ข่าว

ดีอีเอส ผนึก กสทช.-ไอเอสพี สั่งลุยเว็บผิดกฎหมาย เปิดช่องปชช.แจ้งเบาะแส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ กสทช.-ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เดินหน้านโยบายความปลอดภัยทางออนไลน์ เปิดเพจ "อาสา จับตา ออนไลน์" และสายด่วนรับแจ้งข้อมูลเว็บไซต์ผิดกฎหมายจากประชาชน เผย 7 เดือนลุยปิดไปแล้วกว่า 7,000 ยูอาร์แอล

 

วันที่ 30 ก.ค. 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ถึงมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางออนไลน์ ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563

 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.2563) จากจำนวนที่กระทรวงฯได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล

 

สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆบ้าง

 

 

ทั้งนี้ ดีอีเอสได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับ บก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะ รมว.ดิจิทัลฯ ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆที่ได้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีขั้นตอน เริ่มจากรับแจ้งเว็บไซต์จากประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานพยานที่ครบถ้วน และมีขั้นตอนของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหรือลบข้อมูลต่อไป จากนั้นขั้นตอนสำคัญคือ หากได้คำสั่งศาลก็จะมีการส่งให้กับผู้บริการอินเทอร์เน็ต และส่งคำสั่งศาลให้กับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก /ยูทูบ /ทวิตเตอร์ /เพื่อดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อไป โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับไอเอสพี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ลดลง

 

พร้อมกันนี้ กระทรวงดิจิทัลฯเห็นความสำคัญว่าต้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ที่มีการกระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์ หรือผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

ล่าสุดจึงได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก "อาสา จับตา ออนไลน์" เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง และพิจารณาตามข้อกฎหมายและตอบกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141 6747

 

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือทางออนไลน์ คือ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560" ซึ่งมีบทบัญญัติที่มีการกำหนดความผิดและกำหนดโทษทางอาญา สำหรับการเผยแพร่ หรือสร้างข่าวปลอมในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในมาตรา 14 มาตร 15 และมาตรา 16 ที่บัญญัติถึงการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
 
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา 14

 

มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียงดังกล่าว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

โดยที่ผ่านมา ได้มีการใช้มาตรา 14 และมาตรา 15 และมาตรา 16 จัดการกับปัญหา ผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาแล้วหลายคดี เช่น การกดแชร์ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเจตนาทำให้ผู้อื่นนั้นเสียหายก็มีความผิดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีข้อสังเกตบางประการว่ากฎหมายไทยก็ยังไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการลบหรือสั่งให้ลบ หรือจัดการกับข้อมูลอันเป็นเท็จนั้นๆ เหมือนกฎหมายในต่างประเทศ

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14 และ 15 กับความผิดในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดลักษณะหมิ่นประมาท มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็บังคับใช้กับกรณีที่ต่างกัน โดยความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะครอบคลุมถึงเพียงการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ไม่รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นจริง แต่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายบุคคลอื่นแต่อย่างใด ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นจะรวมถึงการใช้ข้อมูลที่เป็นความจริงและเท็จอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และที่สำคัญเมื่อส่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามมาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่น และความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งเรื่องของข่าวปลอมโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อธำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของประชาชนทุกคน โดยเราจะมุ่งเน้นไปยังข่าวปลอม เฉพาะที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนในวงกว้าง แต่จะไม่เข้าไปจัดการกับข่าวที่เพียงกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

 

ท้ายนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวฝากข้อห่วงใยเรื่องที่ห้ามทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่

 

1. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ชอบ 
2. แก้ไข ดัดแปลง หรือทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหาย 
3. ส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น หรือส่งอีเมล์สแปม 
4. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลทางด้านความมั่นคงโดยมิชอบ
5. จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด 6. ข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 
7. ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจกับผู้ร่วมกระทำความผิด 
8. ตัดต่อเติม หรือดัดแปลงภาพ 
9. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชน ต้องกระทำโดยปกปิดไม่ให้ทราบตัวตน 
10. เผยแพร่เนื้อหาลามก อนาจาร 
11. กด Like & Share ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล 
12. แสดงความคิดเห็นที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
13. ละเมิดลิขสิทธิ์ นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ