กระทรวงเกษตรฯ เคาะส่งออก 'สินค้าเกษตร' ทุเรียน ครึ่งปี โกยเงินจีนแสนล้าน
เลขาธิการ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปภาพรวมการนำเข้า - ส่งออก " สินค้าเกษตร" ช่วง 6 เดือนแรกของปี 66 เทียบ 65 ในภาคส่งออก ตัวเลขรวมหายไป 5,558 ล้านบาท : ลดลงร้อยละ 0.65 ส่วนนำเข้าโตเพิ่ม 40,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05 ชี้ ทุเรียน ไทย ไม่ธรรมดา โกยรายได้ไปแล้วแสนล้าน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การ ส่งออกสินค้าเกษตร ปี 2563 - 2565 มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1,426,354 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.70 ต่อปี การส่งออกในปี 2566 หรือ 6 เดือนแรก ของปี (ม.ค.-มิ.ย.) เทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการส่งออกลดลงจาก 859,089 ล้านบาท เป็น 853,531 ล้านบาท หรือลดลง 5,558 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.65)
ส่วนการนำเข้า สินค้าเกษตร ปี 2563 - 2565 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 598,711 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 16.29 ต่อปี สำหรับการนำเข้าในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) เทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 337,617 ล้านบาท เป็น 378,315 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40,698 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05)
ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทย ในช่วงปี 2563-2565 ได้แก่ จีน (341,442 ล้านบาท) ญี่ปุ่น (152,071 ล้านบาท) สหรัฐอเมริกา (151,360 ล้านบาท) และสหภาพยุโรป (84,163 ล้านบาท) โดยมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ยังมีมูลค่าต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับสินค้าเกษตรส่งออกและนำเข้า ที่สำคัญของไทย สินค้าเกษตรส่งออก อาทิ ข้าว ช่วงปี 2563 - 2565 มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 108,048 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 9.86) โดยในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยส่งออกข้าวได้ 67,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 23.77 เนื่องจากความต้องการข้าวของโลกสูงขึ้น ในขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตมากกว่าคู่แข่ง จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น
ทุเรียน มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 94,988 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 29.55) โดยในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนได้ 102,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 30.77 เนื่องจากตลาด จีนมีความต้องการทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การส่งออกไม่มีปัญหาด้านโลจิสติกส์ ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น
ไก่ปรุงแต่ง มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 83,731 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 16.14) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยส่งออกไก่ปรุงแต่งได้ 45,199 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 3.77 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ โดยเฉพาะญี่ปุ่นนำเข้าลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของเงินเยน
ยางธรรมชาติ มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 78,435 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 42.64) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อีกทั้งในปี 2565 ระบบโซ่อุปทานสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ปกติ อย่างไรก็ตาม สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยส่งออกยางธรรมชาติได้ 34,712 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 30.86 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการยางพาราในอุตสาหกรรมลดลง
ในภาคสินค้าเกษตรนำเข้า อาทิ ถั่วเหลือง ช่วงปี 2563-2565 มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 64,533 ล้านบาท (อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 5.72 ) อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 43,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 42.84 เนื่องจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 15,445 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 22.85) เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงการแปรรูปเพื่อส่งออกที่มีมากขึ้น แต่ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยนำเข้ามันสำปะหลัง 14,510 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 3.81
ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 13,519 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 16.03) และในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง 8,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 10.05 เนื่องจากปริมาณหมึกที่จับได้จากการทำประมงพาณิชย์และขึ้นท่าที่ไทยลดลง จากกรณีราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ต้นทุนในการทำประมงสูงขึ้น ชาวประมงบางส่วนจึงลดรอบการออกเรือไปทำประมง ในขณะที่ความต้องการบริโภคหมึกยังคงทรงตัว ไทยจึงต้องนำเข้าหมึกจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
.
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 12,314 ล้านบาท (อัตราการเติบโตร้อยละ 31.33) เนื่องจากผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศตามการขยายตัวของภาคการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11,346 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 9.38