Lifestyle

ห้ามใช้ "คอตตอนบัด" เช็ดหู จริงหรือไม่?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไม่แนะนำ" ให้ใส่คอตตอนบัด หรือสิ่งใดๆ เข้าไปในรูหู

ห้ามใช้ \"คอตตอนบัด\" เช็ดหู จริงหรือไม่?

         สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน พบกันวันเสาร์เช่นเคยนะคะ ในคอลัมน์ “สุขภาพดีเข้าเส้น” หนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” วันนี้นกขอเริ่มต้นด้วยเพลงฮิตที่อาจจะยังติดอยู่ในใจหลายๆ ท่านนะคะ นั่นก็คือเพลง “คันหู ไม่รู้เป็นอะไร เอาสำลีมาปั่นก็ไม่หาย” หากใครฟังเพลงนี้แล้วอินมาก จะปั่นหูด้วยสำลี นกจะร้องห้ามทันทีนะคะ มาอ่านกันค่ะว่าทำไม ?
         ทุกคนคงคุ้นเคยกับ “คอตตอนบัด” หรือ “ไม้พันสำลี” กันนะคะ แล้วเราใช้คอตตอนบัดทำอะไรกันบ้าง แน่นอนค่ะ หนึ่งในคำตอบนั้น คือใช้ทำความสะอาดรูหู ซึ่งเรามักจะใช้มันในการแคะขี้หูบ้าง ปั่นแก้คันบ้าง และที่จริงแล้ว คอตตอนบัด ห้ามนำมาเช็ดหูจริงหรือไม่ เรามีคำตอบค่ะ
         ปกติแล้วทางการแพทย์ “ไม่แนะนำ” ให้ใส่คอตตอนบัด หรือสิ่งใดๆ เข้าไปในรูหู เพราะว่า "ขี้หู" หรือ earwax เป็นเรื่องธรรมชาติที่หูจะผลิตออกมาเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู และโดยธรรมชาติขี้หูจะผลิตออกมาเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู และโดยธรรมชาติขี้หูจะค่อยๆ เคลื่อนออกมาเองไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นออกมา แต่โดยทั่วไปคนมักเข้าใจผิดว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกและพยายามแคะออกเพื่อให้หูสะอาด
         เว็บไซต์ independent ของประเทศอังกฤษกล่าวว่า คอตตอนบัดที่ผลิตอยู่ในประเทศอังกฤษ มีคำเตือนอยู่ข้างผลิตภัณฑ์เสมอ ว่าห้ามใช้ทำความสะอาดข้างในรูหู แต่คนส่วนมากมักไม่ใส่ใจ และใช้ทำความสะอาดข้างในรูหูกันเรื่อยมาก นอกจากนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก มักพบผู้ป่วยที่มีปัญหากับหูจากการใช้คอตตอนบัดในรูหูตลอดเวลา และได้แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ทุกครั้ง
         และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้คอตตอนบัดดันเข้าไปในรูหูนั้น จะกลับกลายเป็นการผลักเอาขี้หูให้เข้าไปรวมเป็นก้อนใหญ่และอัดแข็งในรูหูชั้นในมากขึ้นๆ และที่อันตรายมาก คือการใช้ก้านสำลีพลาด ปั่นลึกมากเกินไป อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้
นกเองก็เป็นคนที่รักความสะอาด ถ้าเห็นขี้หูตัวเองเป็นก้อนเหลืองในรูหูก็อาจรู้สึกแปลกๆ นะคะ แต่พอได้พบข้อมูลที่นำมาแบ่งบันในวันนี้ก็ต้องปรับทัศนคติกันใหม่หน่อยล่ะค่ะ อีกทั้งนกเป็นคนผิวมันหูดันมันง่ายซะอีก บางวันส่องกระจกเช็กความเรียบร้อยของใบหน้า แต่กลับเห็นว่าหูงี้มันแผล็บเลย ยิ่งห่างการสระผมยาวนานถึงสามวันเวลาไปต่างประเทศงี้ หูยิ่งมันมาก นกเลยค้นพบวิธีใหม่ในการทำความสะอาดทั้งใบหูตัวเอง ก็ใช้ช่วงเวลาตอนสระผมนั่นล่ะค่ะ ล้างหูไปด้วยในตัว ใช้ฟองสบู่ที่มาจากการสระผม ซึ่งเจอจางพอควรแล้ว ล้างหูทั้งใบไปด้วย และซับให้แห้งด้วยผ้าขนหนูตอนเป่าผม ที่นี้ความรู้สึกหูไม่สะอาดจะหมดไป ไม่ต้องไปยุ่งกับคอตตอนบัดให้มีความเสี่ยง คอตตอนบัดนกใช้แค่เก็บรายละเอียดตอนแต่งหน้าแต่งตาทาอายแชโดว์เท่านั้น เอาวางไว้รวมกันเครื่องสำอางเลยจะได้ไม่เผลอหยิบเอามาแคะหูได้อันที่เล่ามาเป็นวิธีของนก ทีนี้ก็มีวิธีทำความสะอาดหูที่ถูกต้องมาให้เป็นทางเลือกปฏิบัติกันค่ะ 
          ห้ามแคะ ปั่นหูด้วยคอตตอนบัด หรือนำคอตตอนบัดไปชุบแอลกอฮอล์ น้ำเกลือหรือของเหลวอื่นๆ แล้วนำมาแคะหูเป็นอันขาด เพราะจะทำให้หูแห้งเกินไป โดยเฉพาะการใช้แอลกอฮอล์ และหากของเหลวนั้นไหลลงข้างในชั้นหูอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง อักเสบ จนอาจเป็นโรคหูน้ำหนวกได้
          ใช้คอตตอนบัดทำความสะอาดเพียงบริเวณใบหู และบริเวณปากรูหูเท่านั้น หากน้ำเข้าหูทุกครั้งเมื่ออาบน้ำสระผมให้ใช้สำลีอุดหูก่อนสระผม
        หากรู้สึกว่าน้ำเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลง เขย่าหัวเบาๆ หรือกระโดดเบาๆ ให้น้ำออกมาจากหูเอง หลีกเลี่ยงการใช้คอตตอนบัดเช็ดเข้าไปในรูหู
          หากรู้สึกหูอื้อ น้ำเข้าหูนานกว่าปกติ รู้สึกว่ามีอะไรเข้าไปในหู หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ปวดหู มีเสียงในหู มีกลิ่นเหม็นประกอบกับมีของเหลวไหลออกมา อย่าปล่อยไว้นาน ควรรีบไปพบแพทย์ อย่าพยายามเช็ด หรือแคะข้างในหูด้วยตนเอง
รู้แบบนี้แล้วใครที่ชอบใช้คอตตอนบัดปั่นหู แคะหู รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ทุกชนิด ถึงเวลาต้องเลิกอย่างเด็ดขาดแล้วนะคะ การทำความสะอาดอย่างถูกต้องและระมัดระวังเท่านี้เราก็สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหูไปได้เยอะแล้วค่ะ
หูเป็นอวัยวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความพิเศษหลายอย่าง นอกจากจะใช้เพื่อการได้ยิน การรับสัญญาณต่างๆ แล้ว หูยังมีหน้าที่ช่วยการทรงตัวด้วย หูคอนเน็กกับสมองและความรู้สึกมากมายของมนุษย์ การสื่อสาร ความเชื่อและการกระทำล้วนแล้วแต่เกิดจากการได้ยินทั้งสิ้น ดังนั้นจงรักษาหูของเราไว้ให้ดี เพราะมันเป็นอวัยวะแห่งประสาทสัมผัสที่อยากให้ทุกคนมีไว้นานๆ ไม่แคะ ไม่ปั่น ไม่ฟังเสียงดังเกินไป พักหูจากเรื่องไร้สาระ ล้วนแล้วแต่ทำให้ชีวิตดีขึ้นค่ะ
          แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ FB: Health Society by Nok Chalida หรือติดตามนกได้ที่ IG: NokHealthSo นะคะ และอย่าลืม Subscribe รายการ Health Society by Nok Chalida ทาง YouTube ค่ะ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าในหนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” นะคะ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ