ข่าว

สุวิทย์-ปนัดดา-ไพรินทร์ รอดบ่วงหุ้นสัมปทาน -"หมอธี" ไม่รอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 รมต. สุวิทย์-ปนัดดา-ไพรินทร์ รอดบ่วงหุ้นสัมปทาน ข้อเท็จจริงชัดถือหุ้นก่อนเป็นรัฐมนตรี  ส่วน "หมอธีระเกียรติ" ไม่รอด พบคู่สมรสซื้อหุ้นปูนซีเมนต์เพิ่ม  

       ศาลรัฐธรรมนูญ – 27 ส.ค.62 เวลา 14.30 น. องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ มล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรมช.ศึกษาธิการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นรมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรมช.คมนาคม  และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวกรณีถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่

 

        สุวิทย์-ปนัดดา-ไพรินทร์ รอดบ่วงหุ้นสัมปทาน -"หมอธี" ไม่รอด

     นายปัญญา อุชชาชน ตุลาการรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลได้กำหนดประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 4 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ โดยประเด็นในเรื่องการถือหุ้นจะหมายรวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนเป็นรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3  ว่าการถือหุ้นอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 

         สำหรับการถือหุ้นของมล.ปนัดดา ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายไพรินทร์ ผู้ถูกร้องที่ 3 พบว่าเป็นการถือหุ้นที่มีมาก่อนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว  

         สำหรับประเด็นความเป็นรัฐมนตรีของนายสุวิทย์ ของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสุวิทย์ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทแฟมิลี่ บิสสิเนส โซไซตี้ จำกัด โดยมีหุ้นจำนวน 19% และต่อมามีการประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้จดทะเบียนเลิกบริษัท จัดตั้งผู้ชำระบัญชี ในระหว่างดังกล่าวบริษัทไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การที่นายสุวิทย์ยังมีชื่อถือหุ้นในบริษัทเกิน 5% ก่อนรับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ในช่วงการชำระบัญชีปิดบริษัท  นายสุวิทย์จึงไม่ได้กระทำการในลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

       สุวิทย์-ปนัดดา-ไพรินทร์ รอดบ่วงหุ้นสัมปทาน -"หมอธี" ไม่รอด

          ส่วน นพ.ธีรเกียรติ ผู้ถูกร้องที่ 4  พบว่าคู่สมรสถือหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้หุ้นมาก่อนเป็นรัฐมนตรี แม้จะถือหุ้นไว้ต่อไปก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังพบด้วยว่าคู่สมรสของผู้ถูกร้องซื้อหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯ เพิ่มเติมจำนวน 800 หุ้น ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  ศาลจึงเห็นว่า บริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯรับสัมปทานจากรัฐ ทำเหมืองแร่ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การถือหุ้นเพิ่มเติมจำนวน 800 หุ้น จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว  ส่วนข้อโต้แย้งว่าคู่สมรสไม่มีเจตนาเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯ เป็นหุ้นสัมปทาน ศาลเห็นว่าก่อนการลงทุนผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ความสามารถในการแข่งขันตลอดจนการทำกำไร ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ หากรับฟังไว้มาตรการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ จะใช้บังคับไม่ได้  

สุวิทย์-ปนัดดา-ไพรินทร์ รอดบ่วงหุ้นสัมปทาน -"หมอธี" ไม่รอด

        สำหรับข้อโต้แย้งที่คู่สมรสมีจำนวนหุ้นเพียงเล็กน้อย ไม่มีสิทธิร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจครอบงำกิจการนั้น ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญเขียนห้ามไว้ชัดเจน แม้จะมีหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการกระทำต้องห้ามตามความหมายของรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ต่อมาจะมีการขายหุ้นทันที หลังรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่อาจมีผลลบล้างการกระทำอันเป็นการต้องห้ามได้  

        ทั้งนี้ในประเด็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีรัฐมนตรีของนพ.ธีระเกียรติจะสิ้นสุดลงเมื่อไรนั้น เห็นว่าผู้ถูกร้องได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 62 ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย แม้จะเป็นคนละเหตุกับคำร้องนี้  แต่เป็นการลาออกเป็นผลเพื่อระงับยับยั้งการขัดกันของผลประโยชน์ที่กำลังดำเนินการหรือจากการปฏิบัติหน้าที่  ยิ่งกว่าการที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่  การจะวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จึงต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง จึงวินิจฉัย ให้มีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดผลเฉพาะตัวเป็นเวลา 2 ปี โดยให้นับแต่วันที่ 9 พ.ค.62  หรือนับตั้งแต่วันที่ลาออก ส่วนความเป็นรัฐมนตรีของมล.ปนัดดา นายสุวิทย์ และนายไพรินทร์  ไม่สิ้นสุดลง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ