ข่าว

"พริษฐ์ วัชรสินธุ " ชี้ 4 แนวทางสร้างประชาธิปไตย ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4 แนวทางสร้างประชาธิปไตย ยั่งยืน พริษฐ์ วัชรสินธุ ปาฐกถา "14 ตุลา" ปฏิรูปกองทัพ ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ทลายระบบอุปถัมภ์

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ร่วมแสดงปาฐกถางาน 14 ตุลา 16 ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยแค่ไหน พริษฐ์เริ่มต้นปาฐกถาด้วยการอธิบายว่า 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกตีความอย่างหลากหลายโดยคนแต่ละกลุ่ม  ทั้งมุมที่มองว่า 14 ตุลาเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ และมุมที่มองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นชัยชนะที่ลวงตาและไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนซึ่ง

14 ตุลา อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่สามารถกำจัดระบบทรราชอย่าง ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ออกไปจากระบบการเมืองไทยได้ก็จริง แต่ 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับเกิดเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลา 2519 โดยเหตุการณ์นี้พริษฐ์อธิบายว่า เป็นเสมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้ถอยกลับไปอยู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิม   คนรุ่นใหม่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เติบโตมาในโลกที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ฟังปาฐกถา 14 ตุลา

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคต้องพบเจอเหมือนกัน คือการเติบโตมาในยุคที่การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น คนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลาเป็นยุคที่เติบโตมากับระบบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานและมีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17

 

ขณะที่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันเติบโตมาในยุคที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยอย่างเต็มใบและต้องอาศัยอยู่ภายใต้ ระบอบประยุทธ์ซึ่งเป็นเสมือนเผด็จการอำพรางที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง แต่ยังคงมีกลไกควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จผ่านกลไกสืบทอดอำนาจ ส.ว. 250 คนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

รสนา โตสิตระกูล ผู้ฟังปาฐกถา 14 ตุลา

 

แม้ความแตกต่างระหว่างรุ่นเป็นเรื่องปกติ แต่จากโจทย์ปัจจุบันที่เป็นช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยไทยและที่มีการปะทะกันระหว่างระบบที่ล้าหลังและสังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายและความตั้งใจของคนยุค 14 ตุลา มีภารกิจหลายส่วน ที่สอดคล้องกับความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่สำเร็จถึงฝั่งและยังต้องอาศัยพลังและเจตจำนงของคนทั้ง 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

 

เป้าหมายที่หนึ่งคือการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย – แม้เหตุการณ์ 14 ตุลาได้นำมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2517 แต่กระบวนการจัดทำยังคงไม่ได้มีส่วนร่วมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นฉบับที่มีอายุเพียง 2 ปี ก่อนถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกเขียนโดยคณะรัฐประหาร มีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดอำนาจ และมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักสากล จึงต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ผ่าน สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

เป้าหมายที่สองคือการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรม ที่ไปไกลกว่าการกำจัดผู้นำเผด็จการ แม้ 14 ตุลาจะเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองไทยที่ภาคประชาชนรวมกันแสดงตัวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แต่ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าการตื่นตัวของประชาชนไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะที่ยังยืนของประชาธิปไตยเสมอไป ตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นในระดับความคิด และกำจัดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกอณูของสังคม

เป้าหมายที่สามคือการปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน ในการเคลื่อนไหวเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ประชาชนมีความต้องการนำเผด็จการทหารออกจากการเมืองแต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศยังไม่ได้หลุดพ้นจากระบบการเมืองที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงจนถึงยุคปัจจุบัน การปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนจึงเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งแต่ การทำให้กองทัพแยกขาดจากการเมืองโดยการกำหนดไม่ให้นายพลเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีจนกว่าจะเกษียณไปแล้วหลายปี การลดบทบาทและอำนาจของสภากลาโหม การทำให้กองทัพโปร่งใสลถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และการสร้างกองทัพที่เท่าทันกับโลก โดยไม่มีสิทธิพิเศษเหนือพลเรือน

เป้าหมายที่สี่ คือการทลายระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงก่อน 14 ตุลา ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กำมือของเครือข่ายสามทหาร และยังคงเป็นปัญหามาถึงยุคนี้ที่เต็มไปด้วยการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ และการขยายตัวของกลุ่มทุนผูกขาด การวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดการแข่งขันโดยปราศจากระบบอุปถัมภ์ และการวางโครงสร้างทางการเมืองที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงเป็นภารกิจที่ยังไม่เสร็จและต้องสานต่อในยุคปัจจุบัน

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line:https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ