ข่าว

กฟผ.เตรียมแจงปม "นายหน้าค้าไฟฟ้า" กำไรมากกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 12 ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฟผ.เตรียมชี้แจง กรณีที่เป็นรายเดียวแต่มีกำไรมากกว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 12 รายรวมกัน เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด กินส่วนแบ่งคนเดียว 1 ใน 3  และ เป็นนายหน้าค้าไฟฟ้า ซื้อจากเอกชนมาขายต่อให้ กฟภ.-กฟน.  กินส่วนต่าง เพราะผูกขาดสายส่งแต่เพียงผู้เดียว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางสังคมมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า ทั้งเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที (FT) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่ยังไร้ข้อสรุป ทั้งที่เวลาล่วงเลยใกล้ถึงกลางเดือนธันวาคม

 

และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.65 เว็บไซต์ ฐานเศรษฐกิจ ได้รายงานข่าว “กังขา กฟผ. นายหน้าค้าไฟฟ้า ฟันกำไรอื้อ หลังพบเจ้าเดียวมีกำไรมากกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 12 รายรวมกัน เสมือนผู้ผูกขาด”

 

ล่าสุดวันที่ 15 ธ.ค.65 “คมชัดลึก” ได้ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกฟผ. เพื่อประสานขอสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงจากผู้บริหารกฟผ.ในกรณีดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่า กฟผ.กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อออกจดหมายข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวในเร็ววันนี้ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจระบุว่า ยังมีประเด็นเรื่องการเปิดให้เอกชนยื่นคำขอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 303 โครงการ จากทั้งหมด 670 โครงการ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) 

 

ที่ฐานเศรษฐกิจพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นมากที่สุดถึง 50 โครงการ

 

ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ.  มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 32 %  หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ประมาณ 42,000 เมกะวัตต์  อีก 2 ใน 3 เป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชน

มองในภาพรวม กฟผ. ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าเอกชน  แต่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุด  รายเดียวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 1 ใน 3  

 

ขณะที่สัดส่วนไฟฟ้า  2 ใน 3 ที่เอกชนผลิต  มาจากโรงไฟฟ้าประมาณ 30 ราย  เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 ราย ซึ่งมี 2 รายที่ กฟผ. ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก้ กรุ๊ป  ถือหุ้น 25 %  และราชกรุ๊ป  กฟผ. ถือหุ้น 45 %  กฟผ.  จึงเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 3 

 

ฐานเศรษฐกิจ ยังรายงานด้วยว่า นอกจากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดแล้ว กฟผ. ยังเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว  ได้รับสิทธิในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และได้รับสิทธิขายไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวให้ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

 

มองในเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทย  กฟผ.จึงมีสถานะเป็น ผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด และผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟน. และ กฟภ. นำไปขายต่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

 

พูดง่ายๆตามภาษาการค้าว่า กฟผ. เป็นทั้งเจ้าของโรงงาน และนายหน้าค้าไฟฟ้ารายเดียวในประเทศไทย รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ในราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี มาขายต่อ เพราะเป็นผู้คุมช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย

 

ปีที่แล้ว กฟผ. มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 556,331  ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน ประมาณ 59,000 ล้านบาท  ในขณะที่ กฟภ. มีกำไร 14,059 ล้านบาท กฟน.มีกำไร 4,637 ล้านบาท

 

รวมทั้ง 3 รายซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และจัดจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย มี กำไรรวม 78,000 ล้านบาท โดยที่ กฟผ. มีกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรมากถึง 374,525 ล้านบาท 

 

เทียบกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์  12 ราย  มีกำไรรวมกันประมาณ 50,000 ล้านบาท  เอกชน 12  รายยังกำไรไม่เท่า กฟผ. รายเดียว เพราะมีรายได้จากการขายไฟเท่านั้น  ในขณะที่ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าขายเองด้วย รับซื้อจากเอกชนมาขายต่อด้วย มีรายได้ ทั้งจากการผลิตและเป็นนายหน้าค้าไฟฟ้า ในฐานะหน่วยงานของรัฐด้านพลังงานไฟฟ้า  การเป็นทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ และเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว  

 

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ควบคุมศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้า  ทำให้ กฟผ. มีอำนาจและขีดความสามารถที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน 
 
ที่มาข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ