Lifestyle

สกว.หนุน'มจร'ชงวิจัย'จัดการท่องเที่ยวเชิงพุทธ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกว.หนุนโครงการท่องเที่ยวทางเลือกในท้องถิ่น อาจารย์ 'มจร' เสนองานวิจัย 'การพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย'


              8ส.ค.2556 ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เป็นประธานการประชุม เวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “การท่องเที่ยวทางเลือก (Alternative Tourism)” ซึ่งจัดโดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกว. เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในชุดโครงการวิจัยด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวต่อสาธารณชนและบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการท่องเที่ยว อันจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ

              อ.กาญจนา สมมิตร จากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น นำเสนอผลงาน “การวิจัยเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ในเขตภาคเหนือตอนบน” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในลักษณะผสมผสานระหว่างกิจกรรมอาสาสมัครกับการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ เพื่อให้มีโอกาสช่วยเหลือสังคม โดยผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้จัดยานพาหนะ ที่พัก อาหาร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการนำเที่ยว ซึ่งอาจดำเนินการเต็มรูปแบบหรือจัดสรรบริการเพียงบางส่วน ทั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาคือเชียงราย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อคน 87,000 บาท หรือ 872 ล้านบาทต่อปี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียและอเมริกาเป็นหลัก ตามด้วยยุโรป เดินทางด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก โดยรับทราบจากสถานศึกษา อินเตอร์เน็ต และเพื่อน

              ปัจจัยที่มีผลต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด คือ บุคลากรที่ให้บริการ รองลงมาลักษณะทางกายภาพ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นเอกลักษณ์ และสินค้าทางการท่องเที่ยวมีความหลากหลายของกิจกรรมและวัฒนธรรม ราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ มีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ พบว่ายังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง อาทิ ขาดการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจนและไม่ทันสมัย สินค้าและกิจกรรมยังไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนและใช้เวลาพัฒนานาน โปรแกรมไม่ชัดเจน ขาดสุขลักษณะที่ดีไม่และไม่เอื้อต่อการให้บริการ ผู้ให้บริการขาดทักษะด้านภาษา ระบบการให้บริการในองค์กรไม่ต่อเนื่อง เป็นต้น

              ขณะที่ ผศ. ดร.วิรุณสิริ ใจมา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวถึงงานวิจัย “รูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวต่างชาติ” ว่านักท่องเที่ยวสูงอายุต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงและมีเวลาพร้อมที่จะมาท่องเที่ยวใจจังหวัดเชียงราย ซึ่งทรัพยากรเดิมเริ่มทรุดโทรมลง จึงต้องเพิ่มมูลค่าและสอดคล้องกับลักษณะที่เนิบช้าของจังหวัด โดยศึกษาความต้องการการของนักท่องเที่ยว รูปแบบของการท่องเที่ยวและการพัฒนาที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารการตลาดด้านโปรโมชั่นให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบ

              พฤติกรรมโดยรวมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากยุโรปโดยได้รับคำแนะนำจากเพื่อน จุดประสงค์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว และต้องการเรียนรู้งานด้านหัตกรรมและซื้อสินค้าเป็นของที่ระลึกหรือของใช้ อาทิ ผ้าทอ และชอบท่องเที่ยววัดเพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ต้องการกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมไทย อาทิ นวดแผนไทย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ปลูกพืชแบบธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมทางศาสนา ต้องการห้องพักสะอาด อากาศดี การเดินทางไม่ลำบากและมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ทางลาดสำหรับรถเข็น ลิฟท์ บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน wifi เป็นต้น รวมถึงให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลายนอกเหนือจากโบราณสถาน และทำสื่อเผยแพร่ที่มีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์มากขึ้น

              ส่วนงานวิจัย “การพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” คุณสายชล ปัญญชิต อาจารย์คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม ศึกษาประวัติศาสตร์และพุทธศิลป์ แต่ยังมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการระหว่างวัด ชุมชน สังคม ภาคธุรกิจค่อนข้างน้อย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การทำนุบำรุงศาสนากับธุรกิจควรจะดำเนินไปด้วยกันอย่างสมดุลและไม่เสียภาพลักษณ์ เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. และ อบจ. เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการจัดการขยะ ทำความสะอาดบริเวณวัด และดำเนินการอยู่ในขอบเขตธุรกิจที่เหมาะสม

              ทั้งนี้นักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม การเที่ยวชมบริเวณวัดในเชิงพุทธศิลป์ เพื่อชื่นชมความสวยงามวิจิตรตระการตา โดยชาวไทยจะท่องเที่ยวตามเทศกาลและวัฒนธรรมประเพณี และพบว่าพื้นที่ภาคใต้และอีสานเป็นประตูสำคัญของการเปิดเข้าสู่อาเซียน โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี มีชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาท่องเที่ยววัดภูมิภาคมากขึ้น เช่นเดียวกับนครพนมและมุกดาหารที่มีกท่องเที่ยวจากเวียดนามและลาวให้ความสนใจมาเที่ยววัดท้องถิ่นที่มีความคาบเกี่ยวหรือความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับความรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้นในด้านวรรณคดีไทยและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาวัดและเป็นศูนย์กลางการจัดการความรู้ของท้องถิ่น

              ด้าน ผศ. ดร.อรุณศรี ลีจีรจำเนียร ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงงานวิจัย “การพัฒนาคลัสเตอร์ของกลุ่มธุรกิจขนมไทยท้องถิ่นและการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศสำหรับเส้นทางใหม่ของการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้อาหาร” ว่าได้ทำการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับอาหารโดยเน้นกรณีศึกษาขนมไทยท้องถิ่น รวมถึงศึกษาศักยภาพของขนมไทยเพื่อพัฒนาเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวโดยสามารถเก็บไว้ได้นานเพื่อนำไปบริโภคที่บ้านได้ ตลอดจนจัดทำข้อมูลสารสนเทศแก่นักท่องเที่ยวในลักษณะเที่ยวไป เรียนรู้ไปและกินไป ซึ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวได้สัมผัสในมิติอาหารมากขึ้นเพื่อมิให้สูญหายไปจากประเทศไทย เกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวใหม่ที่สื่อถึงรากวัฒธรรมผ่านการเรียนรู้อาหารด้วยความสนุกสนาน ให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสกับคนพื้นถิ่น โดยความร่วมมือจากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดแก่นักท่องเที่ยวได้เห็นวัตถุดิบของขนมและขั้นตอนการทำขนมแบบดั้งเดิมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงขนมแปลกใหม่ที่คิดค้นขึ้น อาทิ ตามรอยน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว กล้วยลอยตาล จ.เพชรบุรี ขนมทองมงคล จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

โอกาสและความเสี่ยงของสุราษฎร์ธานี

              ก่อนหน้านี้มีการประชุมวิชาการ ABC สุราษฎร์ธานี “รู้รอบทิศ อ่าวบ้านดอน” ซึ่งจัดโดย สกว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้จัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “โอกาสและความเสี่ยงของสุราษฎร์ธานี: เสียงสะท้อนจากพื้นที่” โดย ดร.อนัญญา เจริญพรนิพัทธ นักวิจัย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึงโอกาสและความเสี่ยงด้านฐานทรัพยากรของอ่าวบ้านดอน ว่าอ่าวบ้านดอนเป็นต้นธารของความสมบูรณ์ของทรัพยากรจากแม่น้ำตาปีและพุมดวง ทำให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญและมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งรอบอ่าว กระชังเลี้ยงปลากะพงและปลาเก๋า ฟาร์มเลี้ยงหอยแครงและหอยตะโกรม อ่าวบ้านดอนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยสองฝาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงนับเป็นขุมทรัพย์ชายฝั่งที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชน และเป็นที่ตั้งของวิถีชีวิตชุมชนที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย แต่ปัญหาที่ตามมาคือทำให้ป่าชายเลนลดน้อยลงจนแทบไม่เหลือ

              อ่าวบ้านดอนมีบทบาทเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเป็นแหล่งหอยนางรม หอยแครง หอยลาย กุ้งและปลาทะเล ขณะที่บทบาทในเชิงระบบนิเวศ (ห่วงโซ่อาหาร) เป็นที่อยู่ของ “ปูแสม” ซึ่งเป็นทรัพยากรตัวหลักที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากใบไม้ แต่ถูกจับค่อนข้างเยอะ ขณะที่ “หอยกัน” ก็ช่วยย่อยสลายเศษซากและสร้างความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงมี “ปลาดุกทะเล” นอกจากนี้ยังมีบทบาททางวิถีชีวิตชุมชน มีการใช้พื้นที่ในอ่าวบ้านดอนทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่พื้นที่อนุญาตทำการเพาะเลี้ยงหอยสองฝาในอ่าวบ้านดอนผันแปรตลอด โดยอำเภอกาญจนดิษฐ์มีพื้นที่มากที่สุดทั้งที่มีพื้นที่รักษาพืชพันธุ์ ส่วนใหญ่เลี้ยงหอยแครง รองลงมาคือหอยนางรมและหอยแมลงภู่ เมื่อเกิดอุทกภัยหนักทำให้หอยนางรมตายเกือบหมด ต่อมาในปี 2553 พื้นที่นอกเขตอนุญาตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าสุราษฎร์ธานีจะรองรับได้หรือไม่

              หอยนางรมเป็นสัตว์เศรษฐกิจหลักของจังหวัดมีราคาสูงขึ้น เป็นไปได้ว่าความต้องการสูงแต่การผลิตทำได้น้อย พื้นที่เลี้ยงลดลง ถ้าสามารถพัฒนาคุณภาพ เช่น มีเครื่องล้างหอย และอื่น ๆ เพื่อให้ได้บริโภคหอยที่ปลอดภัย อาจมีโอกาสขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงคือใช้เวลาในการเลี้ยงนาน เกิดภัยพิบัติบ่อย อีกทั้งปัญหาเรื่องผลผลิตและการครอบครองพื้นที่ การได้มาซึ่งลูกพันธุ์ ส่วนหอยลายก็มี ผลผลิตสูงมาก มูลค่าสูงขึ้นตลอด จึงมีโอกาสในการผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของฐานทรัพยากรอ่าวบ้านดอนด้านโอกาสและความเสี่ยง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมของอ่าวบ้านดอนได้สร้างความเสี่ยงต่อพื้นที่ ผลผลิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ทำให้ต้องเฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

              จากผลการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการจำลองระบบนิเวศฐานการผลิตในอ่าวบ้านดอน พบว่าปริมาณน้ำท่ารายปี (น้ำจืด) ที่ไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน ร้อยละ 94 มาจากแม่น้ำตาปี ทั้งนี้ความแตกต่างของปริมาณน้ำในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ มีน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่าว จึงสรุปได้ว่าน้ำท่าที่เกิดจากแม่น้ำตาปีและพุมดวงมีผลต่อปริมาณน้ำในอ่าวค่อนข้างน้อย ซึ่งน่าจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำและความเค็มในรอบปีมากกว่า และปากน้ำตาปีก็มีการทับถมของตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาจึงเป็นอาหารอย่างดีให้แก่ลูกหอย

              ดร.อนัญญาระบุว่าการตั้งรับของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและจัดการทรัพยากร จะต้องสร้างโอกาสและความเข้มแข็งเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตลอดจนความยั่งยืนของทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงลดความเสี่ยงในการใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถการผลิต จัดการปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการอ่าวบ้านดอนแก่คณะรัฐมนตรี โดยทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งพัฒนาประมงจังหวัด โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่ภาควิชาการก็มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน ทั้งนี้จะมีวงจรการจัดการ วางแผนเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ เฝ้าระวัง และประเมินผลส่งกลับไปที่ส่วนกลาง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

              ขณะที่นายชลอศักดิ์ วาณิชย์เจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะตัวแทนภาคราชการในพื้นที่ กล่าวว่า อ่าวบ้านดอนมีการเพาะเลี้ยงหอยครอบคลุมพื้นที่ใน 6 อำเภอ ได้แก่ หอยแครงในอำเภอท่าฉาง เมือง กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก และไชยา ส่วนหอยนางรมมีเฉพาะที่ไชยาและกาญจนดิษฐ์เท่านั้น แต่ที่กาญจนดิษฐ์อร่อยกว่าเพราะมีค่าออกซิเจนในน้ำดีที่สุด และค่าความเค็มของน้ำอยู่ที่ 15-20 ทำให้ได้เนื้อหอยที่ขาว ไม่คาว เนื้อหนา มีน้ำเลี้ยงมาก แต่พื้นที่อื่นค่าความเค็มของน้ำสูงทำให้เนื้อหอยบาง มีสีดำ กลิ่นคาว น้ำเลี้ยงน้อย

              ทั้งนี้หอยแครงแต่เดิมมาจากมาเลเซียแล้วศูนย์วิจัยและพัฒนานำมาทดลองเลี้ยงที่จังหวัดสตูลและเพชรบุรีในปี 2527 หอยแครงที่ท่าฉางมีมากที่สุดเพราะมีค่าความเค็มดีที่สุด แต่ปัญหาคือพื้นที่เพาะเลี้ยงอาจไม่เพียงพอในอนาคตเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารและทุกคนจึงต้องคิดและบริหารให้ได้ ซึ่งตนขอเสนอสองทาง คือ ทำเป็นศูนย์วิชาการ หรือขยายเขตพื้นที่ประมงชายฝั่งและนอกชายฝั่ง ซึ่งต้องแสวงหาจุดต่างและขยายเขตสัมปทานที่ไม่กระทบกับชีวิตชาวประมงโดยต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน ใช้หลักวิชาการและหาแนวทางป้องกัน รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตนเป็นห่วงเรื่องคนไม่รู้จริงแล้วมาทำ อาทิ การปลูกป่าชายเลนลดลงแต่นากุ้งเพิ่ม การปลูกโกงกางแบบผิด ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมเพี้ยนจึงต้องระวัง ขณะที่ธนาคารสัตว์ทะเลต้องจัดการดูแลการทำนากุ้ง และสิ่งที่จะลงไปในทะเล ไม่ปล่อยน้ำเสียและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรค ดังนั้นจึงต้องเตรียมการพัฒนาไปข้างหน้าและร่วมกันพัฒนา ที่สำคัญต้องไม่ทะเลาะกัน

              ส่วนตัวแทนภาคอุตสาหกรรม คุณรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค (สุราษฎร์ธานี) กล่าวว่า ดีใจที่มีงานวิจัยดี ๆ เกี่ยวกับการเพาะปลูกและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่ผ่านมาได้นำงานวิจัยกุ้งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจัดแสดงนิทรรศการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพราะเป็นจุดขายที่ดีของจังหวัด ซึ่งมีทูตพาณิชย์ทั่วโลกพาผู้นำเข้ามาชม โดยเฉพาะจีนให้ความสนใจมาก แม้จะมีความเสี่ยงของสุราษฎร์ธานีในการพึ่งพิงยางและปาล์ม แต่ยังมีของดีอื่น ๆ อีกมาก เช่น การพัฒนาสายน้ำแร่ ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่น เพราะสุราษฎร์ธานียังไม่มีเอกชนเข้ามาดำเนินการ เมื่อไปดูงานแล้วจะนำมาพัฒนาต่อยอด หากทีมวิจัยสนใจและต้องการความร่วมมือกับญี่ปุ่น จะเสนอไปทำ hot spring นำน้ำไปวิเคราะห์ว่ามีประโยชน์หรือรักษาอะไรได้บ้าง ถ้าสินค้าดี ยึดอาชีพได้ สินค้าก็ไม่ตกทอดไปสู่ประเทศอื่น ส่วนผลไม้กำลังจะหมดไปจากความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ถ้าสนใจจะต่อยอดสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดสามารถประสานไปที่สำนักงานได้ จะช่วยดูแลเชื่อมโยงให้ข้อมูลและมีเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการเพาะต้นกล้าฟูมฟักให้เป็นนักการส่งออกอีกด้วย

              ด้านนายทวีศักดิ์ สุขรัตน์ ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวผ่านบทเรียนและประวัติศาสตร์ของสุราษฎร์ธานีว่าสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและสวยงาม แต่เราไม่เคยอ่านบทเรียนและประสบการณ์ของอริยะอดีตมาวางแผนพัฒนา มองแต่สหรัฐอเมริกาแล้วมาแก้ไขประเทศไทย แต่ไม่มองว่าการสั่งสมวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาแตกต่างกัน คุณค่า ความดี ความงาม ที่สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองต้นแบบของความศิวิไลซ์ในอดีต มองแต่ในแง่ของการพัฒนาซึ่งต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ดิน น้ำ ป่า เป็นพื้นฐานของคน ภายใต้การพัฒนาต้องขึ้นกับวิถีชีวิตและภูมิประเทศของพื้นที่ด้วย

              การรักษาอ่าวบ้านดอยไว้ให้เป็นขุมของโลก ทุกคนต้องช่วยกันดูแล พัฒนาพื้นฐานความเป็นภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรมผ่านทรัพยากร ป่าไม้ ทะเล แร่ น้ำมัน แก๊ส ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสิทธิของทุกคนที่เป็นเจ้าของร่วมกัน มีสิทธิเสรีภาพและร่วมกันแบ่งปัน แต่หลักคิดของรัฐจะเก็บภาษีอากรจากประชาชนแล้วนำไปเอื้อให้กับคนส่วนน้อยของประเทศ รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เอื้อให้ใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่จนเกิดการแข่งขันแย่งชิงและกอบโกย มีการสร้างบ้านในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก คนประมงพื้นบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับการเหลียวแลน้อยมาก “อำนาจและกฎหมายที่มีเอื้อให้ประมงพาณิชย์ค่อนข้างมาก เพราะผลประโยชน์อันมหาศาล ปัญหาของอ่าวบ้านดอนอยู่ที่ความโลภและผลประโยชน์ที่ไม่มีใครเข้าไปดูแล สุดท้ายคนจนก็ไม่มีที่ยืน อนาคตจะไปทำกินอะไรที่จะยืนหยัดอย่างยั่งยืน ณ วันนี้มีความขัดแย้งสูงมากในเรื่องการทำกิน เพราะทรัพยากรถูกจัดการให้เอื้อแก่คนกลุ่มเล็ก น้ำเน่าเสียจากผลพวงที่เกิดขึ้น”

              นายทวีศักดิ์ระบุว่า ศัตรูตัวใหม่ที่น่ากลัวที่สุดคือการสัมปทานขุดเจาะน้ำมันโดยบริษัทต่าง ๆ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะสมุย 30-40 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่ยังปิดบังข้อมูล ทำให้การพัฒนาไปข้างหน้าไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ยังเชื่อมั่นในการร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการดึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การพัฒนาเมืองไทยมีศักยภาพที่เด่นที่สุดคือ พุทธศาสนาที่เป็นหลัก เป็นเหตุและผล แต่ลืมคุณค่าศาสนา ความดีความงาม ความเอื้ออาทรต่อกัน ถ้าอารยธรรมไทยอ่อนกว่าตะวันตก สู้ไม่ได้ บทบาทในการพัฒนาอ่าวบ้านดอนให้มีความหมายและศักดิ์สิทธิ์ ทางออกเห็นด้วยกับแนวคิดของ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. ที่ว่าบทบาทรัฐต้องเปลี่ยนจากผู้ชี้นำเป็นผู้อำนวย ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผังเมืองสุราษฎร์ธานีไม่เคยฟังประชาชนทำให้เกิดการคัดค้านของประชาชน โครงการขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าปรมาณู การจัดการของรัฐและบ้านเมืองไม่สามารถจัดการและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ประชาชนจึงต้องลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฐานะเจ้าของทรัพยากร ประชาชนอยู่กับวิถี สามารถวาดแผนที่ทำมือของอ่าวบ้านดอนในเชิงลึกได้ ใต้ผิวน้ำยังมีทรัพยากรอีกมากมาย กล่าวได้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นตัวสะท้อนการพัฒนา

              ขณะที่ ผศ. ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตัวแทนภาคการศึกษาในพื้นที่ ระบุว่าสุราษฎร์ธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเพราะติดต่อกับหลายจังหวัด มีการเจริญเติบโตของเมืองเร็วมาก รวมทั้งกระแสของ AEC ซึ่งเป็นมายาคติ ทำให้เกิดการย้ายทุนอย่างเสรี และการเก็งกำไรที่ดิน ส่งผลให้ชาวบ้านขายที่ดินและมาซื้อบ้านในเมือง ในปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกคนกลับบ้าน แต่ในอนาคตถ้าไม่มีที่ดินแล้วจะทำอย่างไร มหาวิทยาลัยจะแก้ไขอย่างไร และต้องกระจายความเสี่ยงหากเกิดความผันผวนด้านผลผลิตทางการเกษตร ต้องเริ่มวางแผนประกันความเสี่ยง ทำอย่างไรจะรักษาความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการบริหารการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ไม่ตกเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐจะมีนโยบายด้านธุรกิจในการกระจายอำนาจอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติสังคมซึ่งเป็นความเสี่ยงมาก น่าห่วงว่าทุกอำเภอมีแนวโน้มการแพร่ระบาดของยาเสพติดอันเนื่องจากความเจริญ

              นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ การบริหารจัดการน้ำและการขาดแคลนน้ำ ปัญหาขยะที่จะเป็นปัญหาใหญ่หลวงจากความเจริญ แต่เตาเผาขยะยังไม่เพียงพอ รวมถึงความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ระบบขนส่งมวลชนที่ดี จึงต้องวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา ส่วนเรื่องการศึกษาที่เน้นวิชาการไม่เน้นวิชาชีพ แต่ความเป็นจริงการศึกษาต้องสัมพันธ์กับการมีงานทำ มีคุณภาพทางการศึกษา โรงเรียนต้องสอนวิชาชีพไม่ใช่แต่วิชาการและสอดคล้องกับพื้นที่ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ฝากไว้เพราะเป็นปัญหาสำคัญ

              มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น ไม่ปฏิเสธที่จะร่วมมือทำพันธกิจให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว สมุย พงัน เกาะเต่า ที่เป็นโอกาสมาก แต่คนหวาดกลัวแผ่นดินไหว จึงคิดว่าถ้าไม่กำหนดทิศทางให้ดีในระยะยาวไม่แน่ว่าจะยั่งยืนหรือไม่ นักท่องเที่ยวอาจเบื่อ คนแน่น จะต้องทำการท่องเที่ยวแนวใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะต้องวางแผนร่วมกัน ในด้านโครงสร้าง ระบบวัตถุนิยมดึงดูดคนได้ดี แต่ทำอย่างไรจะสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ให้ “ระเบิดจากข้างใน” ตามทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระพุทธทาสกล่าวว่าคนมีคุณธรรมสูง ไม่เอาของที่ไม่ใช่ของตัวเอง เราจึงต้องวางแผนให้ดี ไม่ให้เกิดกลุ่มทุนใหญ่แต่คนกลุ่มเล็กเป็นเหยื่อทุน รัฐจึงควรเข้ามาช่วยสนับสนุนการสร้างความแข็งแรงในพื้นที่ให้กระจายทั่วทั้งแผ่นดิน ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ช่วยกันลดความเสี่ยง แต่ระยะยาวกลัวปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำให้เกิดความหลากหลาย รวมถึงการค้าเพื่อดูแลสนับสนุนของดีในจังหวัด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ