เส้นทาง "ทรู" ชื่อใหม่ บนชื่อเก่า ก่อน "ดีแทค" เหลือไว้เพียง ตำนาน
เส้นทาง "ทรู" บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อใหม่ บนชื่อเก่า หลัง ควบรวมกิจการ ก่อน "ดีแทค" เหลือไว้เพียงแค่ ตำนาน
ปิดดีลไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากมีข่าวการควบรวมกิจการของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสาร ระหว่าง "ทรู" กับ "ดีแทค" มาตั้งแต่ปลายปี 2564 หลังจากนั้น สังคม โดยเฉพาะผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ใช้บริการของสองเครือข่าย ต่างจับตามอง ว่าดีลนี้ จะเป็นอย่างไร เพราะนั่นหมายความว่า ผลกระทบย่อมเกิดขึ้น
เสียงคัดค้าน มีออกมาอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน เพราะประเมินกันว่า การที่ผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ ในประเทศไทย ทั้ง AIS TRUE และ DTAC เมื่อจะลดลงเหลือเพียง 2 เจ้า ย่อมส่งผลเสียต่อผู้บริโภค มากกว่าจะได้ผลดี
เส้นทางควบรวม ทรู-ดีแทค ก่อนจบดีล
1. เดือนพฤศจิกายน 2564 มีข่าวหลุดออกมาว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอสเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมควบรวมกิจการ โดย TRUE จะซื้อ DTAC
2. จากนั้น TRUE และ DTAC จึงได้ประกาศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื้อหาใจความคล้ายคลึงกัน โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอสเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ ขอเรียนว่า หากมีข้อชี้แจงใด ๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
3. เมื่อข่าวสะพัด องค์กรผู้บริโภค และนักวิชาการ ต่างออกมาวิเคราะห์ ไปในทางคัดค้าน เพราะหากดีลนี้สำเร็จ นั่นหมายความว่า จะส่งผลทำให้ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อันดับที่ 2 อย่างทรู และอันดับที่ 3 อย่างดีแทค รวมกันเป็นผู้เล่นรายเดียว แซงหน้าเจ้าตลาดเดิมอย่างเอไอเอส และทำให้มีผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลง และท้ายสุดผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ "ผู้บริโภค"
- เอไอเอส มีลูกค้า 43.7 ล้านราย เป็นอันดับหนึ่งในตลาดเครือข่ายมือถือมาอย่างยาวนาน
- ทรูมีลูกค้า 32 ล้านราย
- ดีแทค 19.3 ล้านราย
เมื่อ ทรู รวมกับ ดีแทค จะมีลูกค้ารวมกันถึง 51.3 ล้านราย เป็นจำนวนที่มากกว่า AIS
4. 20 ต.ค.2565 หลังประชุมกว่า 11 ชั่วโมง ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากรับทราบ ควบรวม ทรู - ดีแทค อย่างเป็นทางการ พร้อมกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดหลายข้อด้วยกัน ก่อนเผยแพร่ลงเว็บไซต์ กสทช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565
เงื่อนไขการควบรวมของ กสทช.
- ใครใช้ True หรือ Dtac อยู่ ในระยะเวลา 3 ปีหลังจากควบรวม ชื่อค่ายที่ใช้ก็ยังเป็นชื่อนั้น เนื่องจากเงื่อนไข กสทช. บอกให้ทั้งสองค่าย รักษาแบรนด์การให้บริการแยกกัน เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก
- กำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย โดยคิดราคาค่าบริการ ลดลงเฉลี่ย 12% การคิดค่าบริการจะต้องผ่านวิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละแคมเปญโปรโมชั่น โดยอัตราค่าบริการใหม่นี้ จะต้องเกิดขึ้นภายใน 90 วันหลังจากการควบรวม และกำหนดให้มีราคาแยกรายบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก
- แพ็คเกจที่ตกลงไว้ รวมถึงผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น โปรโมชั่น จะถูกคงไว้ตามนั้น ทรู-ดีแทค ไม่มีสิทธิยกเลิกให้อัตโนมัติ ยกเว้นว่าสัญญาแพ็คเกจเปลี่ยนแปลง แล้วเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และผู้บริโภคให้ความยินยอมแล้ว
- คุณภาพสัญญาณจะต้องไม่แย่ลง เพราะเงื่อนไขของ กสทช.ระบุว่า ทรูและดีแทค ต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Sites) จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน และต้องไม่ลดจำนวนเสาสัญญาณ (Telecom Towers)
- การบริการ กสทช. กำหนดว่า ทรูและดีแทค จะต้องเตรียมพร้อมรองรับลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากควบรวม เช่น จำนวนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ พนักงานในศูนย์บริการ ต้องเพียงพอ เป็นต้น
- โครงข่ายต้องครอบคลุมขึ้น กสทช. กำหนดให้ต้องมี 5G ครอบคลุม 85% ของประชากรภายใน 3 ปี และ 90% ของประชากรภายใน 5 ปี นับจากการรวมธุรกิจ ซึ่ง DTAC ระบุว่า สัญญาณจะครอบคลุมทั่วไทย ทุกย่านความถี่ หลังผนึกสถานีฐานระหว่าง DTAC กับ TRUE รวมถึงจุดใช้งาน WiFi ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นแห่ง
จบดีลอย่างเป็นทางการ
5. 12 ม.ค.2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า คณะกรรมการของทั้งสองบริษัทฯ ได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ในวันที่ 23 ก.พ.2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท
6. ชื่อใหม่ที่จะใช้ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ไม่มีชื่อของ DTAC เข้าไปมีส่วนร่วมแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวออกมาว่าจะใช้ชื่อลูกผสม "บริษัท ทรู ดี จำกัด (มหาชน)" รวมทั้ง ผลประกอบการ ดีแทค มีกำไรอย่างต่อเนื่อง
7. แรงกระเพื่อมเกิดขึ้นทันที จากฝั่งของพนักงาน Dtac หลังคณะกรรมการร่วมของทั้งสองฝ่าย เคาะรายชื่ออย่างเป็นทางการ เพราะ "ชื่อ" ไม่ได้เป็นอย่างที่คุยกันไว้ก่อนหน้านี้ แถมพ่วงกับความวิตกกังวล ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหรือไม่
8. ที่ประชุมมีการแต่งตั้ง นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายชารัด เมห์โรทรา เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดย นายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่
9. สุดท้าย ทั้งแบรนด์ Dtac และ True จะยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองต่อไปอีก 3 ปี เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป ตามเงื่อนไขของ กสทช.
10. ท้ายสุด ดีลจบสมบูรณ์ ชื่อของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ก็จะไม่มีอีกต่อไป เหลือไว้เพียงตำนาน และผู้บริโภคที่เคยใช้บริการของ TRUE และ DTAC จะต้องจดจำชื่อใหม่ ที่ชื่อเดิมคือ TRUE