Lifestyle

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 


          โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เปิดโครงการห้องเรียนนวัตกรรมในหลักสูตร “STEAM4INNOVATOR@SCHOOL” ระดับไฮสคูล ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านอินโนเวชั่น พัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม โดยจับมือกับ NIA (เอ็นไอเอ) นำร่องเปิดเป็นแห่งแรก ลงนามร่วมกันวานนี้ (28 มี.ค.) โดยมี นายกิตติ บุญเชิด ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 1 เป็นประธาน

 

 

 

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม

 

          ปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร เยาวชนไทยมีความสามารถในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว ครูในยุคปัจจุบันจึงต้องปรับตัวให้สามารถเข้าใจ เข้าถึง และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนในการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการถาม การฟัง การสังเกต การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสร้างความไว้วางใจและสร้างแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
 

          ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเนื้อหาสาระด้านนวัตกรรม รวมถึงจัดกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงมือปฏิบัติตามแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมเบื้องต้น ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักพัฒนาโครงการนวัตกรรมจาก เอ็นไอเอ
   

 

 

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม

 

          สหชัย สาสวน ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่าโรงเรียนสามเสนได้จัดเตรียมสถานที่ “ห้องเรียนนวัตกรรม” และบุคลากร เพื่อร่วมจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสามเสนฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถผลิตชิ้นงานต้นแบบ เพื่อการทดสอบนำร่อง หรือการเพิ่มประสบการณ์ที่มีคุณค่าใหม่ที่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น โดยตั้งเป้าว่าครั้งแรกจะรับสมัครเด็ก 80 คน เปิดกว้างให้นักเรียนทุกระดับชั้นเข้าร่วม ทั้งนักเรียนสายวิทย์และสายศิลป์ เปิดสอนทุกวันเสาร์ในปีการศึกษา 1/2562 เป็นเวลา 12 สัปดาห์ 


    

          "การทำเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ประเทศกำลังก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาไทยก็ต้อง 4.0 ด้วย โครงการห้องเรียนนวัตกรรม STEAM 4 INNOVATOR@SCHOOL จะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม" ผอ.สามเสนวิทยาลัย กล่าว

 

 

 

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม

 


          โดยบูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ไม่เน้นเพียงการท่องจําทฤษฎีหรือกฎทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจ ทฤษฎีหรือกฎผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนา นําทักษะการคิด ตั้งคําถาม แก้ปัญหา และการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งนําข้อค้นพบนั้นไปใช้ หรือบูรณาการกับชีวิตประจําวันได้


          พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเรียนรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่า “STEAM4INNOVATOR” จะนำความรู้ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการมาบูรณาการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย

 

 

 

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม


           "การเรียนรู้ตลอด 12 สัปดาห์ ผ่าน 4 กระบวนการ STEAM4INNOVATOR ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 รู้ลึก รู้จริง (Insight) ขั้นตอนที่ 2 สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow Idea) ขั้นตอนที่ 3 แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) ขั้นตอนที่ 4 การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion) โดยมี  NIA โรงเรียน ผู้ประกอบการ ผู้ปกครองและนักเรียน 
    

          “โดยจะมีการเพิ่มศิลปะ (Arts) เข้าไปใน STEM บนพื้นฐานของการสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นการ “หล่อหลอม” (Nurture) สิ่งที่นักเรียนสงสัยใคร่รู้ (Curiosity) และช่วยให้พัฒนาความคิดเชิงพิจารณ์ (Critical thinking) เพื่อเพิ่มพูนทักษะแก้ปัญหาด้วย จากนั้นจะคัดเข้ามาเป็นกลุ่ม เสนอโปรเจกท์ กลุ่มละไม่เกิน 3 คนได้ใช้ทักษะด้านความรู้ การสืบค้นข้อมูล และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม สิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นการเฟ้นหาและต่อยอดนักนวัตกรรมต่อไป” ผอ.เอ็นไอเอ กล่าว   

 

 

ปั้นเด็กไทยเป็นผู้ประกอบการ"สามเสน"-NIAผุดห้องเรียนนวัตกรรม


          ด้าน ด.ญ.เภตรา อุณฑพันธ์ และด.ญ.ณัฐชยา นบนอบ  นักเรียนชั้นม.2 กล่าวว่า ดีใจที่โรงเรียนและเอ็นไอเอ เปิดห้องเรียนหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้การเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม นักนวัตกร ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โปรเจกท์ นำเทคโนโลยี และองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทั้งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งทั้ง 2 คนอยากให้มีห้องเรียนแบบนี้ไปทุกโรงเรียนจะได้ปลูกฝังแนวความคิดด้านการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรมตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้เยาวชนได้คิด ได้ลงมือทำ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองอีกด้วย
   

          โครงการนี้จะช่วยให้เยาวชนมีทักษะที่จะต่อยอดการเรียนรู้ในโลกแห่งความรู้มากมายต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจะเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเนื้อหาสาระด้านนวัตกรรม รวมถึงจัดกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดในการลงมือปฏิบัติตามแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมเบื้องต้น ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักพัฒนาโครงการนวัตกรรมจากเอ็นไอเอ อีกด้วย


          4ขั้นตอนผลิตนักนวัตกรรมระดับไฮสคูล
          **ขั้นตอนที่ 1 รู้ลึก รู้จริง (Insight)

          -สัปดาห์ที่ 1-3
          -ค้นหาแรงบันดาลใจจากกรณีศึกษา (case study)
          -ค้นหาข้อมูลเชิงลึก (insight) กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
          - ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking)

          **ขั้นตอนที่ 2 สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow Idea)
          -สัปดาห์ที่ 4-5
          -นำความคิดที่หลากหลายมาสังเคราะห์เป็นไอเดีย
          -กำหนดปัญหา/เป้าหมายที่ชัดเจนและมีโอกาสทำได้จริง

 

          **ขั้นตอนที่ 3 แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model)
          -สัปดาห์ที่ 6-9
          -คิดแผนธุรกิจเบื้องต้น
          -ลงมือทำต้นแบบชิ้นงาน (prototype)
          -นำชิ้นงานไปทดสอบกับลูกค้าจริง
          -หารือการพัฒนาชิ้นงานและการทำธุรกิจกับพี่ผู้เชี่ยวชาญ
          -เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างผลสำเร็จ


          **ขั้นตอนที่ 4 การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion)
          -สัปดาห์ที่ 10-12
          -เรียนรู้วิธีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
          -เรียนรู้วิธีการเผยแพร่และจำหน่ายสินค้า
          -เรียนรู้เทคนิควิธีการนำเสนอผลงานเพื่อการลงทุน
          -ได้ขึ้นเวที Pitching จริง
          -รับคำแนะนำจากคณะกรรมการและพี่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น
          -สร้างเป็นธุรกิจได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ