คอลัมนิสต์

นายกแพทยสมาคมฯวิเคราะห์ "ไวรัสโคโรน่า" ระบาดอีกนานแค่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก นายกแพทยสมาคมฯ" วิเคราะห์ "โคโรน่าไวรัส" ระบาดอีกกี่เดือน

 

            เชื้อโรคร้าย “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019”  สั่นสะเทือนโลกมนุษย์ มีผู้ติดเชื้อจนป่วยเป็น “โรคปอดอักเสบรุนแรงจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่” ภายในไม่ถึง 2 เดือน พบใน 28 ประเทศ/เขตปกครอง ติดเชื้อแล้วเกือบ 3 หมื่นคนในจีนและทั่วโลก เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 560 ราย ...คำถามยอดฮิตตอนนี้คือ เมื่อไรเชื้อโคโรน่าไวรัสจะหยุดระบาด...สถานการณ์จะดีขึ้นในอีกกี่วัน ?

อ่านข่าว-รัฐแจกหน้ากากสกัดไวรัสโคโรน่า

 

 

              “2019-nCoV” คือรหัสที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้เรียกไวรัสร้ายตัวนี้ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมออกมาพบว่ามีลำดับยีนประมาณร้อยละ 88-96 เหมือนกับ “โรคซาร์ส” (SARS) ที่เป็นเชื้อไวรัสโคโรน่าระบาดจากค้างคาวช่วงปี 2002 ทำให้คนติดเชื้อนี้ป่วยเป็น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันกว่า  8 พันรายใน 17 ประเทศ เสียชีวิตเกือบ 800 ส่วน “โรคเมอร์ส” (MERS) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่เป็นไวรัสโคโรน่าเหมือนกันนั้น มีผู้ติดเชื้อ 2.5 พันราย เสียชีวิต 858 ราย แพร่ระบาดไป 27 ประเทศ 

 

          หากเปรียบเทียบ “ช่วงเวลาการระบาด” และ “อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย” ของโรคจากเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ผ่านมานั้น โรคซาร์ส ใช้เวลาระบาดประมาณ 6 เดือน อัตราผู้เสียชีวิตร้อยละ 9.5  ส่วน โรคเมอร์ส มีระยะเวลาระบาดหลายระลอก แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 – 6 เดือน อัตราการเสียชีวิต “ร้อยละ 34.4”

 

 

นายกแพทยสมาคมฯวิเคราะห์ \"ไวรัสโคโรน่า\" ระบาดอีกนานแค่ไหน

 

 

               สำหรับ “ไวรัสโคโรน่า 2019” นั้น ยังไม่รู้ว่าจะระบาดนานเพียงไร แต่จากข้อมูลถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 อัตราการเสียชีวิต “ร้อยละ 2.0”  

 

                 ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อวิเคราะห์แนวโน้มการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้ “คมชัดลึก” ฟังว่า การจะประเมินสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าตัวนี้ระบาดอีกนานแค่ไหนนั้น ต้องสืบค้นไปถึงจุดเริ่มต้นของตัวแพร่กระจายเชื้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นค้างค้าวหรือสัตว์ป่าอื่นก่อนแพร่มาสู่มนุษย์นั้น มาจากพื้นที่แถวใด และมีการกำจัดหรือทำความสะอาดแหล่งต้นตอแล้วหรือยัง ซึ่งข้อมูลของวารสารทางการแพทย์ “Lancet”ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ 4 แบบ ได้แก่

 

             สมมุติฐานที่ 1  ผู้ป่วยรายแรกแสดงตัวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 หมายความว่า ติดเชื้อตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนกว่าจะป่วย และจากการสอบถามผู้ป่วยรุ่นแรกอย่างละเอียด 41 คน พบว่า มี 13 คนที่ไม่ได้มาที่เมืองอู่ฮั่น จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อนี้ผู้ป่วยอาจมาจากพื้นที่อื่นก่อนแพร่กระจายที่ตลาดในเมืองอู่ฮั่น และการแพร่เชื้อจาก “คนสู่คน” เกิดได้ง่ายมากกว่าที่คาดคิด

 

              สมมุติฐานที่ 2  กลุ่มสัตว์ปีกรวมถึงค้างคาวที่มีเชื้อ 2019-nCoV ไม่ได้ป่วยแต่อาจเป็นตัวแพร่เชื้อ คาดว่าเชื้อกระจายช่วงที่พ่อค้าเชือดคอสัตว์ปีกต่อหน้าลูกค้า ฝอยละอองจากเลือดกระจายขึ้นไปในอากาศ ทำให้ลูกค้าหรือผู้เดินผ่าน ณ เวลานั้น รับเชื้อละอองฝอยเข้าสู่หลอดลมและปอดทันที

 

             สมมุติฐานที่ 3  มีสัตว์ปีก 1 ชนิดหรือ 1 ตัว อาจเป็น “ค้างคาว” ตัวที่มีเชื้อโคโรน่านั้น ขณะบินอยู่เหนือบริเวณตลาดสดอู่ฮั่นได้ปล่อยมูลออกมา กลายเป็นละอองฝอยตกลงสู่สัตว์ตัวอื่นหรือตกใกล้คนจำนวนมากที่เดินซื้อของทำให้สูดดมเข้าระบบทางเดินหายใจ

 

             สมมุติฐานที่ 4  อาจเป็นไปได้ที่เชื้อเกิดจาก “ค้างคาว” จำนวนมากที่อาศัยอยู่ใต้หลังคาบ้านในอู่ฮั่น เมื่อรังค้างคาวเหล่านี้ปล่อยมูลหรือสิ่งคัดหลั่งออกมาทางลมหายใจ ก็แพร่ไปทั่วบริเวณหลังคาบ้านที่อยู่ในตลาดสดหรือบริเวณใกล้เคียง เป็นเชื้อแบบละอองฝอยให้คนสูดดมเข้าไป เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วยที่ไม่ได้ไปตลาดแต่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง  และเป็นไปได้ที่ค้างคาวติดเชื้อกลุ่มนี้อาจบินมณฑลอื่นแล้วแพร่เชื้อในอากาศไปเรื่อย ๆ

 

 

นายกแพทยสมาคมฯวิเคราะห์ \"ไวรัสโคโรน่า\" ระบาดอีกนานแค่ไหน

 

 

            “จาก 4 สมมุติฐานข้างต้น หมายความว่าต้องหาแหล่งต้นตอแพร่ระบาดให้เจอ ถึงประเมินได้ว่าช่วงเวลาระบาดของโรคจะมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้วิเคราะห์เบื้องต้นได้ 2 สถานการณ์คือ

             รูปแบบที่ 1  รัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่หั่นและพื้นที่น่าสงสัยทั้งหมดแล้วได้ผลดี คือกำจัดหรือควบคุมแหล่งต้นตอการแพร่เชื้อได้แล้ว ถ้าเป็นรูปแบบนี้ การระบาดน่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายใน 2 เดือน หมายถึงมีรายงานพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เท่าที่เห็นตัวเลขผ่านไปหลายอาทิตย์แล้วหลังปิดเมืองแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลง 

             ส่วนรูปแบบที่ 2  คือ ยังไม่สามารถหาต้นตอแพร่ระบาดที่แท้จริงได้ เช่น ค้างคาวยังคงแพร่เชื้อไปในอากาศตามสถานที่ต่าง ๆ หากเป็นแบบนี้อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 9 เดือน  เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีน

 

            ผมอยากแนะนำให้เจ้าหน้าที่รัฐจีนเริ่มตรวจละอองในอากาศว่า พื้นที่ไหนมีเชื้อไวรัสโคโรน่าหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะตอนนี้เริ่มคุมผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้แล้ว คนส่วนใหญ่ในถนนก็ใส่หน้ากาก ควรลองรีบเก็บตัวอย่างอากาศในพื้นที่แถวนั้น ในตัวอาคารบ้านเรือน และจากมูลสัตว์ค้างคาวที่อาศัยตามหลังคาบ้าน เพื่อตรวจหาลำดับรหัสพันธุกรรมว่าเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่พบในผู้ป่วย หากพบว่ายังมีอยู่ก็ต้องหาวิธีกำจัดแหล่งต้นตอให้ได้”   

 

 

นายกแพทยสมาคมฯวิเคราะห์ \"ไวรัสโคโรน่า\" ระบาดอีกนานแค่ไหน

 

 

           ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า การติดต่อจากสัตว์สู่คนครั้งแรกน่าจะผ่านทางสูดดมละอองฝอยในอากาศที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ มากกว่า “ผ่านการกินค้างคาว” หรือสัตว์ปีกที่มีเชื้อโคโรน่าไวรัสโดยตรง เพราะเชื้อไวรัสควรตายไปตั้งแต่ขั้นตอนการปรุงอาหารด้วยความร้อน  

 

          ส่วนความรุนแรงของโรคนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เข้าไปถึง “เนื้อเยื่อปอด” หรือเข้าในปอดส่วนลึกมากน้อยเพียงไร หากละอองฝอยที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ ผ่านรูจมูก คอหอย หลอดลม ลึกเข้าไปจนไปถึงเนื้อปอดพร้อมกันจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนตัว จะทำให้ปอดอักเสบพร้อม ๆ กันหลายที่ ส่งผลให้เนื้อปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน ที่สำคัญคือระยะฟักตัวของไวรัสนี้สั้นเพียง 2 - 4 วัน ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้ทัน เพราะเม็ดเลือดขาวไม่เคยรู้จักกับเชื้อนี้มาก่อน ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จึงเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ส่วนคนที่หายป่วยหรือฟื้นตัวได้ ก็เพราะร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ทันนั่นเอง

 

 

          ส่วนเรื่องการผลิตยาหรือวัคซีนป้องกัน “ไวรัสโคโรน่า 2019” นั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นยอมรับว่า “เป็นไปได้น้อย” เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าเชื้อร้ายตัวนี้จะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ ถ้าบริษัทยาลงทุนก็ต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี สุดท้ายอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

 

         แต่ก็ไม่แน่เพราะ “รัฐบาลจีน” ตอนนี้มีเงินและมีทรัพยากรมากมาย อาจสั่งให้ผลิตวัคซีนตัวนี้ โดยไม่คำนึงถึงผลกำไร คงต้องรอลุ้นกันต่อไป ...

 

ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ