ข่าว

"ทิพานัน" ชี้ ศึกซักฟอกกลายเป็นเวทีไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน ยกข้อกฎหมายตอก "ทะแนะปิยบุตร"

"ทิพานัน" ชี้ ศึกซักฟอกกลายเป็นเวทีไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน ยกข้อกฎหมายตอก "ทะแนะปิยบุตร"

21 ก.พ. 2564

"ทิพานัน" ชี้ ศึกซักฟอกกลายเป็นเวทีไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน ยกข้อกฎหมายตอก "ทะแนะปิยบุตร" ชัด ไม่เปิดช่องพาดพิงสถาบัน แต่นักกฎหมายศรีธนญชัยดิ้นหา "รูลอด" แต่ไม่รอด

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2564 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ  กล่าวถึงกรณีที่สภาฯลงมติ 272 ต่อ 206 เสียง ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ไปพร้อมด้วยรัฐมนตรีรวม10คนว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์สามารถชี้แจงได้กระจ่างชัดทุกประเด็น ทำลายน้ำหนักของฝ่ายค้าน เหนืออื่นใดคือความมุ่งมั่นและจริงใจในการบริหารประเทศ โดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีทุกคนที่มีความตั้งใจในการทำหน้าที่ ประกอบกับข้อมูลของฝ่ายค้านที่ไม่น่าเชื่อถือ ดังที่ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.7 ระบุ ว่าการอภิปรายพูดเรื่องเดิมๆ รู้อยู่แล้ว เอาข้อมูลจากสื่อมาพูด ขาดหลักฐานใหม่ จึงไม่แปลกที่ร้อยละ 97.5 ระบุ รู้สึกผิดหวังต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งเท่ากับเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลายเป็นจุดอ่อนของฝ่ายค้าน กลายเป็นเวทีที่ประจานตนเอง ให้ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทิพานัน' ซัด 'ปิยบุตร' ดันปฏิรูปสถาบันฯเข้าสภา เหมือนไม่อยากให้แก้รธน.สำเร็จ

 

ในขณะที่รัฐบาลหลังผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ประชาชนเชื่อมั่นและอยู่ยาวจนครบเทอม ซึ่งนับจากนี้จะได้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปน.ส.ทิพานัน กล่าว
 
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งน่าผิดหวังที่สุด คือความพยายามพูดพาดพิงสถาบันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่จำเป็น และไม่เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ซึ่งประชาชนรู้เท่าทัน แม้แต่ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังแสดงออกด้วยการลงมติสวนทางกับพรรคถึง4 คน สะท้อนถึงการต่อต้านกรณีดังกล่าว แต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กลับตะแบงอ้างว่า "การอภิปรายพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้" โดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 และข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 39 ที่ให้บุคคลภายนอกผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้ามาชี้แจงได้ภายใน 3 เดือน และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ มาอ้าง โดยพยายามหา "รูลอด" ช่องกฎหมาย แบบนักกฎหมาย "ศรีธนญชัย" เพราะที่ยกมาอ้างนั้นเป็นเพียงมาตรการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นของบุคคลภายนอกที่ถูกละเมิดเท่านั้น ไม่ได้หมายความตามที่นายปิยบุตรตีความเข้าข้างตัวเอง

 

ใจความสำคัญของเอกสิทธิ์ ส.ส. ในเรื่องนี้นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 2 บัญญัติชัดเจนว่า “เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดฯ ปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น” และรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 บัญญัติชัดเจนว่า “ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล” และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 69 ที่กำหนดว่า ’ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น’ ฉะนั้น ผู้อภิปรายย่อมตระหนักดีว่า การอภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาอยู่แล้ว จึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองให้พูดพาดพิงถึงบุคคลภายนอกและพาดพิงสถาบันฯ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะในกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมก็ไม่มีข้อไหนเปิดช่องให้ทำได้ตามที่นายปิยบุตรพยายามบิดเบือนแต่อย่างใด ซึ่งนายปิยบุตรเองก็คงทราบดีว่านำข้ออ้างดังกล่าวไปอ้างในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นนายปิยบุตริเสนอตัวเป็นทนายแก้ต่างในคดีมาตรา112 ให้แกนนำม็อบราษฎรเลย เพราะรู้ดีว่าอย่างไรก็ไม่รอด ดังนั้นขอให้นายปิยบุตรหยุดทำตัวเป็น “ทะแนะ” พูดบิดเบือนกฎหมายหลอกประชาชน