Lifestyle

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] 

 

 

 


          ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพหากได้รับโอกาสในการพัฒนา นำมาซึ่งการสร้างศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า  จุดประกายเยาวชนและชุมชนทั้ง 5 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อปลูกฝังเยาวชนอายุ 12–17 ปี ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ พัฒนาทักษะชีวิต และนำสิ่งที่เรียนรู้คืนสู่ชุมชนและสังคม

 

 

          “ศูนย์การเรียนรู้ไฟฟ้า” ริเริ่มในปี 2552 โดยธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้สามารถเติบโตสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมอบโอกาสให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 12-17 ปี ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต (Art & Life Skill) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้คืนสู่สังคม ชุมชน พร้อมจัดงาน FAI-FAH ART FEST อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากศูนย์การเรียนรู้ไฟฟ้าทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ ประชาอุทิศ ถนนจันทร์ บางกอกน้อย และศูนย์ล่าสุดที่สมุทรปราการ มาแสดงผลงาน ความคิดสร้างสรรค์ ให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงพลังของเด็กที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

 


          ภายในงาน FAI-FAH ART FEST 2019 ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เด็กธรรมดา...คือสิ่งที่สวยงาม” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนแสดงผลงานศิลปะ โซนช็อปสินค้าจากเด็กไฟฟ้าและชุมชน โซนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคม และโซนเวทีการแสดงความสามารถ พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่เยาวชนโครงการไฟฟ้า ที่ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและทักษะอาชีพแขนงต่างๆ ที่สำเร็จหลักสูตรเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 36 คน
  

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

กาญจนา โรจวทัญญู

 

          กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า มีเยาวชนด้อยโอกาสมากมายซึ่งอยู่ในชุมชนที่พ่อแม่รายได้ไม่สูง สภาพแวดล้อมไม่ดีมาก เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสในการพัฒนา หรือค้นหาความสามารถของตัวเอง จึงก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ไฟฟ้า แห่งแรกที่ประดิพัทธ์ โดยมีหลักสูตรให้เรียนราว 6–8 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น ศิลปะ ร้องเพลง เต้น ดนตรี ทำอาหาร กีฬา ฯลฯ



  

          “เป็นการเปิดโลกให้เด็ก เด็กบางคนที่มาเรียนกับเราเขาไม่เคยเห็นสปาเกตตีเลย ดังนั้นกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขามีไอดอลใหม่ๆ มีโลกทัศน์ใหม่ๆ จากเดิมที่เคยมองว่าคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ดูเท่ แต่พอได้มาเรียนเขารู้ว่าตัวเองสามารถทำอย่างอื่นได้ เช่น เต้น ดนตรี ฯลฯ และสิ่งที่เราปลูกฝังให้เด็ก คือต้องรู้จักให้ ไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว ทุกปีเด็กจะต้องมีโปรเจกท์คืนสู่ชุมชน เช่น บางกอกน้อยทำแผนที่ท่องเที่ยวให้ชุมชน เพราะการเป็นผู้ให้กับผู้รับความรู้สึกไม่เท่ากัน ไม่ต้องรวย ไม่ต้องรอเรียนจบก็สามารถเป็นผู้ให้ได้”
  

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

 

          สำหรับเด็กที่สมัครเข้าในศูนย์การเรียนรู้ไฟฟ้า สามารถเลือกเรียนได้ 2 หลักสูตรและต้องอยู่จนครบ 3 ปี จึงจะถือว่าสำเร็จหลักสูตร มีเด็กบางส่วนที่มีความจำเป็นทางบ้านต้องดร็อปไว้ก็มีเช่นกัน แต่จากการสังเกตพบว่าเด็กที่อยู่กับเราครบ 3 ปี เขาจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เก่งขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น นอกจากเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนรู้ไฟฟ้าแล้ว ยังมีโครงการห้องสมุดไฟฟ้า สำหรับเด็กเล็กอายุ 8-11 ปี รวมถึงยกกิจกรรมไฟฟ้าไปทำในโรงเรียนด้วย ดังนั้นในแต่ละปีเราทำงานร่วมกับเด็กหลายแสนคน
   

          “ปัจจุบันศูนย์ยังมีแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเรารับอายุ 12–17 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่หัวเลี้ยวหัวต่อ และจำกัดให้เด็กที่มีรายได้ครอบครัวไม่สูงมาก ต้องการเพิ่มศักยภาพตัวเอง เพราะหากมีรายได้สูงถึงปานกลางเราจะถือว่าพ่อแม่มีกำลัง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในโครงการ FAI-FAH ART CONTEST เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย” กาญจนา กล่าวเพิ่มเติม
   

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

 

 

          นอกจากนี้ทีเอ็มบียังมีโครงการ FAI-FAH FOR COMMUNITIES สำหรับพนักงานโดยในทุกๆ ปี ต้องทำ 40 โปรเจกท์ร่วมกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างอาชีพ สิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต ฯลฯ เช่น ร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา แปลงงานวาดจากศิลปะบำบัดของผู้ป่วยจิตเวชเป็นผลิตภัณฑ์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ใบเตย สอนชุมชนทำคุกกี้ เป็นต้น
    

          “พนักงานต้องไปหาความต้องการของชุมชน โดยเรามีข้อกำหนดอยู่ว่าชุมชนที่จะลงไปต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง หลังจากจบโปรเจกท์ผู้นำชุมชนต้องสานต่อได้เพราะเราไม่เน้นบริจาคเงินแต่เน้นสร้างองค์ความรู้ เราให้เงินตั้งต้นเล็กน้อยจากนั้นชุมชนต้องไปต่อจึงจะยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองได้”


          ไฟฟ้าเสริมทักษะชีวิต
          “เฟิร์ส” ธนกฤต อินทร์ธรรม อายุ 16 ปี ชั้น ม.4 ร.ร.วัดสุทธิวราราม ซึ่งเข้าร่วมโครงการไฟฟ้าศูนย์ถนนจันทน์ เป็นเวลา 4 เดือน เล่าว่า ภายในศูนย์มีหลักสูตรให้เลือกเรียนมากมายตามความสนใจ เช่น หมวดเสริมความรู้วิชาการ หมวดดนตรี เต้นรำ และกีฬา หมวดศิลปกรรม สามารถเลือกเรียนได้คนละ 2 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรละ 3 ระดับ ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน โดยเลือกเรียนวาดภาพและวงดนตรี
  

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

“เฟิร์ส” ธนกฤต อินทร์ธรรม

 

 

          “สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากการมาเรียนที่ศูนย์คือการวาดรูป การจัดองค์ประกอบ วาดภาพเสมือน ซึ่งตามตลาดที่เขารับวาดราคาต่อรูป 500–700 บาท เป็นรายได้ที่ค่อนข้างดี และคุณแม่ก็เห็นด้วย จึงคิดว่าน่าจะสามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียนและช่วงปิดเทอมได้รวมถึงต่อยอดไปในอนาคตเป็นอาชีพได้ สำหรับหลักสูตร “วงดนตรี” เลือกเพราะส่วนตัวชอบร้องเพลง เคยไปประกวดตามเวทีต่างๆ และมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง” ธนกฤต กล่าว
  

          ด้าน นัฐภรณ์ อุทัย อายุ 18 ปี ชั้น ม.6 ร.ร.ดอนเมืองทหารอากาศบำรุง   ผู้ชนะเลิศระดับ ม.ปลาย การประกวด FAI-FHA ART CONTEST ในหัวข้อ เด็กธรรมดา...คือสิ่งที่สวยงาม เจ้าของผลงาน “เติมฝันที่ขาดหาย” ด้วยเทคนิคสีผสม อธิบายแนวคิดของรูปว่า เป็นรูปเด็กที่มีความผิดปกติตรงขา สำหรับเรามองว่าเด็กธรรมดาไม่จำเป็นต้องมีร่างกายครบทั้งหมด แต่คนที่เขาพิการก็ถือเป็นเด็กธรรมดาได้เหมือนกัน และเขาก็สามารถมีความฝันเหมือนคนทั่วไป เช่นรูปที่วาดพื้นหลังสะท้อนความฝันที่เขาอยากเป็นตำรวจ นักบินอวกาศ อยากทำทุกอย่างที่เด็กธรรมดาทั่วไปเขาทำกัน มันคือความฝันอันสวยงาม เพราะเขากล้าที่จะฝัน กล้าที่จะทำ ถึงแม้ความฝันของเขาจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กทั่วไปก็ตาม
  

 

 

ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน

นัฐภรณ์ อุทัย

 

 

          น้องนัฐเล่าต่อไปว่าชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ จนมาเจอครูปัญญา ซึ่งสอนศิลปะ ม.ปลาย จึงเริ่มวาดรูปจริงจังและเริ่มส่งประกวดมาเรื่อยๆ พอได้รางวัลรู้สึกดีใจมากเพราะมีความฝันว่าอยากเป็นครูสอนศิลปะ การวาดรูปให้อะไรหลายอย่าง ศิลปะหากเรามีความคิดสร้างสรรค์ มีใจรักในการทำ ได้รางวัลหรือไม่เราก็มีความสุขเพราะเราทำผลงานชิ้นนั้นสำเร็จ
  

          “หากใครที่มีความฝันหรือชอบอะไรสักอย่างให้ลงมือทำ เพราะบางทีสิ่งที่เราทำไปอาจจะได้อะไรกลับมามากกว่าสิ่งที่คิด และสักวันเราจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราชอบ” น้องนัฐ กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ