ข่าว

กกต.แจงเหตุตีตก 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่ผิด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกต.ชี้แจงเหตุตีตก 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่ผิด ยึดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก "ภท.- ปชท.-พท." รอด เพราะเป็นยอดหนี้คงค้างที่กู้ยืมตั้งแต่ปี 55 ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี ส่วนเอกสารงบการเงินสลับหน้าพลาดจากขั้นตอนจัดไฟล์

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ออกเอกสารชี้แจงกรณียุติเรื่องการตรวจสอบงบการเงินของ 31พรรคการเมืองที่กู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง (ยกเว้นกรณีพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ) ว่า การแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย การดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและสำนักงานกกต. ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นไปตามแนวทางเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าสถานะของเงินกู้ยืมไม่ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 มาตรา 62 แต่เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง

การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งการให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า หรือการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือเป็นการได้เงินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย ที่โดยปกติต้องจ่าย ถือเป็นประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 4 ของกฎหมายเดียวกัน และต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสอง และภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการบริจาค และการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 และ 72

ทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น มาตรา 66 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคฯ มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี
และมาตรา 72 กำหนดให้การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 66 ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตามถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้นซึ่งการตรวจสอบงบการเงินของทุกพรรคการเมือง นับแต่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 60 มีผลบังคับใช้ พบว่ามี 3 พรรคการเมืองที่งบการเงินประจำปี 2561 กู้ยืมเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท คือ พรรคภูมิใจไทย 30 ล้านบาท พรรคประชากรไทย 12 ล้านบาทและพรรคเพื่อไทย 13 ล้านบาท แต่เป็นกรณีที่พรรคทั้งหมดกู้ยืมมาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่ได้ใช้เงินคืน จึงเป็นยอดหนี้คงค้างไว้ในงบการเงินปี 2561 และในแต่ละปีเป็นยอดเงินกู้ยืมไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี จึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 62 และมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

สำหรับกรณีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่องงบการเงินของพรรคการเมืองประจำปี 2561 ที่ลงประกาศในเว็บไซด์ของสำนักงานกกต.ไปแล้วจำนวน 79 พรรค รวม 609 หน้า ภายหลังตรวจสอบพบว่ามีเอกสารบันทึกข้อความเกี่ยวกับรายงานการรับบริจาคเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดลงประกาศไปด้วย ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับงบการเงินของพรรคการเมือง จึงนำเอกสารดังกล่าวออกจากเว็บไซด์ของสำนักงานกกต. ทำให้เอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองเหลือจำนวน 608 หน้า ซึ่งสามารถดูได้ที่เว็บไซด์กกต.

 ทั้งนี้งบการเงินของพรรคการเมืองต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบ รับรองและต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติและหัวหน้าพรรคต้องรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมืองก่อนจัดส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งต้องสอดคล้องกับรายงานการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและระบบบัญชีของพรรคการเมือง จึงไม่มีผู้ใดแก้ไขงบการเงินของพรรคการเมืองที่ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ผิดไปจากงบการเงินที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่พรรคได้ 
อย่างไรก็ตาม กกต. ยอมรับว่า เอกสารงบฯการเงินของพรรคการเมืองสลับหน้าจริงโดยเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนจัดไฟล์  ซึ่งกกต.จะแก้ไขลำดับเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองที่สลับหน้ากันให้ถูกต้องต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ