ข่าว

สธ.เตรียมประกาศโควิด-19 เป็น"โรคติดต่ออันตราย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเตรียมลงมติประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายจันทร์นี้ เสนอรมว.สธ.ลงนาม เพื่อให้มีกฎหมายเป็นเครื่องมือรองรับสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ 

 

 

                              ในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ผ่านการพิจารณาจากกรรมการด้านวิชาการแล้วในการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย หลังจากข้อมูลต่างๆมีความชัดเจนมากขึ้น นับจากการประชุมครั้งก่อนผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน 

 

                             ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.นี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการ 30 คน จะลงมติเห็นชอบ เพื่อให้ประธานคณะกรรมการฯพิจารณาลงนามประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายต่อไป ขอให้ติดตามความคืบหน้าบ่ายวันจันทร์ 

 

                             เกณฑ์พิจารณาประกาศโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย  ใช้แนวคิดเดียวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก ได้แก่  1. โรคไม่คาดคิดว่าจะเกิด ไม่เคยเจอมาก่อน 2.  มีความรุนแรง ป่วยตายสูง (ในประเทศจีน ) 3.แพร่ระบาดข้ามประเทศ  4. มีการจำกัดการเดินทาง ซึ่งขณะนี้ก็ครบองค์ประกอบ  ต่างจากเดือนที่แล้วที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ 

 

                             เมื่อประกาศแล้วจะมีผลอย่างไรนั้น นพ.โสภณ อธิบายว่า จะช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆได้ดำเนินการในระดับนั้นอยู่แล้ว แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยไม่มาก การบริหารจัดการ เฝ้าระวัง การสอบสวนและรักษา ไม่ยุ่งยาก ใช้วิธีพูดคุยเจรจาหรือขอความร่วมมือได้ แต่หากสองเดือนข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นซึ่งมีความเป็นไปได้  จำเป็นจะต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน เวลาที่พบผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเมื่อผู้ป่วยมากขึ้นสถานการณ์จะซับซ้อน ต้องรับมือกับผู้คนหลายประเภท บางประเทศอย่างสิงคโปร์ ก็ใช้กฎหมายเป็นตัวนำในการควบคุมโรค อย่างการออกคำสั่งห้ามคนกลับจากจีนออกนอกบ้าน 14 วัน  หากไม่มีปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษ 

 

                             ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง กิตผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประกาศแล้ว ก็จะมีการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 ที่จะมีเรื่องการรอนสิทธิ์และบทลงโทษ ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี  แม้เวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการประกาศโรคติดต่ออันตราย แต่ในทางปฏิบัติและการรับมืออยู่ในระดับภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว ทั้งการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น การติดตามผู้สัมผัสโรค หรือ contact tracing ทุกราย รวมถึงการควบคุม การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ห้องแยกโรค อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) บุคลากร การฝึกอบรม ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการแบบคู่ขนานเสมือนหนึ่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ