ข่าว

ดัก วุฒิสภา แจง 5 เหตุผล ไม่รับร่าง ปิดสวิทซ์ สว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก้าวไกล ดักทางสมาชิก วุฒิสภา ชี้แจงเหตุผล ไม่รับร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ปิดสวิทซ์ สว. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา 6-7 ก.ย.นี้

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกลโพสต์เฟสบุ๊ค ดักเหตุผลที่ สมาชิกวุฒิสภา มักจะยกเหตุผล มาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ การเลือกนายกรัฐมนตรี ของสว . 5 ประการ ซึ่งตลอด 3 ปี ที่ผ่านมามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  5 ร่างที่ถูกเสนอต่อรัฐสภาให้ยกเลิกมาตรา แต่ทุกร่างก็ถูกปัดตก โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย. 2564 ร่างยกเลิกมาตรา 272 ได้รับการเห็นชอบจาก ส.ส. ถึง 440 จาก 500 คน (88%) แต่ถูกปัดตกโดยสมาชิกวุฒิสภา ที่เห็นชอบเพียง 6 จาก 250 คน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญใดๆก็ตาม

 

ดัก วุฒิสภา แจง 5 เหตุผล ไม่รับร่าง ปิดสวิทซ์ สว.

 

ในวันอังคารและพุธที่จะถึงนี้ (6-7 กันยายน) ร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 ของภาคประชาชน จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง โดยหากเราย้อนไปฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในรอบผ่านๆมา ก็พอคาดการณ์ได้ว่า สว. จะใช้มุกเดียวกับที่ใช้มาโดยตลอด นั่นก็คือ การหยิบยก 15 ล้านเสียงที่เห็นชอบกับคำถามพ่วงในประชามติปี 2559 มาเป็นเหตุผลในการคัดค้านการปิดสวิตช์ตนเอง

เพื่อดักทาง มี 5 เหตุผลที่จะอธิบายได้ว่าทำไมการยกประชามติมาคัดค้านการยกเลิกมาตรา 272 เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล และหาก ส.ว. หรือ สมาชิกรัฐสภา ท่านใดกำลังเตรียมจะใช้เรื่องประชามติมาเป็นข้ออ้างอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ท่านเตรียมคำตอบมาชี้แจง 5 ข้อดังต่อไปนี้

1. ประชามติผ่านมาแล้ว 6 ปี ความคิดสังคมเปลี่ยนได้

ประชามติ 2559 เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยคะแนนที่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงเกินกึ่งหนึ่งไปนิดเดียว (58%) จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินจินตนาการหากเสียงส่วนใหญ่ ณ ปัจจุบัน จะไม่เห็นด้วยกับการที่ สว. มีอำนาจเลือกนายกฯ

หรือหากจะประเมินความเห็นของประชาชนจากผลการเลือกตั้งในปี 2562 (ซึ่งน่าจะเป็นตัวเทียบที่ใกล้เคียงที่สุด) ก็จะเห็นว่าคะแนนส่วนใหญ่ ถูกกาให้กับพรรคการเมืองที่เห็นด้วยหรือเสนอนโยบายให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นยกเลิกมาตรา 272

2. ประชามติ 2559 ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ขัดมาตรฐานสากล

ประชามติในปี 2559 ไม่ได้เปิดให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รณรงค์ความคิดของตนเองได้อย่างเท่าเทียมกัน - ในขณะที่ กกต. มีการส่งเอกสารสรุปข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกคน แต่ฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างกลับมีหลายคนถูกจับกุมดำเนินคดี

 

3. คำถามพ่วงประชามติ ไม่เป็นกลาง ซับซ้อน และชี้นำ

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” คือข้อความที่ถูกถามเป็นคำถามพ่วงในประชามติปี 2559 ซึ่งนำมาสู่อำนาจการเลือกนายกฯ ของ สว. ด้วยเจตนาหรือไม่

 

จะเห็นได้ว่าคำถามถูกเขียนในลักษณะที่ซับซ้อนและชี้นำ - ทั้งหมดนี้แตกต่างอย่างมากกับความพิถีพิถันที่สหราชอาณาจักรใช้ในการออกแบบคำถามประชามติเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งถูกปรับหลายครั้งก่อนจะออกมาเป็นคำถามที่เขียนด้วยข้อความอย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลางว่า “สหราชอาณาจักรควรออกจากสหภาพยุโรป หรือ ควรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป?” โดย 2 ตัวเลือกคำตอบจะถูกเขียนว่า “ควรให้ออก” vs. “ควรให้คงเป็นสมาชิก” แทนที่จะเป็นตัวเลือกระหว่าง “เห็นด้วย” vs. “ไม่เห็นด้วย” ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนเคยทักท้วงว่าจะทำให้คนที่ไม่แน่ใจ มีแนวโน้มจะตอบว่า “เห็นด้วย” มากกว่า เพราะเป็นการตอบในเชิงบวก

 

4. รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐสภาปิดสวิตช์ สว. ได้ โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน

ที่ผ่านมามักมีกลุ่มคนที่แย้งว่า "จะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร รัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้ว” หรือ “ถ้าอยากแก้ ถามประชาชนหรือยัง" แต่โดยหลักการแล้ว คนที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในประชามติที่เขามักพูดถึง คือการโหวตรับทั้งร่าง ซึ่งเท่ากับพวกเขายอมรับมาตรา 256 ที่เปิดช่องให้รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นได้ รวมถึงประเด็นการยกเลิกอำนาจ สว. เลือกนายกฯ

หากจะหยิบยกประชามติมาเพื่อให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องยอมรับมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญเช่นกัน ที่อนุญาตให้มีการแก้ไขมาตรา 272 โดยไม่ต้องทำประชามติ

 

5. สว. บางคน มีพฤติกรรมย้อนแย้งกับหลักการที่ตนเองหยิบยกมาพูด อ้างประชามติแค่ในกรณีที่ตนจะเสียประโยชน์ หากสังเกตจากพฤติกรรมการลงคะแนนที่ผ่านมา สว. หลายคนก็มีพฤติกรรมที่ย้อนแย้งกับหลักการที่ตัวเองหยิบยกมา

เพราะในขณะที่ สว. บางคน ชอบกล่าวหากลุ่มคนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือปิดสวิตช์ ส.ว. ว่าพวกเขาไม่เคารพเสียงของประชาชนในประชามติ แต่ สว. เหล่านี้เองก็เคยโหวตเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้ว โดยเมื่อ มิ.ย. 2564 (https://elect.in.th/convote-24jun21/) ส.ว. 210 จาก 250 คน (คิดเป็นถึง 84%) ได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง

 

การที่ สว. หลายคนจาก 210 คนนี้ มักหยิบยกเหตุผลเรื่องประชามติมาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจ สว. เลือกนายกฯ แต่กลับโหวตเห็นด้วยได้กับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ยิ่งชวนให้เกิดข้อสงสัยว่า ส.ว. เหล่านี้หยิบยกเรื่องประชามติขึ้นมา ไม่ใช่เพราะพวกเขาเชื่อในหลักการนี้จริง แต่หยิบยกเรื่องประชามติขึ้นมา เพื่อเป็นเพียงข้ออ้างในการขัดขวางการตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกฯ

 

ในเมื่อวุฒิสภากำลังจะได้รับการจัดสรรงบในปี 2566 ถึง 28 ล้านบาทในการ “เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย” จึงขอยืนยันสิ่งที่ได้อภิปรายไว้ในรัฐสภาระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ว่าหากวุฒิสภา ยังอยากจะของบประมาณจากภาษีประชาชน เพื่อไปสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตย ผมขอชวนให้ท่านปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เริ่มต้นด้วยการโหวตเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่จะเข้าสภาฯในวันพุธ

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ