ข่าว

ธัญญ์วาริน ชี้ เคอร์ฟิว ต้องปูพรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส.ส.ก้าวไกล แนะรัฐบาล หากประกาศ "เคอร์ฟิว" ต้องปูพรมตรวจให้ทั่วถึง

 

 

               ธัญญ์วาริน แนะรัฐบาลหากประกาศ "เคอร์ฟิว" ต้องปูพรมตรวจให้ทั่วถึง - ชี้ สัดส่วน "การตรวจโควิด-19" 322 รายต่อประชากรล้านคน

 

               เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาศักยภาพการตรวจเชื้อโควิด-19 ในเชิงปริมาณ และการกระจายเครื่องตรวจและน้ำยา ที่การขนส่งยังมีปัญหาเพราะศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยธัญญ์วาริน ระบุว่า 1 สัปดาห์ผ่านไปหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการต่างๆ เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา มีคำสั่งเคอร์ฟิวจากหลายจังหวัด มีการตั้งด่านตรวจคนเดินทางระหว่างจังหวัด บางจังหวัดประกาศล็อกดาวน์ห้ามคนเข้าออกพื้นที่แล้ว และล่าสุดได้มีการประกาศเคอร์ฟิวช่วง 4 ทุ่ม-ตี 4

 

               ธัญญ์วาริน กล่าวต่อว่า สิ่งที่เรายังไม่เห็นก็คือการตรวจหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก จนถึงวันนี้หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า "พียูไอ" คำนี้ย่อมาจาก Patient Under Investigation หมายถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งก็คือคนที่มีอาการและประวัติเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดถึงวันที่ 1 เม.ย. ไทยมี PUI ทั้งหมด 21,603 ราย ค่าเฉลี่ยการตรวจ pui ใหม่ ตกวันละ 1,190 ราย ตรวจพบเชื้อเฉลี่ยวันละ 120 ราย หรือราว 10% เท่ากับว่าเรามีสัดส่วนการตรวจหาเชื้อ 322 รายต่อประชากรล้านคน ในขณะที่เกาหลีใต้ที่เป็นต้นแบบของการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบปูพรมตรวจหาเชื้อ 5,200 รายต่อประชากรล้านคน

 

               "ปัญหาคอขวดในการตรวจหนีไม่พ้นการต้องเพิ่มศักยภาพในการตรวจ จัดหาน้ำยา และเครื่องตรวจที่เพียงพอกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่เริ่มมีการระบาดหนัก  เพราะทุกวันนี้จังหวัดที่ยังไม่มีเครื่องและ ยังจะต้องส่งตัวอย่างเข้ามาในกรุงเทพ ทำให้เสียเวลาไปกับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่แล้วองค์การอนามัยโลกออกมาให้ความเห็นว่า การล็อกดาวน์จะไม่มีประโยชน์หากไม่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด สอบสวนโรค และแยกตัวผู้ติดเชื้อและผู้ที่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อออกมากักตัว ไม่อย่างนั้นแล้วทันทีที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีก

 

               ธัญญ์วาริน กล่าวต่อว่า สำหรับในกรณีของประเทศไทยถึงแม้มาตรการล็อกดาวน์จะยังไม่มีเข้มข้นเท่าประเทศอื่น แต่ถ้าไม่มีปูพรมตรวจ ก็ไม่สามารถแยกผู้ป่วยเพื่อทำให้เข้าถึงการรักษาและหาทางป้องกันได้ ต่อให้สถานการณ์ดีขึ้น เลิกมาตรการรักษาระยะห่าง ปัญหาเดิมก็จะวนลูปกลับมาอีก เพราะไม่รู้ว่าใครมีเชื้อคงเหลืออยู่บ้างและไม่มีการแยกตัวออกมา การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะแก้ปัญหาสำเร็จต้องหนุนการตรวจอย่างเข้มข้นไปพร้อมกัน และสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอยู่ตอนนี้คือ ความพยายามของรัฐบาลที่จะปกปิดความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การขาดแคลนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งน้ำยาตรวจ เครื่องตรวจ ชุด PPE หน้ากากอนามัย และ FACE-SHIELD 

 

               "บุคลากรทางการแพทย์ออกมาพูดถึงความเดือดร้อนความขาดแคลน โพสต์รูปใส่ชุดกันฝนแทนชุด PPE ใส่ถุงพลาสติกแทนรองเท้ากันเชื้อ ทำ FACE-SHIELD ใส่กันเอง จนมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ ซึ่งก็ส่งผลให้ต้องไปกักตัวจนต้องปิดโรงพยาบาล ถือว่าเป็นการลดกำลังการรักษาไปอีก เมื่อความจริงต่างๆปรากฏ ก็มีคำสั่งมาจัดการปิดปากไม่ให้พูดความจริง ซึ่งประชาชนก็ต้องระดมกันทำอุปกรณ์ต่างๆส่งไปช่วยเหลือตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้นถ้าประกาศเคอร์ฟิว แต่ไม่มีการปูพรมตรวจให้ทั่วถึง และไม่จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ ก็ไม่สามารถล็อคดาวน์เชื้อโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน" ธัญญ์วาริน กล่าว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ