนตัวเลขล่าสุดของไทยในหลายพื้นที่เกินกว่า 150 -200 แล้ว อยู่ในโซนสีส้มสีแดงส่งสัญญาณว่าอันตรายมาก
สำหรับต้นเหตุของปัญหามลพิษฝุ่นPM2.5 เกิดจาก3 ส่วนหลัก คือ
-กิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การขับขี่ยานพาหนะ
-ภาคการเกษตร เช่นการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
-ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้กระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดเขม่า ควันพิษ
จากสภาพอากาศปิดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแพร่กระจายของฝุ่น PM.2.5 โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว และเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 30 เท่า ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ จึงสะสมในปอด ทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดมะเร็ง บางคนมีอาการตาแดง จมูกแสบ ผื่นคันที่ผิวหนัง ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคหืด หอบ หญิงตั้งครรภ์ คนชรา โดยเฉพาะทางการแพทย์พบว่า มีผลต่อสมองเด็กอย่างมาก ก่อปัญหาระยะยาว
เมื่อรู้สาเหตุปัญหาที่มาของฝุ่นพิษแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยใจ ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบขอไปที และต้องจริงจังตั้งแต่วันนี้
ด้านศ.ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร และประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า บ้านเราการแก้ปัญหายังไม่จริงจัง จึงขอให้รัฐและกทม.ออกมาพูดความจริง พร้อมเสนอ 3.มาตราฐาน
-แก้ด้วยกายภาพ เขตกรุงเทพชั้นในที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลมากมาย ควรเป็นเขต LEZ (Low Emission Zone) เช่น ถ้ารถสิบล้อเข้าเขตนี้ต้องเสียภาษีเพิ่ม รถควันดำห้ามเข้า เป็นต้น
-แก้ด้วยกฎหมาย เช่น ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้องมีการ Wrap ตึกและสามารถเคลมเป็นภาษีได้ แต่ถ้าไม่ Wrap ต้องมีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือโดนภาษีหนัก ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างนี้เป็นต้น
-แก้ด้วยเทคโนโลยี เช่นติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงอย่างน้อย 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ ขอความร่วมมือป้าย LED แจ้งปริมาณฝุ่นพร้อมส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกินค่ามาตรฐาน
"หากตนมีอำนาจสิ่งแรกที่จะทำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น ผู้ว่าฯ มีอำนาจชะลอ เพิกถอนอาคารก่อสร้างที่ไม่ Wrap ตึกที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ทันที การตรวจสอบสภาพจริงจังหรือไม่ รถเก่าต้องมีมาตรการเด็ดขาด เช่น ต้องเสียภาษีเพิ่มตามปริมาณฝุ่นพิษที่ปล่อยออกมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านควบคุมมลพิษต้องเอาจริงเอาจัง และอยากฝากไว้ว่าฝุ่นเลวสร้างมลพิษไม่เท่ากับการไม่เชื่อและไม่ตระหนักถึงอันตรายด้วยการปล่อยฝุ่นพิษทิ้งไว้ทำลายชีวิตผู้คน" ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ด้านนายอภิมุข ฉันทวานิช ในฐานะที่คลุกคลีดูแลประชาชนในเขตยานนาวาซึ่งมีฝุ่นพิษติดอันดับ 1 ใน 5 ได้แสดงความห่วงใยถึงประชาชนทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ การศึกษาคือกลไกขับเคลื่อนประเทศ แต่ถ้าฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำร้ายสมองเด็ก หยุดพัฒนาการ ประเทศจะเป็นเช่นไร
ด้านว่าที่ร.ต.ศรุต เสนอปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดมลพิษได้ ในปารีส สิงคโปร์ เบอร์ลิน มีการปลูกต้นไม้ 56 ตารางเมตรต่อคนแล้ว แม้ไม่ใช่แก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ