คอลัมนิสต์

"ธีรยุทธ์"วิพากษ์ "สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธีรยุทธ์"วิพากษ์ "สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง" : รายงาน


 

          วันที่ 10 ธันวาคม นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถาพิเศษในโอกาส 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4 เรื่อง “มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

 

 

          ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง
          สังคมประชาชาติไทยเป็นเสมือนระบบฟันเฟืองขนาดใหญ่ ที่ทุกนาทีทุกชั่วโมงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเกือบ 20 ปีที่คนไทยหมกมุ่นกับปัญหาการเมือง ก็เท่ากับว่าเราได้ปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจ สังคม ทำงานไปโดยไม่มีการปรับทิศทางให้มันเลย เราจึงพบปัญหาใหญ่มหึมาเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น ช่องว่างคนจนคนรวยกว้างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก คือคนรวย 1% คุมความมั่งคั่งประมาณ 50-60% ของประเทศ ขณะที่คนชั้นล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 10% ของประเทศ


          คุณภาพการศึกษาทุกระดับลดค่าลงอย่างน่าใจหาย งานศึกษาวิจัยด้าน STEM (STEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และการแพทย์) อ่อนด้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทรัพยากรมนุษย์ด้อยประสิทธิภาพ เด็กเกิดน้อยแต่คนแก่เพิ่มมากขึ้น คอร์รัปชั่นขยายตัวลงสู่รากหญ้า กลุ่มทุนใหญ่ก่อตัวแข็งแกร่งขึ้นจนคล้ายมีสถานะเหนือรัฐบาลและกฎหมาย ในแง่ที่ว่า “คนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุก” ยังเป็นเรื่องเล็ก แต่กลุ่มทุนใหญ่ไทยสามารถขยายอำนาจอิทธิพลผูกขาดทางเศรษฐกิจได้อย่างเกือบเด็ดขาด และขยายมาสู่อิทธิพลด้านอื่นๆ เช่น สะกดไม่ให้มีเสียงคัดค้านหรือไม่ให้มีกฎหมายออกมาจำกัดการผูกขาดสัมปทาน การค้า อิทธิพลเหนือตลาด หรือขยายตัวเข้าคุมทุกมิติของเศรษฐกิจและทุกจังหวะชีวิตประจำวันของคนไทย หากเทียบกับการเลี้ยงไก่หรือหมู ซึ่งถูกป้อนอาหารตามชนิดและขนาดเป็นเวลาตั้งแต่เกิดจนถูกเชือด
 


 
 
 
          ความไม่พร้อมของไทยในเรื่องอุตสาหกรรม4.0
          เศรษฐกิจ 4.0 คือ การเชื่อมโยงทั้งชีวิตประจำวัน ชีวิตสังคม ระบบการผลิต ออฟฟิศ โรงงาน บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ รถ การจับจ่ายซื้อขาย เข้าด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ตและระบบดิจิทัลความเร็วสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เอไอ ช่วยในการตัดสินใจ ประสานงานต่างๆ เพิ่มความสะดวกให้แก่มนุษย์ แต่ถ้ามองเชิงระบบคิด เศรษฐกิจ 4.0 จะเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมได้กลายเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร คือการแปลงทุกมิติของมนุษย์ให้เป็นดาต้า มีการประมวล (บิ๊ก) ดาต้าเหล่านี้ให้เป็น “ความรู้” (knowledge society) และให้สมาชิกสังคมนั้นใช้ความรู้นี้เป็นประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (เช่น มีข้อมูลราคาวัตถุดิบ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ให้ตรวจสอบ)


          นโยบาย 4.0 ของรัฐบาลประยุทธ์มีข้อดีในส่วนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ สังคม ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของซัพพลายเชน หรือเศรษฐกิจแบบรื้อสร้าง (disruptive economy) ความพยายามพัฒนา E-government โครงการรถไฟทางคู่ซึ่งควรจะมีมานานแล้วก็น่าชมเชย แต่ประเทศที่อยู่แถวหน้าสุดในโลกคือเยอรมนีก็ยังยอมรับว่าความรู้เกี่ยวกับ 4.0 ของเขายังไม่พอ และจำนวนบุคลากรที่จบด้าน “สะเต็ม” ของตนยังขาดอยู่ประมาณ 1-1.5 แสนคน และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก ก็ยังแค่อยู่ในประเภทประเทศที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น ส่วนประเทศที่คล้ายประเทศไทยเพราะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและมีอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมาก เช่น อิตาลี สเปน ยังลังเลที่ทุ่มเทไปสู่ 4.0 เพราะไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจสังคมของตนเองหรือไม่

 

          โครงการอีอีซี ซึ่งอ้างว่าคือการสร้างประเทศให้เป็น 4.0 ประเมินดูแล้วอาจมีเพียงไม่กี่ด้านที่มีศักยภาพ เช่น ไบโอเทค โครงการศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ซึ่งล้วนอยู่ในระดับ 2.0 3.0 ที่เหลือคือการสร้างโรงงานตามคำสั่ง สร้างถนน ท่าเรือ ฯลฯ แม้แต่วัตถุดิบชิ้นส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 จริงๆ เราอาจไม่มีศักยภาพพอจะผลิต บุคลากรช่างเทคนิคระดับสมองคนไทยยังไม่พร้อม ต้องยินยอมให้ว่าจ้างมาจากต่างประเทศ อุดมการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้แท้ที่จริงก็คือการสืบสานนโยบายเปิดเสรีการค้าการเงิน (Neoliberalism) ซึ่งชัดเจนจากการที่รัฐบาลเสนอให้อีอีซีเกือบเป็นดินแดนอิสระที่มีอิสรภาพด้านการใช้เงินตราของตัวเอง การศึกษา กฎหมายหลายๆ ด้าน การเช่าที่ดินได้ 100 ปี


          บทเรียนจากในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ คนจนบางส่วนได้ประโยชน์จากการขายที่ดิน คนชั้นกลางได้จากการเก็งกำไร คนรวยรวยมหาศาลจากตลาดเงิน แต่พอเกิดเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งรัฐต้องมาแบกรับภาระหนี้ เที่ยวนี้นายทุนถือครองที่ดินไว้เต็มที่แล้ว ยังได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ดิวตี้ฟรี ด้านรถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน โลจิสติกส์ คนกลุ่มอื่นยังไม่ได้รับประโยชน์ การทุ่มเทงบประมาณก้อนใหญ่ของรัฐบาลครั้งนี้ถ้าจะเกิดผลเชิงลบก็อาจจะไม่ส่งผลมากนัก เพราะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เนื่องจากทำกันอย่างเร่งรีบ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีส่วนร่วมจากสื่อ ประชาชน อนาคตจะเป็นอย่างไรยังต้องรอกันต่อไป


          ภาคสังคมคนรวย1% รวยล้นฟ้าคนจนท่วมประเทศรวยกระจุกจนกระจายกลางกระจ้อน


          สังคมไทยมี2ชนชั้นครึ่ง
          20 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจภาพที่ปรากฏชัดเจนขึ้นคือ ไทยมีความต่างทางรายได้สูงเป็นลำดับนำของโลก คนรวยรวยล้นฟ้า คนจนพอมีอยู่มีกินมีมากที่สุด ส่วนหนึ่งมีรายได้ดีขึ้นจากผลผลิตเกษตรบางประเภท จากการขยับเป็นผู้ประกอบการอิสระ แต่มีส่วนน้อยที่ก้าวไปเป็นชนชั้นกลางได้ ส่วนชนชั้นกลางที่คาดว่าจะขยายตัวมีรายได้สูงขึ้น จนนำพาประเทศพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปเป็นประเทศร่ำรวย ก็เป็นเพียงความฝันกลางวัน เพราะคนชั้นกลางไม่มีทั้งทุนเศรษฐกิจและทุนเครือข่ายสังคมเหมือนครอบครัวคนรวย ช่วงเวลาที่ว่ารายได้ชนชั้นกลางอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 60-70% แต่ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือที่พัก ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นหลายเท่า จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันมีแต่ชนชั้นกลางบนคือคนทำงานด้านการเงิน ครีเอทีฟ หรืออาชีพหมอ วิศวกร ฯลฯ ส่วนชั้นกลาง-กลางยุบตัวลงไปเป็นชั้นกลางล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่ขยายตัวขึ้นบน สังคมไทยปัจจุบันมีโครงสร้างเพียงสองชนชั้นครึ่ง และต้องเปลี่ยนคำขวัญเป็น “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน (แปลว่าไม่โต แคระแกร็น)”


          คอร์รัปชั่นขยายไปทุกระดับชั้น
          การคอร์รัปชั่นขยายลงสู่รากหญ้า เช่น คอร์รัปชั่นในวงการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงอุดมศึกษา ในวงการสงฆ์ สหกรณ์ครู อาจารย์ ตำรวจ จนถึงการคอร์รัปชั่นในส่วนคนพิการ คนด้อยโอกาส องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สาเหตุของการขยายตัวของคอร์รัปชั่นน่าจะเกิดจากโรคระบาดทางคุณธรรม คือคนรวยโกงได้ คนชั้นกลาง คนชั้นล่างก็โกงได้ อีกสาเหตุคือแรงบีบคั้นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านระดับล่างจึงต้องกดดันเรียกร้องให้ ส.ส. รัฐบาล จัดนโยบาย “ประชานิยม” ลดเลิกชำระหนี้ ประกันราคาพืชผล ส่วนชนชั้นกลางข้าราชการจำเป็นต้องรักษาสถานะชีวิตแบบเดิม เช่น ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาล ให้ลูกได้รับการศึกษาในเขตเมือง จึงต้องหันเข้าหาการคอร์รัปชั่น เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ เช่น กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน กลุ่มสำเร็จโครงการอบรมพิเศษของ วปอ. ตลาดหลักทรัพย์ ศาล ฯลฯ เพื่อสร้างระบบ คอนเนกชั่น สร้างเครือข่ายหรือเพิ่มอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูงซึ่งมีเครือข่ายสังคมและเศรษฐกิจพร้อมอยู่แล้ว นำไปสู่การคอร์รัปชั่นแบบใหม่ คือคอร์รัปชั่นคอนเนกชั่นในที่สุด


          คนจนไทยจนอัตลักษณ์แล้วจะรักประเทศไทยได้อย่างไร
          ความจนมีทั้งด้านความหวัง สังคม พื้นที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาจเรียกรวมๆ ว่าจนทางอัตลักษณ์ คนจนไทยจนความหวัง เป็นเหตุให้หมดไฟในการทำงาน เพราะไม่มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม คนจนอาจพอเพียงทางวัตถุ แต่ไม่พอเพียงทางโอกาส คุณภาพและวิถีชีวิต คนจนเป็นกลุ่มเดียวที่ดิ้นรนทำอาชีพหลากหลายมากที่สุด ตั้งแต่เป็นกุ๊กอาหารญี่ปุ่นหรืออิตาลี ขับแท็กซี่ ขายอาหาร ขายผักผลไม้รถเข็นหรือแผงลอย แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่สามารถยกระดับเป็นชนชั้นกลางได้ เพราะคุณภาพการศึกษาที่เขาได้รับก็ไม่ดีพอ ด้านล่างถูกกดดันจากแรงงานต่างชาติ ด้านบนหมดความหวัง มีจำนวนมากที่ไม่ยอมทำงานใช้แรงงานหันกลับไปทำนาที่บ้านซึ่งก็ไม่ดีขึ้น คนจนบางส่วนที่โชคดีอาจยังมีความหวังจากการเติบโตของการท่องเที่ยว การขายของทางอินเทอร์เน็ต เกษตรกรรม ผัก ผลไม้หลายประเภท


          คนจนไทยจนทางพื้นที่ มีพื้นที่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย คือใจกลางของเมืองใหญ่ๆ ที่ถือได้ว่ามีความพอเพียงในตัวเอง คือเพียบพร้อมทั้งในด้านที่พักอาศัย อาหารการกิน โรงเรียน โรงหนัง โรงละคร โรงพยาบาล พื้นที่อื่นๆ ไม่มีความพอเพียง จึงนิยามได้ว่าเป็นความจนทางพื้นที่ โครงการสร้างรถไฟฟ้าช่วยคนชั้นกลางแต่ขับไล่คนจนออกจากกรุงเทพฯ ไกลออกไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ วัฒนธรรม หรือบริการที่ดีทางการศึกษา การแพทย์ อาชีพ การกินอยู่ที่เหมาะสม ฯลฯ หรือโอกาสเข้าถึงน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการขาดแคลนบริการรถสาธารณะ รถไฟฟ้า บริการทางด่วนก็ราคาสูง การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติมเป็น 11 สาย เป็นวงเงินอย่างต่ำ 5 แสนล้านบาท แม้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะพอใจเพราะเกิดความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น แต่ยังนิยมใช้รถเพราะมีความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างจากรถไฟฟ้า ปัญหารถติดจึงแก้ไม่ได้ คนจนคือหาบเร่แผงลอย ร้านขายของชำ ตลาดนัดคนจน จะยิ่งถูกผลักไสออกไปขอบนอกกรุงเทพฯ สังเกตได้จากราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้า การรื้อห้องแถว ผุดตึกสูงและคอนโดที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งจะนำมาซึ่งความจนด้านต่างๆ


          อนาคตการเมืองประชาธิปไตยอิทธิพลใต้อำนาจกลุ่มทุนใหญ่
          1.มองวิกฤติการเมืองใหม่ วิกฤติการเมืองเกิดความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง ก่อนเกิดวิกฤติการเมืองไทยมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นใน 2 อย่าง คือ ในทางการเมืองเกิดกระแสการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองปี 2540 อีกมิติเกิดขึ้นพร้อมกันคือวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดจากกระแสเสรีนิยมใหม่ในโลกที่บังคับให้ไทยเปิดเสรีทางการเงิน สองเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา เช่น เกิดฉันทามติว่าปัญหาใหญ่การเมืองไทยคือการแตกแยกเป็นกลุ่มก๊วน ทางแก้คือการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นเป็นศูนย์กลางที่จะรวมกลุ่มก๊วนต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้ พลังที่จะมีศักยภาพดังกล่าวในประเทศมีเพียงบุคคลที่มีบารมี กองทัพ และกลุ่มทุนใหญ่ ความคิดนี้ทดลองใช้ครั้งแรกผ่านกลุ่มทุนทักษิณ อาศัยพลังเงินทุนรวบรวม ส.ส.มาเข้าพรรค และเพิ่ม “ประชานิยม” ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านสูงมาก แต่พรรคของ “ทักษิณ” รวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว คุกคามอำนาจทหาร ฝ่ายอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่อื่นๆ จนเกิดการต่อต้านรุนแรง เกิดรัฐประหารขึ้น 2 หน


          ช่วง 10 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวายมีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่ขึ้นประมาณเกือบ 10 กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ ไว้ได้เกือบทั้งหมด เช่น บางกลุ่มคุมสนามบิน บางกลุ่มคุมเครื่องดื่มทุกชนิด บางกลุ่มคุมพลังงาน บางกลุ่มคุมสินค้าเกษตร บางกลุ่มคุมการขายปลีก-ส่ง กลุ่มทุนอิทธิพลใหญ่นี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีการพัฒนาทุนนิยมรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ตามด้วยไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และมักเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมืองจนเกิดศัพท์เฉพาะเรียกการปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อยคือทุนอิทธิพล (oligarchy) มีดัชนีชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีอำนาจทางวัตถุ (MPI-Material Power Index) คือดัชนีอำนาจเงินที่จะโน้มน้าว จูงใจ บังคับ ให้รัฐ พรรคการเมือง ข้าราชการ สื่อ สังคม ผู้บริโภค คล้อยตาม โดยวัดจากจำนวนเท่าของความมั่งคั่งของกลุ่มเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งไทยวัดได้เป็น 221,316 เท่า มาเลเซีย 189,881 เท่า ไต้หวัน 106,207 เท่า เกาหลีใต้ 68,896 เท่า สิงคโปร์ 27,557 เท่า ฮ่องกง 112,276 เท่า ไทยเป็นรองเพียงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย


          2. คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์มาเป็นร่างฉบับมีชัย ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มทั้งจำนวนและอำนาจ ส.ว. ตั้งโดยทหาร 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การดึงกลุ่มการเมือง “ยี้” “มาร” มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐโดยไม่กังวลเสียงวิจารณ์ เป็นการการันตีเกือบ 100% ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ถ้าจะหาคำอธิบายซึ่งไม่ใช่ว่าเพราะทหารอยากอยู่ในอำนาจ อยากมีผลประโยชน์แล้ว ก็ต้องมองเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทย ซึ่งปัจจุบันคืออุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับอนุรักษ์ทางการเมืองสุดขั้ว ในทางนโยบายก็คือ “รัฐเข้มแข็ง ตลาดเติบโต” (ซึ่งก็คือทำให้การเมืองอ่อนแอ สังคม ชุมชนอ่อนแอ ไม่ออกมาคัดค้านเสรีภาพของกลุ่มธุรกิจ) เพราะความเชื่อว่าถ้าทหารกำกับการเมืองให้มั่นคง ไม่สนใจการกระจายอำนาจ เน้นความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของรัฐ แล้วปล่อยให้กลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่มีเสรีภาพในการขยายธุรกิจเต็มที่ไม่ต้องไปสกัดกั้น ก็พอเพียงที่ทำให้ประเทศมั่นคง เศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ การเมืองไทยอนาคตจึงจะเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล ของทหาร ข้าราชการ ชนชั้นนำทางความคิด และกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพล (oligarchy) ได้ในที่สุด


          3.พล.อ.ประยุทธ์คงจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำเพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คสช.ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ พฤติกรรมเลือกตั้งก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช็อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ฯลฯ และรูปแบบโดยรวมการเลือกตั้งปี 2562 ก็คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดามาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ “ประชานิยม” ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ได้รับการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐบ่งว่าจะซ้ำรอยการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเช่นกัน


          ต้องขอวิงวอน พล.อ.ประยุทธ์ กองทัพ และนายทหารที่มีวิจารณญาณ ช่วยระงับไม่ให้ฝ่ายต่างๆ ใช้อภินิหารกฎหมายหรืออำนาจอื่นๆ จนถึงขั้นมีเสียงกล่าวหาว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” หรือ “โกงการเลือกตั้ง” แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500


          ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ถ้าชนะการเลือกตั้งจะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่เริ่มต้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบคิดแบบทหาร หรือยังหลงคิดว่าตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีสิทธิชอบธรรมทุกประการ ให้มาเป็นการยอมรับความจริงของโลกยุคปัจจุบันที่มีพลังมีความคิดที่หลากหลาย ต้องมีการปรึกษาหารือ ปรองดอง และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับบทบาทการบริหารประเทศไปได้


          สร้างอนาคตการเมืองที่ดีขึ้น
          การเมืองไทยมีโอกาสดีขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีหลายฝ่ายทั้งเอกชน ธุรกิจ บุคคล กลุ่ม พรรค สถาบันต่างๆ ได้ก้าวออกมารับผิดชอบบ้านเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่หวังรอตัวบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป


          1.ยิ่งพูดเรื่องปรองดอง ยิ่งห่างความปรองดอง การเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) วาทกรรมการสามัคคีปรองดองมักใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดปัญหา แต่ถ้าใช้มากเกินไปโดยไม่ได้เสนอให้ชัดเจนว่าประชาชนควรร่วมแก้ปัญหาแท้จริงของประเทศได้อย่างไร ก็อาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายกุมอำนาจที่อยากอยู่ในอำนาจต่อ มองจากทฤษฎีประชาธิปไตยใหม่ๆ ความขัดแย้งเหลือง-แดง กปปส. ในปัจจุบันถือเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปได้ตามสภาพเหมือนเดิมได้ กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่จะช่วยสร้างภาวะ “ความแตกต่างอย่างปกติ” นี้ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะไม่มีใครใช้วาทกรรมหรือนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง


          2.มีมิติการเมืองใหม่อยู่ 4 อย่าง คือ โซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา และการแตกตัวของ “เพื่อไทย” การเกิดโซเชียลมีเดียและเครือข่ายสังคมออนไลน์มีพลังทำให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ตำรวจ ราชการ และรัฐบาล สนองตอบในหลากหลายประเด็น จึงเป็นความหวังในการปฏิรูปบางด้านและการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ส่วนปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ก็ต่อรองให้เกิดอัตลักษณ์และพื้นที่ของตัวเองในพรรคใหญ่ จนถึงขั้นตั้งพรรคของตนเองได้ เช่น พรรคอนาคตใหม่ นี้สอดคล้องความต้องการของสังคม ซึ่งต้องการสิ่งใหม่หรือปฏิเสธวัฒนธรรมอำนาจการเมืองแนวตั้งแบบบนสู่ล่างของพรรครุ่นเก่า ให้เป็นความสัมพันธ์แนวราบซึ่งเท่าเทียมกันมากกว่า นอกจากนี้บางพรรคการเมืองก็เพิ่มบทบาทสมาชิกพรรคมากขึ้น เป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้น


          ส่วนพลังบวกของจิตอาสาเป็นพลังของคนไทยที่ยุคสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกชน ต้องการทำดีตามที่ตัวเองชอบ ตัวเองสะดวก สะท้อนเป็นพลังมหาศาลของสังคมไทยในช่วงงานพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และสืบเนื่องมาเรื่อยๆ รัชกาลปัจจุบันก็ทรงให้ความสำคัญส่งเสริม “จิตอาสา” อย่างมาก ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันพลังนี้ก็อาจกลายเป็นพลังสำคัญหนึ่งของสังคมไทยที่จะปฏิรูปตนเองได้ พรรคเพื่อไทยก็เป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษา เพราะมีฐานเสียงที่หนักแน่นกว้างขวางกว่าพรรคอื่นมาได้เกือบ 2 ทศวรรษ แต่ขณะนี้เพื่อไทยแตกออกเป็นหลายพรรคย่อย ซึ่งควรส่งผลทางโครงสร้างการเมืองดีขึ้น คือมีกลุ่มการเมืองที่การตัดสินใจเป็นอิสระมากขึ้น การขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง ถ้าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรค พัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย เว้นวาทกรรมแบบเกลียดชังสุดขั้ว ก็จะทำให้การเลือกตั้งคราวหน้าเดินไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญแก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งถ้าทำโดยร่วมกันแสดงเหตุผลที่เหนือกว่าก็อาจจะทำได้สำเร็จโดยไม่ต้องเผชิญหน้าแบบปะทะรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ