ข่าว

เปิดปูม เฟทุลเลาะฮ์ กูเลน คู่ปรับผู้นำตุรกี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครคือผู้นำ"รัฐคู่ขนาน" ที่ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังก่อกบฏนองเลือด

 

       เฟทุลเลาะฮ์ กูเลน ( Fethullah Gulen) เป็นชื่อที่ประธานาธิบดีเรเจ๊ป ไตยิบ แอร์ดวนแห่งตุรกี พาดพิงทันทีว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคมซึ่งจบลงอย่างนองเลือด มีผู้เสียชีวิตทั้งพลเรือนและทหารที่ร่วมก่อการ 265 ในแค่คืนเดียว บาดเจ็บอีกกว่าพันคน

       ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีแอร์ดวน กล่าวหากูเลน วางแผนโค่นล้มรัฐบาล แม้อีกฝ่ายหนึ่งได้พาตัวเองไปลี้ภัยเงียบๆอยู่ที่ศูนย์ โกลเดน เจเนอเรชัน วอร์ชิพ แอนด์ รีทรีท ในเมืองสแครนตัน เมืองเล็กๆ แถบเทือกเขาโปโคโน รัฐเพนซิลวาเนียมานาน 17 ปี

       กูเลน เกิดที่เมืองเอซูรุม เมื่อปี 2484 เป็นอิหม่ามที่เริ่มมีชื่อเสียงในตุรกีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว จากการเดินสายบรรยายส่งเสริมหลักปรัชญาที่ผสมผสานหลักอิสลามกับประชาธิปไตย การศึกษา วิทยาศาสตร์และการเสวนาข้ามความเชื่อ  มีลูกศิษย์ลูกหามากมายแทรกซึมทั่วสังคมตุรกีในฐานะผู้นำขบวนกาฮิซเม็ต ( Hizmet ) ภาษาตุรกีที่แปลว่า”บริการ”

        ขบวนการฮิซเม็ตเติบใหญ่พร้อมกับความร่ำรวยและอิทธิพลที่แผ่กว้าง สร้างโรงเรียนมากกว่า 100 แห่งในกว่า 100 ประเทศ เริ่มจากตุรกีก่อนขยายไปประเทศเอเชียกลาง แอฟริกาและทั่วโลก ขณะที่ผู้นำขบวนการได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในแวดวงมุสลิมโลก

        ประเมินว่า ประชากรตุุรกีที่รวมถึงผู้มีตำแหน่งสูงในกองทัพ ตำรวจและศาล ราว 10% สนับสนุนฮิซเม็ต ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล มูลนิธิ กิจการธนาคาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์

 

เปิดปูม เฟทุลเลาะฮ์ กูเลน คู่ปรับผู้นำตุรกี

 

       ครั้งหนึ่ง กูเลนได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนายแอร์ดวน แต่ทั้งสองเกิดแตกคอกัน เมื่อนายแอร์ดวนที่ผูกขาดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตุรกีมาหลายสมัยจนไม่สามารถเป็นต่อไปด้วยข้อจำกัดรัฐธรรมนูญ และไปนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแทน เริ่มไม่ไว้ใจขบวนการฮิซเม็ต และอิทธิพลแผ่กว้างของกลุ่มนี้ในสังคมตุรกี กระทั่งนำมาสู่ข้อกล่าวหากูเลน ว่าพยายามสถาปนาอีกรัฐภายในรัฐตุรกี หรือ รัฐคู่ขนาน

        ฝ่ายตรงข้ามมักยกคลิปเสียงเมื่อปี 2542 ที่แฉว่า กูเลนแนะนำให้สาวก แทรกซึมเข้าสู่สถาบันหลักๆโดยไม่ให้ใครสังเกตจนกว่าจะไต่เต้าถึงศูนย์กลางอำนาจ จะต้องรอคอยจนกว่าจะได้อำนาจรัฐ จนกว่าจะได้อำนาจทั้งหมดของสถาบันตามรัฐธรรมนูญในตุรกีมาอยู่ในมือ

      แต่นักเทศน์ชื่อดังระบุว่า เป็นเทปเสียงที่ถูกตัดต่อ และย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2542 ก่อนถูกแจ้งข้อหาก่อกบฏในประเทศบ้านเกิด

       จากนั้น ใช้ชีวิตแบบสันโดษอยู่ที่รัฐเพนซิลวาเนีย ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียนและสวดมนต์ แทบไม่เคยให้สัมภาษณ์ นานๆครั้งจะออกมาปรากฏตัวในที่สาธารณะ และถูกพิจารณาคดีลับหลังมาอย่างน้อย 3 ครั้ง

 

เปิดปูม เฟทุลเลาะฮ์ กูเลน คู่ปรับผู้นำตุรกี

 

        ปมตึงเครียดระหว่างฝ่ายกูเลนนิสต์หรือฝ่ายที่สนับสนุนกูเลน กับแอร์ดวน และพรรคเอเคพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2556 หลังจากอัยการและศาลที่เชื่อว่าใกล้ชิดกับนายกูเลน ขุดคุ้ยและแจ้งข้อหาทุจริตคนวงในของนายแอร์ดวน รวมถึงนายบีลาล ลูกชายของเขา

       ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นการตอบโต้ที่แอร์ดวน พยายามปิดโรงเรียนของฮิซเม็ต เพื่อพยายามจำกัดการเติบโตของอีกฝ่าย

       แต่แอร์ดวนก็เอาคืนชุดใหญ่ รวมถึงปลดเจ้าหน้าที่ในกองทัพ และตำรวจหลายร้อยนาย ไล่ลงมาตั้งแต่นายพลคนสำคัญ  ปิดโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่ดำเนินงานโดยฮิซเม็ต และกดดันหนังสือพิมพ์และสื่อที่เชื่อว่าเข้าข้างคู่อริ รวมถึงปลดบรรณาธิการ หรือปิดกิจการ

         ก่อนมาออกหมายจับกูเลนในปี 2557 ในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล และขึ้นบัญชีเป็นบุคคลที่ตุรกีต้องการตัวมากที่สุด

          ข้อกล่าวหาล้มล้างรัฐบาลกลับมาอีกครั้งหลังการก่อกบฏเมื่อคืนวันศุกร์  นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของรัฐบาลตุรกีในคดีฟ้องเอาผิดกูเลนในสหรัฐ กล่าวว่า ข่าวกรองพบความเคลื่อนไหวว่ากูเลนทำงานใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพบางคนเพื่อต่อต้านรัฐบาลพลเรือน ซึ่งเขาและบริษัททนายของเขาพยายามเตือนรัฐบาลสหรัฐหลายครั้งหลายหนถึงภัยคุกคามจากบุคคลผู้นี้และขบวนการของเขา

       แต่พันธมิตรเพื่อค่านิยมร่วม สาขาฮิซเม็ตในสหรัฐ ออกแถลงการณ์โต้ทันควันว่า ตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา กูเลนและผู้สนับสนุน ยึดมั่นในประชาธิปไตยและสันติภาพ “เราประณามการแทรกการเมืองของกองทัพเสมอมา”

        ขณะที่กูเลน ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่า ไม่มีความเกี่ยวข้อง และขอประณามการก่อรัฐประหารอย่างรุนแรงที่สุด แถลงการณ์ของกูเลน ระบุด้วยว่า การเอาชนะรัฐบาลต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้งที่บริสุทธิและยุติธรรม ไม่ใช่ด้วยกำลัง และขอพรพระเจ้าให้ตุรกีและพลเมืองตุรกี ผ่านพ้นสถานการณ์อย่างสงบและโดยเร็ว

       ที่ผ่านมา  รัฐบาลสหรัฐไม่มีทีท่าว่าจะส่งตัวนายกูเลนกลับตุรกี แม้เป็นพันธมิตรในสงครามกวาดล้างไอเอส ซึ่งพันธมิตรเพื่อค่านิยมร่วมระบุว่า เป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐมองออกว่าการตั้งข้อหาจากตุรกี มีแรงจูงใจทางทางการเมือง       ล่าสุด นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่าสหรัฐพร้อมพิจารณาหากตุรกีส่งคำร้องมา แต่รัฐบาลอังการาจะต้องมีหลักฐานการกระทำผิดของคนที่ต้องการตัวอย่างชัดเจน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ