ข่าว

เกาะสวรรค์บราซิลเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง บนเงื่อนไข ต้องเคยติดโควิด-19 มาก่อน 

31 ส.ค. 2563

เกาะดังของบราซิลงัดกลยุทธ์เปิดรับนักท่องเที่ยวที่คิดว่าปลอดภัยสุดในยุคโรคระบาด ใครจะไปต้องยื่นผลตรวจ


เฟร์นันดู ดี โนโรนยา ( Fernando de Noronha ) ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์ของบราซิล และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง.ในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.)  หลังปิดรับไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะเข้าไปชมความงามของแหล่งเที่ยวธรรมชาติยอดนิยมแห่งนี้ จะต้องพิสูจน์ว่าเคยติดเชื้อ และหายป่วยดีแล้ว 

นักท่องเที่ยวจะต้องยื่นผลตรวจ  2 แบบ ได้แก่ผลตรวจเชื้อไวรัสแบบพีซีอาร์ และ ผลตรวจแอนติบอดี IgG  โดยจะต้องกระทำอย่างน้อย 20 วันก่อนเดินทางไปที่นั่น 

กีเยร์โม โรชา ผู้บริหารเกาะเฟร์นันดู ดี โนโรนยา กล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นพยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นเศรษฐกิจของเกาะ ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล 340 กม. ในขั้นแรกของการเปิดบริการ จึงจะขอรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เคยติดโควิดมาแล้ว หายป่วย และมีภูมิคุ้มกัน เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่แพร่เชื้อหรือติดเชื้ออีก 

 

เกาะสวรรค์บราซิลเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง บนเงื่อนไข ต้องเคยติดโควิด-19 มาก่อน 

ภาพ pixabay/ brunobuback 

เกาะเฟร์นันดู ดี โนโรนยา ตั้งอยู่ในรัฐเปอร์นัมบูโก ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อย 21 แห่งในมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นปลายทางที่ชาวบราซิลเองฝันไปเยือนสักครั้งมากที่สุด ขึ้นชื่อเรื่องน้ำใสดั่งมรกต ชายหาดที่ยังคงงดงามตามธรรมชาติ แต่ละปี ต้อนรับนักท่องเที่ยวราว  1 แสนคนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะคนที่ไป จะต้องจ่ายภาษีรายวันเพื่อสนับสนุนความพยายามอนุรักษ์ด้วย เกาะแห่งนี้มีประชากรแบบอาศัยถาวร 3,500 คน ปิดรับคนนอกตั้งแต่ 21 มีนาคม ขณะไวรัสระบาดหนักทั่วบราซิล แม้แต่ชาวเกาะที่ติดค้างบนแผ่นดินใหญ่ ก็ห้ามกลับ เพิ่งได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเกาะเมื่อมิถุนายน  

นักวิจัยฮ่องกงพบเคสแรกของโลกที่ได้รับการยืนยันป่วยโควิด-19 ซ้ำ

โรชา ผู้บริหารเกาะยอมรับว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือนก.ย. ไม่ได้ปลอดความเสี่ยงทั้งหมด แต่มองถึงความเสี่ยงที่เป็นไปได้น้อยที่สุด และหนทางปลอดภัยก็คือการอิงข้อมูลวิทยาศาสตร์  แม้มีกรณีผู้ป่วยหายดีแล้วกลับมาติดเชื้อซ้ำ แต่ก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากและยังเป็นที่ถกเถียง  

ผลวิจัยใหม่ชี้ ร่างกายอาจไม่สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 หรือสร้างแต่อยู่ไม่นาน