ข่าว

'ควบรวม true-dtac' ทำ เน็ตอืด สวนทาง ค่าบริการ แพง

15 ธ.ค. 2566

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิด เสียงสะท้อน 'ควบรวม true-dtac' ทำ อินเทอร์เน็ต ลดสปีด-ผิดเงื่อนไข แถมปรับแพ็กเกจตามอำเภอใจ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการเครือข่ายมือถือ หลังเกิดกระแส ผู้บริโภคจำนวนมาก ต่างเจอปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำ สวนทางค่าบริการแพง จากการ “ควบรวม TRUE-DTAC” ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 อีกทั้งยังเจอปัญหาค่าบริการ TRUE-DTAC-AIS ปรับขึ้นแพงเท่ากัน ผู้ใช้บริการจึงหมดทางเลือก จึงหารือกับ กสทช. เพื่อขอคำชี้แจง ปมค่าบริการแพง และ กสทช.ต้องการได้หลักฐานเชิงประจักษ์

ผลการสำรวจ ผู้บริโภค 2,924 ราย พบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมด ทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก ทั้งหมดนี้ เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการมือถือ ที่ล้วนได้รับผลกระทบหลังการ “ควบรวม TRUE-DTAC”

 

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือ ดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ ในเมื่อ TRUE-DTAC ควบรวมกันแล้ว อุปกรณ์เสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายให้ครอบคลุมจุดรับสัญญาณ พร้อมปรับปรุงโครงข่ายให้มีความเสถียร เพียงพอต่อความต้องการ และสัมพันธ์กับความหนาแน่นของผู้ใช้งาน

 

นอกจากนี้ สัญญาณความเร็วต้องใช้ได้จริง ตรงตามแพคเกจที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ เพราะปัจจุบันไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่าย ดังนั้น ต้องนำข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เพื่อให้บริการสัญญาณที่เหมาะสมที่สุด ส่วนเพดานอัตราค่าบริการต้องลดเฉลี่ยลง 12% ทันที โดยไม่มีข้ออ้าง ในเมื่อเป็นเงื่อนไขการ “ควบรวม TRUE- DTAC” ที่พ่วงมากับมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่กำหนดต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังควบรวมสำเร็จ แต่เวลานี้เลยกำหนดมาแล้ว แต่กลับยังเห็นการเพิกเฉย

 

 

อีกประเด็นของปัญหาสำคัญ ที่ผู้บริโภคสะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ปรับแพคเกจตามอำเภอใจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้บริการตามเงื่อนไขที่ลูกค้าซื้อแพ็กเกจเท่านั้น หากมีเหตุขัดข้องที่เป็นความผิดพลาดของผู้ประกอบการ ต้องชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับลูกค้า ที่สำคัญต้องใส่ใจดูแลปัญหาอย่างทันท่วงที ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ ใช้ AI ( เอไอ ) อย่างทุกวันนี้

 

 

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคฝากไปถึง คณะกรรมการ กสทช. อาทิ ขอให้พิจารณามติควบรวม TRUE- DTAC เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ ที่สำคัญต้องเปิดทางให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้บริโภค มีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

ผลสำรวจผลกระทบควบรวมกิจการ