ข่าว

ศิริราช แนะนำกลุ่มเสี่ยง COVID-19 มีอาการอย่าปิดบัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คณะแพทย์ศิริราช" แนะนำ กลุ่มเสี่ยงอย่าใกล้ชิดผู้อื่นน้อย 1 เมตร -ทำความสะอาดมือประจำ-ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน-หากพูดคุยให้สวมหน้ากากอนามัย-ส่วนเด็กหากมีไข้ควรหยุดเรียนก่อน ไม่ห่วงโรงเรียนเข้าใจตามนโยบายรัฐบาล

 



               27 ก.พ.63 - ที่ห้อง D 204 อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช  "ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อนภาควิชาอายุรศาสตร์ และผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัส COVID-19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งรับทราบวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของประชาชนกลุ่มเสี่ยง
 

 

 

 

             สืบเนื่องจากที่มีการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บังคับบัญชา หรือบุคลากรทางการแพทย์หลังมีโอกาสสัมผัสโรค เช่น การเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน , ฮ่องกง , มาเก๊า , ไต้หวัน , ญี่ปุ่น , สิงคโปร์ , เกาหลีใต้ รวมทั้งอิตาลี , อิหร่าน หรือเมื่อมีอาการไข้-ไอ-มีน้ำมูก-หายใจลำบาก แล้วไปเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลแต่ไม่ยอมเปิดเผยประวัติที่แท้จริงทำให้บุคคลใกล้ชิดทั้งที่บ้าน-ที่ทำงาน หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทันเตรียมตัวป้องกันการติดต่ออย่างถูกต้อง อันอาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง
 

 

              โดย "ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์" อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศประกอบกับการเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการระบาด จากการนำเชื้อจากแหล่งระบาดมาแพร่ต่อ แม้จะคาดกันว่าสุดท้าย COVID-19 จะระบาดทั่วโลก แต่ทุกประเทศต้องการให้มีการชะลอให้ช้าที่สุด มีผู้ป่วยน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขที่มีสามารถดูแลรองรับผู้ป่วยได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการ และยังจะทำให้เกิดความพร้อมทั้งเครื่องมือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการและยามากขึ้น 
 

 

              จึงขอความร่วมมือให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด และรีบวินิจฉัยแยกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการระบาด คือ การประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ได้แก่ ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศจีน , ฮ่องกง , มาเก๊า , ไต้หวัน , ญี่ปุ่น, , สิงคโปร์ , เกาหลีใต้ รวมทั้งอิตาลี และอิหร่าน ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยไม่แยกตัวหลังจากเดินทางกลับ ทำให้มีโอกาสไปแพร่เชื้อได้ต่อเนื่อง และไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเมื่อเจ็บปวย ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า 
 

           

               " ณ วันนี้ เราอยากให้กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับไวรัสตัวนี้ แสดงตนให้รับทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการตามมาตรการที่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้อยากให้ผู้ใดก็แล้วแต่ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตระหนักติดตามข้อมูลทันเหตุการณ์จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มที่มีโอกาสจะสัมผัสโดยตรงกับกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน หรืองานส่วนติดต่อ/บริการกับต่างชาติ ต้องระวังไม่เป็นส่วนหนึ่งการแพร่กระจายโรค โดยการแยกตัวจนกว่าจะพันระยะฟักตัวของโรค ต้องควบคุมให้ดี และหากเจ็บป่วยต้องให้ประวัติที่แท้จริงเมื่อเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย  ขอย้ำว่า ถ้ามีอย่าปิดบัง ชอให้แจ้งตามความเป็นจริง" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์" อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวและว่า กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อเดินทางไปโรงพยาบาลระหว่างนั้นต้องสวมหน้ากาก อย่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลจุดแรกต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลเขาก็จะมีกระบวนการเช็คตรวจสอบ
 


              ขณะที่ "ศ.พญ.ยุพิน" หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ กล่าวถึงคำแนะนำสำหรับประชาชนและครอบครัวที่เดินทางไปต่างประเทศ ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า เมื่อกลับถึงไทยแล้วต้องโทรแจ้งผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าเพื่อขอลางาน 14 วัน พร้อมกับแยกพื้นที่อาศัยกับคนอื่นในบ้านอยู่ห่างคนใกล้ชิดอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรังต้องทำความสะอาดมือเป็นประจำไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น , ไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่ชุมชน และควรจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้คนใกล้ชิดในบ้านด้วย 
 

 

           ส่วนคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง อย่าใกล้ชิดผู้เสี่ยงอย่างน้อย 1 เมตร , ทำความสะอาดมือเป็นประจำ , ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน , หากจำเป็นต้องติดต่อพูดคุยให้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องเฝ้าระวังอาการป่วยของตัวเอง การมีไข้ให้ตรวจวัดอุณหภูมิวันละ 3 ครั้งว่าเกิน 37.5 องศาเซลเซียสหรือไม่ และระบบทางเดินหายใจผิดปกติหรือไม่ หากมีทั้ง2 อาการถือว่ามีโอกาสติดเชื้อสูง ควรติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้สุดหรือตามสิทธิ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ โดยการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่าง เมื่อถึงโรงพยาบาลให้แจ้งทันทีว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง COVID-19 หรือสอบถามสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 
 

 

             ด้าน "ศ.พญ.กุลกัญญา" ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการปฎิบัติตัวในกลุ่มเด็กว่า โรคนี้สามารถติดต่อสู่เด็กได้ด้วย ซึ่งเด็กจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ หากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว ควรให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้าน อย่ากังวลเรื่องการสอบเพราะเชื่อว่าโรงเรียนเข้าใจเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการควบคุมออกมาแล้ว 
 

 

                ส่วนเด็กเล็กไม่ควรพาไปเดย์แคร์หรือไปพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากเด็กจะมีน้ำมูกน้ำลาย และอาจเกิดการตกค้างอยู่บริเวณดังกล่าว ขณะที่เด็กๆ อาจไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ก็ไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญควรเน้นให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล บ่อยๆ
 

 

                กรณีมีเด็กร่วมเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงด้วย ให้รีบแจ้งโรงเรียน และหยุดไปเรียนให้อยู่บ้าน ไม่ไปในสถานที่สาธารณะสถานรับเลี้ยงเด็ก และไม่ให้เล่นกับเด็กอื่นๆ เป็นเวลา 14 วันหลังจากเดินทางกลับ ซึ่งหากมีอาการเจ็บป่วยไม่ว่ามากหรือน้อยก็ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนกรณีที่มีเด็กอยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ก็ควรแยกเด็กให้ห่างออก และปฏิบัติตามหลักข งคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ