ข่าว

"กทม."คาดปี 59 ยอดผู้ป่วย“HIV”สะสม 7.8 หมื่นคน

"กทม."คาดปี 59 ยอดผู้ป่วย“HIV”สะสม 7.8 หมื่นคน

29 พ.ย. 2559

ระบุติดเชื้อรายใหม่เกือบ 3 พันคน ชี้กลุ่มเสี่ยงหน้าใหม่ เด็ก-เยาวชนอายุ 15-24 ปี หนุนใช้ถุงยางฯป้องกันโรค

 

          29 พ.ย. 59 - ที่โรงภาพยนต์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 เขตปทุมวัน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “คนกรุงเทพฯร่วมใจ..รณรงค์ต้านภัยเอดส์ ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์ (World Aids Day)” ภายใต้โครงการรณรงค์ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เพื่อยุติปัญหาเอดส์ และกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ตระหนักถึงเรื่องเอดส์สามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวีได้ มุ่งเน้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ทาง UNAIDS ได้กำหนดไว้ คือ Getting to Zero ได้แก่ ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการตายจากเอดส์และการตีตรา รังเกียจผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ โดยมีนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม. นายวงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางมรกต สนิทธางกูร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เยาวชน รวมทั้งสิ้นกว่า 250 คน เข้าร่วมงาน

          นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากหนังสือสถิติกทม.ปี 2557 ในกรุงเทพฯมีจำนวนประชากรในพื้นที่ 5,692,248 คน เป็นเพศชาย 2,695,519 คน เพศหญิง 2,996,765 คน เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี 1,692,557 คน เป็นเพศชาย 848,661 คน เพศหญิง 814,948 คน โดยคาดการณ์ว่า จากประชากรในพื้นที่ทั้งหมดมีจำนวนกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ได้แก่ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 77,301 คน ชายขายบริการทางเพศ 3,856 คน สาวประเภทสอง 43,082 คน พนักงานบริการทางเพศหญิง 27,519 คน และผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 10,155 คน โดยปัจจุบันกทม.ได้ทำการคาดประมาณว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 78,080 คน ซึ่งเป็นผู้ติดที่เชื้อเอชไอวีรายใหม่ จำนวน 2,289 คน เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี จำนวน 1,248 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54.5 และเสียชีวิตถึง 2,409 คน

          นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากผลการเฝ้าระวังความชุกการติดเชื้อเอชไอวีในพื้นที่กรุงเทพฯในปี 2558 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มพนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานที่สาธารณะติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 3.7 พนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานบริการ ร้อยละ 1.1 กลุ่มชายที่มาตรวจรักษากามโรค ร้อยละ 4.4 และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ร้อยละ 16.4 ในขณะที่การติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรทั่วไป มีความชุกในการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 0.9 ส่วนในปี 2559 ทำการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย พบว่ายังคงมีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นอยู่ที่ร้อยละ 19.5 กลุ่มชายขายบริการ ร้อยละ 13.3 และกลุ่มสาวประเภทสอง ร้อยละ 12 อย่างไรก็ตาม กทม.ให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคน รวมทั้งรณรงค์ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้กระจายความรู้สู่ประชาชนให้มากที่สุด

          “เอดส์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เกิดจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 2,289 คน โดยเฉลี่ยประมาณวันละ 6 คน นับเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกคนควรให้ความสำคัญดูแลและป้องกันตนเอง วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุดการใช้ถุงยางอนามัย จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกันลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ได้ เพื่อเป็นการยุติปัญหาเอดส์ให้หมดไปโดยเร็ว ” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว