ข่าว

ธีรยุทธ ชี้กระบวนทัศน์ความเมือง ทำชาติสู่วิกฤตใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทัศนะอันตราย ธีรยุทธ บุญมี ชี้กระบวนทัศน์ความเมือง ทำชาติสู่วิกฤตใหม่

       ควันหลงรำลึกงาน 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ซึ่งนำโดยกลุ่มนิสิต นักศึกษาหลากหลายสถาบัน เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่มาจาก "ฝ่ายรัฐบาล"

     หนึ่งในแกนนำ และอยู่ร่วมเหตุการณ์ "อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี" อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ปัจจุบันเป็นนักวิชาการ และสอนหนังสือที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ เพื่อนำรหัสของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ย้อนเตือนสติ คนไทยที่กงล้อประวัติศาสตร์การเมือง ดูท่าจะวนมาสู่วิกฤตการเมืองอีกครั้ง ในหัวข้อ "ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่..... ประเทศไทย"

 

 

     ความตอนต้น "อ.ธีรยุทธ" ย้ำภาพสังคมนายทุน ที่อยู่เหนือการเมือง มากขึ้นทุกที แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ การปรับกระบวนทัศน์ หรือ แม่แบบความคิดในสังคมไทย ซึ่งก่อตัวเมื่อไม่นาน แต่ระบบความคิดใหม่ที่ก่อตัวไม่นานนั้น พบการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากในสังคมไทย

ธีรยุทธ ชี้กระบวนทัศน์ความเมือง ทำชาติสู่วิกฤตใหม่

     ซึ่งกระบวนความคิดที่ถูกฉายภาพนั้น ไม่ใช่กระแสการปฏิรูปประเทศไทย ที่ถูกเรียกร้อง เพราะความต้องการให้ประเทศปฏิรูปนั้น ถูกนำไปสู่ภาวะล้มเหลว ด้วยน้ำมือของ​ "กลุ่มของทหาร"

     "ปี 2535 - 2557 สังคมเริ่มเห็นทางออกจากที่พรรคการเมืองใช้อำนาจมิชอบ และโกงกิน คือ การปฏิรูป จนกลายเป็นฉันทามติร่วมกัน มีการเข้าร่วมจำนวนมาก มีการปฏิรูปสีเขียว และมวลชนเคลื่อนไหวนับล้านคนใน 2 รอบ แต่ไม่สำเร็จ หลังจากการรัฐประหาร 2 รอบ ทำให้พลังอนุรักษ์ ข้าราชการ และทหารมีอำนาจมากขึ้น และอยู่นานร่วม 7 ปี พวกเขาไม่มีความตั้งใจและพลังใจที่จะปฏิรูป เมื่อถึงตอนนี้ยุคนี้ กำลังจบสิ้นลง ขณะที่ยุคปัจจุบันผมมองว่าคือยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้ เหมือนกับติดกับดัก แม้จะมีปรากฎการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางที่ไม่พอใจระบบเก่า แต่ไม่พบยุทธศาสตร์หลักเพื่อก้าวข้าวความขัดแย้ง มีเพียงการนำเสนอประเด็นเป็นรายประเด็นเท่านั้น"

       กับสถานการณ์ในประเทศยุคปัจจุบันที่เขามองว่าเป็นเหมือนกับการติดกับดักวิกฤต "อ.ธีรยุทธ" ชี้ว่า คือ การมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู ซึ่งอธิบายได้ว่า เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม และไร้รูปแบบการต่อสู้ ผ่านกระบวนการโดยรวมที่เรียกว่า "กระบวนทัศน์ความเมือง"

      "กระบวนทัศน์ว่าด้วยความเมือง คือ ไม่เชื่อกับเสรีประชาธิปไตย ที่มีลักษณะคล้ายกับบางคนที่บอกว่ามีการแทรกแซงและแทรกซึม ทั้งนี้พวกนี้ยังมีมุมมองที่มอง มองคนอื่นเป็นศัตรูที่ล้มล้างโดยนำความคิดนี้มาใช้ แม้จะไม่มีวิกฤตใดๆ เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าจากการเล่นการเมือง เปลี่ยนไปเล่นความเมือง จากนักการเมือง เป็นนักความเมือง จากพรรคการเมือง เป็นพรรคความเมือง จากทหารฝ่ายความมั่นคง เป็นทหารฝ่ายความเมือง จะใช้ทุกวิธีการที่จะขยายความเกินเหตุเกินผล สร้างความบิด และต่อเติมความรวมทั้งคดีความเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ รวมถึงใช้เฟกนิวส์ต่างๆ เหมือนที่ทหารบอกว่ามีสงครามที่ไร้รูปแบบ จึงเป็นกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า "ความเมือง" จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น"

ธีรยุทธ ชี้กระบวนทัศน์ความเมือง ทำชาติสู่วิกฤตใหม่

      ทั้งนี้แกนนำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม มองภาพด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงจากระบบการเมืองปกติ ที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ถูกเปลี่ยนแปลงในความคิด ทั้งการเลือกตั้งหลังสุดที่เพิ่มประเด็นความคิดเก่า และความคิดใหม่ แม้จะมองว่ามีความสมานฉันท์ แต่แท้จริงแล้วกลับพบความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น

      นอกจากนั้นในการเคลื่อนไหวของประชาชน ที่แบ่งฝ่ายเป็น เสื้อเหลือง และเสื้อแดง สามารถเข้าใจในประเด็นได้ แต่ปัจจุบันพบการสนับสนุน คือ อเมริกาสนับสนุนกลุ่มแดง ขณะนี้จีนหนุนฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์ ดังนั้นเมื่อถูกดึงไปลักษณะดังกล่าว ทำให้วังวนความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ และทำลายล้างกันโดยไม่จำกัดรูปแบบ เชื่อว่าเป็นความผิดพลาดจากทหาร และรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

      เมื่อรัฐบาลและทหารจัดการวิกฤตที่ผิดพลาด จึงนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ "ร้ายแรง"

       "ข้อผิดพลาดต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ คือ การวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถนำข้อต่อสู้ทั้ง 2 ฝ่ายถกเถียงมาใช้ คือ การปฏิรูป การแก้ปัญหาปากท้อง และสิ่งที่ทหารทำจึงเป็นเรื่องจิตวิทยา และไม่เป็นโล้เป็นพาย ทำให้ทหารต้องวางแผนเพื่ออยู่ยาว ทั้งการเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้วยการอ้างว่ามีปัญหาที่ยังแก้ไขไม่จบ สิ่งที่ทหารพูดไม่กี่วันนี้ว่าโลกอยู่ในภาวะสงครามรูปแบบใหม่ หรือ สงครามไฮบริด หรือสงคราม 4.0 เพราะเขามองว่าภาวะสงครามยังมีไม่จบสิ้น ดังนั้นสิ่งที่ทหารกำลังคิดและทำต่อไปกับประเทศ ผมเป็นห่วง โดยเฉพาะการเพิ่มความเข้มข้นทางการทหาร และการมองประเด็นที่เกินเลยไปจากความจริง อาจนำไปสู่โอกาสที่เกิดสงครามที่แท้จริงได้"​

     ในช่วงท้ายของบรรยายพิเศษ "อ.ธีรยุทธ" เสนอความเห็นต่อรัฐบาลและทหาร ไว้ด้วยว่า เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความเมือง ต้องหยุดการทำลายล้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่นการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีความแบบไม่สมควร ทั้งนี้มองด้วยว่าทหารไม่อยู่ในภาวะที่ต้องสู้รบกับประชาชน เพราะสังคมปัจจุบันมีวิธีแก้ไขด้วยกฎหมาย

      "ทหารควรอยู่ในกรม ในกอง กับประเด็นที่รัฐบาลประกาศภาวะสงครามกับประชาชนบางกลุ่ม ไม่เป็นผลดีกับบ้านเมือง ดังนั้นองค์กรศาลและระบบยุติธรรมต้องตรึกตรอง ถอย หรือลดบทบาท เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงจากกระบวนทัศน์ความเมือง ขณะที่การมีอยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผมเชื่อว่าหลังจากผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเขาจะอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง สิ่งที่อยากพูดนอกเหนือการให้กำลังใจ คือ การเร่งจัดการกับปัญหาและการปฏิรูปที่ฝ่อตัว สำคัญ 2 เรื่อง คือ การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ"

      กับ 2 ประเด็นใหญ่ที่ "นักวิชาการซึ่งติดตามการเมือง" เสนอแนะไปนั้น ถูกขยายความไว้ด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษา ต้องเลือกปฏิรูปบางด้าน โดยอาศัยบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาและอาชีพ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งประเทศ แต่ควรเน้นปฏิรูปคุณภาพของนักศึกษาที่จะเผชิญกับกระแสดิสรัปชั่นของโลก ขณะที่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และความยากจนของประชาชนนั้น ล่าสุดจากการติดตามสถานการณ์พบสถานการณ์ที่เรียกว่า รวยกระจุก จนกระจาย และกลางกระจ้อน คือ แคระ แกร็น เพราะปัญหาที่คนจน คนรวย มีปัญหาแล้ว ยังขยายไปสู่ชนชั้นกลางแล้ว ดังนั้นปัญหาที่เสนอให้แก้ไข แม้จะยาก แต่ควรทำ 

     หลังปิดการบรรยาย "อ.ธีรยุทธ" รับคำถามเพิ่มเติม ต่อประเด็นวิฤตจาก "กระบวนทัศน์ความเมือง" ที่หากไม่แก้ไข จุดที่จะเป็นไปต่อไป คืออะไร คำตอบที่ได้ คือ 

      "วิกฤตจะไม่มีทางออก ซึ่งผมเป็นห่วง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดจากการมองคู่ต่อสู้ว่าเป็นคู่ที่ต้องทำลายล้างกัน เหมือนอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการสร้างวาทกรรมที่รุนแรง และแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ จากประวัติศาสตร์หากไม่หยุดยั้ง ความรุนแรงจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และทำลายล้างคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอื่น เช่น กรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกมองว่าเป็น ฮองเต้ซินโดรม ผลักให้เป็นคนส่วนน้อย สร้างความเป็นอื่น ถอดความถูกต้องจำเป็น เช่น เป็นพลเมืองของประเทศไทย มีสิทธิ เสรีภาพในสังคม เป็นนักธุรกิจ เป็นนักวิชการให้เหลือแต่ความเปลือยเปล่า ซึ่งเหมือนกับยุคหนึ่งที่พบว่าการต่อสู้ทางการเมือง กับคอมมิวนิสต์ จนเกิดประเด็นที่ว่าฆ่าคอมมิวนิวส์ ไม่บาป ดังนั้นหากจะนำไปสู่การบิดเบือนความจริง สร้างความ ใส่ความและขยายความจะเกิดขึ้น นำไปสู่ความรุนแรง"

   คำถามต่อไปจึงมีว่า กับความรุนแรงที่ว่านั้น จะเกิดขึ้นในทางใด ระหว่าง การลุกฮือของกลุ่มพลังคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา หรือ การใช้พลังอำนาจของฝ่ายทหาร และรัฐ "นักวิชาการการเมือง" มองว่า หากเป็นพลังนักศึกษา อาจจะเกิดขึ้นยาก เว้นแต่มีประเด็นที่ทำให้เกิดการสุกงอมจริงๆ ส่วนการใช้พลังอำนาจของทหาร เช่น การรัฐประหารนั้น อาจทำได้ไม่ง่าย หากไม่มีเหตุผล แต่ในสิ่งที่ต้องน่าคิดและติดตาม คือการใช้กลไก และกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น

      ในตอนท้ายสุด "อ.ธีรยุทธ" สรุปความเห็นรวบยอดที่สุดว่า ไม่ว่าสิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ นี่คือคำเตือน เพื่อฉุดวิกฤตไม่ให้ลุกลามบานปลาย และเขายังหวังไว้ว่าสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ และขอให้ผู้นำประเทศ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ออกมาเป็นเสาหลักทางความคิดในสังคม คอยพยุงและทิศทางประเทศ ส่วนปีนี้ ของดการตั้งฉายาให้กับ ฝ่ายการเมือง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ