ข่าว

WHO เตือนหลีกเลี่ยง"ผสมสูตรวัคซีน"โควิด-19 ขาดข้อมูล-ก่อเทรนด์อันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนให้หลีกเลี่ยงการ "ผสมสูตรวัคซีน"โควิด-19 ต่างกันให้ประชาชน  แม้มีผลศึกษาบ่งอาจได้ผลดี แต่ยังขาดหลักฐาน


ขณะที่บริษัทยายักษ์ใหญ่บางแห่งออกมาพูดถึงความเป็นไปได้ ของการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้น หรือ บูสเตอร์โดส ขณะหลายประเทศเผชิญกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆโดยเฉพาะเดลตา ที่พบในพื้นที่กว่า 104 ประเทศทั่วโลก แต่ ดร.สมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan)  หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO  กล่าวเตือนระหว่างแถลงสรุปสถานการณ์โควิด-19 วานนี้ (12 ก.ค.) ตามเวลาที่นครเจนีวาว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยผสมสูตรให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการสร้าง“เทรนด์อันตราย” เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ 

 

 

“เรายังอยู่ในโซนปลอดข้อมูล หลักฐาน กับยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับการผสมและจับคู่" ดร.สวามินาธาน กล่าวและว่า สถานการณ์ในหลายประเทศ อาจจะโกลาหลกว่าเดิม หากประชาชนมีโอกาสเลือกตัดสินใจว่า จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2  เข็มที่ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่ และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด

ผลศึกษาหลายชิ้นพบการฉีดวัคซีนต่างสูตรกัน ให้ผลป้องกันสูง ขณะที่อังกฤษ แคนาดาและอิตาลี อนุญาตให้ประชาชนรับวัคซีนต่างยี่ห้อได้แล้ว  ดร. สวามินาธาน ยอมรับว่า ผลศึกษาเหล่านี้ให้ความหวัง แต่ชี้ว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น ยังไม่มีความจำเป็น ในขณะที่ยังมีการระบาดของไวรัสโคโรนาหลายสายพันธุ์ การทำเช่นนั้นจะต้องตั้งอยู่บนข้อมูลและวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่บริษัทใดที่ประกาศว่า ควรฉีดวัคซีนของตนเองเป็นบูสเตอร์โดส  

การกล่าวเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นการพาดพิงถึง ไฟเซอร์ ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าวัคซีนเข็ม 3 มีความจำเป็นเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกัน ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) และสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ออกแถลงการณ์ร่วมย้ำว่าวัคซีนสองโดส มีประสิทธิภาพพอ ณ เวลานี้ 

 

 

ในการแถลงข่าววันเดียวกัน องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยทั้งหลายบริจาควัคซีนโควิด-19 ของตนให้กับประเทศยากจน แทนที่จะเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนกระตุ้น ที่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าคือสิ่งจำเป็นในเวลานี้  ดร. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ตำหนิประเทศร่ำรวยทั้งหลายที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในอัตราที่สูงแล้ว รวมทั้งบริษัทยา ไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดอร์นา (Moderna)  ที่กำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในช่วงที่ประเทศอีกจำนวนมากยังขาดแคลนวัคซีนแม้สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขและกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง  ข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า “การฉีดวัคซีนครบโดสนั้นจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านการอาการป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิตให้กับตัวผู้รับไปได้อีกนาน” ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้ต้องเป็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียวมากกว่า

 

ที่มา RT  บางส่วนจาก VOATHAI

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ