ข่าว

ผ่านแล้ว..!!! ร่าง"พ.ร.บ.คุมสื่อฯ"  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สปท."ผ่านร่างพ.ร.บ.คุมสื่อฉลุย ใช้เวลาถกรายละเอียดนานถึง 8 ชั่วโมง ฝ่ายหนุนและค้านซัดกันมัน หาเหตุผลมาสนับสนุน ท้ายสุดโยนให้ครม.เป็นคนตัดสินจะเอาหรือไม่เอา

          1 เม.ย. 60 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปแห่งชาติ(สปท.) โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน  พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล พ.ศ….และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งบรรยากาศในการประชุมประธานที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.สื่อฯ ได้รุมคัดค้าน เรื่อง “การให้จดทะเบียนสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพ” กรณีสภาวิชาชีพจะมีสัดส่วนตัวแทนรัฐ 2 คน มีช่องโหว่อันตราย ให้รัฐบาลในอนาคตแทรกแซงสื่อได้ โดยเสนอให้สื่อควบคุมกำกับดูแลกันเอง เพราะที่ผ่านมาดูแลกันเองได้ หลายกรณีได้ลงโทษสื่อมวลชนที่ขัดจริยธรรมด้วย ห้ามมีเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐมายุ่งเกี่ยว อีกทั้งท้วงติงความไม่ชัดเจนในนิยามกฎหมายที่อาจครอบคลุมเกินเลยไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อ อาทิ พระสงฆ์นักเทศน์ ดาราโพสต์ข้อความออนไลน์ขายของ นักวิชาการรับจ้างบรรยาย ล้วนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ และร่างพ.ร.บ.นี้ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ 26 - 34 - 35 และมาตรา 77 อาจมีคนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

          ส่วนสมาชิกที่อภิปรายสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นสายตำรวจและทหาร อาทิ พล.ต.อ.อำนวย นิ่มมโน พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร และ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ให้เหตุผลว่า สื่อขาดจรรยาบรรณควบคุมกันเองไม่ได้ บางสำนักสร้างความแตกแยก บิดเบือน เสนอข่าวโจมตีรัฐบาลกระทบต่อความมั่นคง ควรมีหน่วยงานกำกับดูแล เห็นด้วยให้มีสัดส่วนของรัฐเข้าไปในคณะกรรมการใดๆที่ตั้งขึ้นมาดูแลจริยธรรมสื่อฯ 

          ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า ถ้าผ่านร่างพ.ร.บ.ผ่านไปโดยไม่ปรับแก้ไข จะทำให้เสรีภาพของสื่อที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหายไป จะมีผลทั้งภายในและนอกประเทศ รัฐบาลต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า คงไม่ใช่รัฐบาล คสช.แน่ อาจไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่รัฐบาลที่ดี เปิดช่องลักษณะนี้เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐในอนาคตแทรกแซงสื่อ หากเป็นรัฐบาลทรราชจะทำอย่างไร สื่อเป็นกำแพงสุดท้ายทำหน้าที่ฝ่ายค้านเข้มแข็งมาตลอดในอดีต จึงขอเสนvให้กลับไปใช้ต้นร่างเดิมของสปช. ที่ได้มีมติรับหลักการปฏิรูปสื่อฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.58 สามวาระปฏิรูปให้สื่อควบคุมกันเอง โดยครม.คณะมีมติรับทราบเป็นหลักแล้ว น่าจะเป็นทางออกดีที่สุด 

          นายนิกร จำนง สปท.กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกมธ.ฯ ขนาดจิ้งจกทักเรายังต้องเงี่ยหูฟัง สื่อออกมาคัดค้านมาก ร่างฉบับนี้ ควบคุมการทำงานของสื่อมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เมื่อก่อนคนเปรียบสื่อเป็นนกพิราบ แต่ร่างกฎหมายนี้จะทำให้เป็นพิราบในกรง มีกุญแจ 3 ดอก จากกรรมการ 3 ชุด 1.กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 2.กรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 3.คณะกรรมการจริยธรรมสื่อ ล็อกไว้ 3 ชั้น เรียกว่า “ไตรล็อก” หากกฎหมายนี้ออกไปจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน หากรัฐบาลรับเรื่องนี้ไปสุ่มเสี่ยงกับความกดดัน

          ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ สปท.อภิปรายเห็นด้วยกับร่างของกมธ.สื่อฯ เพราะสื่อควบคุมกันเองไม่ได้ จะลงโทษกันเองก็ไม่ได้จึงไร้มาตรฐาน ถูกสอนว่าสื่อมวลชนคือฐานันดรสี่ เป็นกระจกส่องสังคมซึ่งควรต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ขอถามว่าสิทธิเสรีภาพที่สื่อมวลชน กดดันกมธ.สื่อฯเมื่อ 2 - 3 วัน มีคุณภาพหรือไม่ พอที่จะเป็นกระจกใสส่องให้สังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาเวลาคนทั่วไป หน่วยงาน บริษัทห้างร้านมีเรื่อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ลงข่าวเสียหาย ข่าวไม่จริง แล้วคนไปร้องเรียน มีคำอุปมาอุปมัยว่าแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน เราจึงไม่เคยเห็นสื่อมวลชนด้วยกันเองลงโทษกันเองได้ ถ้าสื่อรักที่จะมีเสรีภาพ ก็ต้องรักที่จะมีเสรีภาพอย่างมีคุณภาพด้วย

          ขณะที่พล.อ.ธวัธชัย สมุทรสาคร สปท. อภิปรายว่า  ถ้าคนไม่ได้รับผลกระทบจะไม่รู้ อยากให้เข้าใจว่า ลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมีหมด สิงคโปร์ สื่อต้องเป็นไปตามกติกา 100 เปอร์เซ็นต์ จีนก็ลองเปรียบเทียบดู สิ่งอะไรต่างๆ ลองไปคิด ถ้าเราไปคิดกันเยอะ ก็เป็นผลประโยชน์แต่ละฝ่าย คนที่ไม่โดนผลกระทบกับสื่อ อาจไม่คิดอะไร บางคนอาจถูกกระทบ ตนทำงานในสนามมาทั้งชีวิต ทั้งรบราฆ่าฟัน ก็ทะเลาะกับสื่อตลอด ยกตัวอย่างผู้ว่าแม่ฮ่องสอน ลงไปเรื่อย สื่อไม่ต้องลง ให้เขาตัดสินไปก่อนผิดค่อยลง สิ่งไหนที่ลงแล้ว ประเทศชาติเสียหาย เหมือนฆ่าเผา ยิงกัน ถ้าเป็นสื่อประเทศอื่นไม่ลง ในอังกฤษมีระเบิดรถไฟใต้ดิน ไม่เห็นรูปแม้แต่นิดเดียว เขามีจรรยาบรรณ ถ้าลงแล้วประเทศเสียหาย เราถึงกำหนดกติกา สื่อควรมีอะไร ทำอะไรบ้าง ทำให้คิดก่อน มีประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ คณะกรรมการได้วิเคราะห์เจาะลึก แต่ละคนทำงานด้านสื่อมาตลอด  

          “ไม่ว่าสื่อออนไลน์ สื่ออะไรก็แล้วแต่ สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีปัญหาหมด วันก่อนเปิดไลน์ดู พล.ต.อ.เสรี เตมียาเวส ไม่รู้ว่าอยากเล่นการเมืองหรือเปล่า ผมก็เคารพท่าน เป็นรุ่นพี่รุ่น 7 ผมรุ่น 12 อยู่ดีๆไม่รู้เป็นอะไรมาด่าทหาร ว่าทหารมีพื้นที่ใหญ่โตในเมือง ไม่มีประโยชน์ เอาหินขว้างไปในค่ายถูกหัวพลเอกหมด พูดมาทำไม ผมไม่เข้าใจ ไอ้สื่อพวกนี้จริงๆมันต้องจับไปยิงเป้า พี่เสรีนี่ ผมนี่บอกตรงๆ ผมอยากจะหาโทรศัพท์จะโทรไปด่า ไม่เคารพเหมือนพี่แล้วถ้าแบบนี้ รถถังซื้อมาทำไม เคยรบหรือเปล่า วีรบุรุษนาแก” พล.อ.ธวัชชัย กล่าว   

          จากนั้นพล.อ.อ.คณิต ชี้แจงว่า ตนไม่เคยถอยมากขนาดนี้มาก่อน ครั้งนี้ถอยถึง 3 ครั้ง เพราะขั้นตอนอีกยาวไกล ครม.จะเอาหรือไม่ก็ไม่รู้  แต่สิ่งตางๆที่สมาชิกเสนอแนะทางกมธ.ก็พร้อมรับไปปรับปรุงเพื่อให้งานเดินต่อไปได้  ส่วนโควต้า 2 ปลัดที่อยู่ในคณะกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ให้อยู่ในวาระ 5 ปี เหมือนกับการถามคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ในเวลา 5 ปี หลังจากนั้นตัดตัวแทน 2 ปลัดออกไป โดยอาจจะเอาโควต้านี้ไปเพิ่มในสัดส่วนของสื่อ จาก 9 เป็น11 หรืออีกแนวทางให้ตัด 2 ตำแหน่งนี้ออก ก็จะเหลือคณะกรรมการฯ 13 คน

          ทั้งนี้นายอลงกรณ์ ได้เสนอว่าหากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ที่ประชุมสปท.ควรตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษ ที่มีสมาชิกสปท. คนอื่นๆไปร่วมเป็นกรรมาธิการกับ กมธ.สื่อฯ เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อาทิ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติที่เห็นต่างกันว่าควรมีตัวแทนภาครัฐร่วมด้วยหรือไม่ หรือจะให้ตัวแทนภาครัฐอยู่ในวาระ 5 ปี ตามข้อเสนอของ พล.อ.อ.คณิต โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันจากนั้นจึงส่งให้ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตามมีสมาชิกเห็นว่าควรแยกการลงมติเป็น2 ครั้งคือ เห็นชอบรายงานดงกล่าและเห็นชอบว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษหรือไม่

          จากนั้นเป็นการลงมติ โดยที่ประชุมเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวล พ.ศ….และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ… ด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17  จากนั้นที่ประชุมหารือว่าจะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษ  หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ  88 ต่อ67งดออกเสียง 8 ทำให้ที่ประชุมส่งรายงานกลับให้คณะกรรมาธิการสื่อ ฯพิจารณาปรับปรุงก่อนส่งให้ประธานสปท. เพื่อส่งให้ครม.ต่อไป โดยที่ประชุมสปท.ใช้เวลาการพิจารณาเกือบ 8 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ