ข่าว

ชาวนา20ล้านเล็งประท้วงขอเงินค่าข้าว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวนา 20 ล้านคน เตรียมประท้วงรัฐ ขอเงินค่าข้าว เชื่อรุกลามถึงขั้นไม่มีการเลือกตั้งแน่ ผลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรหนี้เพิ่ม4.8% รายได้เพิ่ม2.84%

              24ธ.ค.2556 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนมากจากที่เอาข้าวไปจำนำแล้ว ยังไม่ได้รับเงิน ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงการชำระหนี้สิน ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้าน และต้องลงทุนเพื่อทำนาปรัง การที่ชาวนาเอาใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้ จะได้เงินเพียง 20-30 % เท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับการใช้หมุนเวียในชีวิตประจำวัน

              ดังนั้นชานาจำนวนมาก มีความเห็นตรงกันที่จะออกมาประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลชำระเงิน แต่ทางสมาคมเห็นว่าควรรอรัฐบาลที่ระบุว่าจะจ่ายเงินให้ครบภายในสิ้นปีนี้ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินได้ ทางชาวนาก็พร้อมจะออกมาเดินขบวนเรียกร้อง และเรื่องนี้อาจมีการฟ้องร้องถึงศาลได้ ในขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวอาจรุกลามไม่ถึงการลงคะแนนเสียง และอาจไม่มีการเลือกตั้งในที่สุด

              “ปัจจุบันชาวนามีทั้งสิ้น 20 ล้านคน และไม่พอใจอย่างมากกับการดำเนินการของรัฐบาลที่ดูเหมือนไม่มีความจริงใจ บอกว่าจะจ่ายเงินให้ไม่เกืน สิ้นปี จนป่านนี้ยังไม่มเงินสักบาท สาเหตุที่จ่ายเงินไม่ได้ ควรจะบอกตรงๆ ว่าไม่มีเงินและหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ใช้ปล่อยให่ทุกอย่างคาราคาซัง ไม่รู้ว่าจะได้เงินหรือไม่ แถมยังมาขู่อีกว่าไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เงินคาข้าวจะไม่ได้ ทั้งๆที่เอาข้าวเขาไปแล้ว อันที่จริงชาวนาต่างหากที่ควรจะขู่ ฝ่ายรัฐบาล “ นาย ประสิทธิ์ กล่าว

              นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ชาวนาเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน ยังมีกลุ่มผู้ให้บริการเช่นรถเกี่ยว ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจากชาวนาเช่นกัน มีการออกมาเรียกร้องและหารือร่วมกันเป็นระยะ เพื่อจะเดินทางเรียกร้องรัฐบาล ทวงหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมหมดแล้วเพียงต่อรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น เพราะทุกคนถึงขีดสุด แล้ว

 

ผลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรหนี้เพิ่ม4.8%

              นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแข่งขั นทางด้านการผลิตและการค้าได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยต้องก้าวสู่ยุคของการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอ  โดยเฉพาะกลุ่มประชาคมอาเซียน หรือเออีซี  ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการผลิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งมีถึง 5.8 ล้านครัวเรือน 

              ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมีนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรทั้งด้านดิน น้ำ พันธุ์พืช สัตว์ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการแข่งขัน การให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตการรวมกลุ่ม และการตลาด  รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยด้านการเกษตรครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ดีและมีความสุมากขึ้น

              ทั้งนี้จากผลการศึกษาภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า  รายได้เงินสดของเกษตรกร ทั้งประเทศมีอัตราการขยายตัว 2 % จากปี เพาะปลูก 2551/52 - 2554/55 โดยภาคใต้มีอัตราการขยายตัวลดลง 3.81 % เนื่องจากสินค้าหลัก คือยางพาราที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงปี 53และ 54 จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ  ส่วนสินค้าอื่น เช่นปาล์มน้ำมัน และผลไม้มีราคาสูงขึ้นเล็กน้อย และปริมาณผลผลิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยางพารา  ภาคที่มีรายได้เงินสดขยายตัวมากที่สุดคือ ตะวันออกเฉียงเหนือ  7.02 %  เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน  ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ภาคเหนือมีอัตราการขยายตัว 3.85 % ภาคกลาง 1.87 %

              ด้านรายได้เงินสดสุทธิ เกษตรกรทั้งประเทศ  มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.33 % จากปี เพาะปลูก 2551/52 - 2554/55  โดยภาคใต้ยังมีอัตราการขยายตัวลดลง 9.46 % เป็นผลมาจากราคายางพาราตกต่ำ ในขณะที่ปัจจัยการผลิต เช่ยปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน แรงงาน มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง  ส่วนภาคอื่นๆมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น  โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด 14.82 %  ภาคกลาง 2.84 % และภาคเหนือ 2.12 %  ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าเกษตรและต้นทุนการผลิตเป็นปัจจุยสำคัญที่สัมพันธ์กัน และมีผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรกร

              โดยรายได้สุทธิที่ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งรวมถึงรายได้นอกภาคการเกษตร พบว่า ทั้งประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.84 % จากปี เพาะปลูก 2551/52- 2554/55  โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการขยายตัวสูงสุด 7.90 % รองลงมาคือ ภาคเหนือ 4.93 % ภาคกลาง 4.92 % ในขณะที่ภาคใต้มีอัตราการขยายตัวลดลง 5.65 %   ทั้งหมดส่งผลให้ เกษตรกรมีทรัพย์สินปลายปี ทั้งประเทศมีอัตราการขยายตัว เพิ่มขึ้น 2.32 % จากปี เพาะปลูก 2551/52- 2554/55 โดยภาคใต้มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด 9.75 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.03 % ในขณะที่ภาคเหนือ มีอัตราการขยายตัวลดลง 6.22 % และภาคกลางมีอัตราการขยายตัวลดลง 0.68 %  ทั้งนี้สินทรัพย์เกษตรกรถือเป็นทรัพยากรหรือปัจจัยหลัก ในการผลิตของเกษตรกร  ทรัพย์สินเกษตรที่สำคัญคือ ที่ดิน เครื่องมือ เครื่องจักร และเงินทุนที่ใช้ประกอบกิจกรรมเกษตร โดยที่ดินเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินเกษตรมากที่สุด  ซึ่งผลสำรวจยังพบว่าเกษตรกรมีหนี้สินปลายปีทั้งประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.84 % จากปี เพาะปลูก 2551/52 - 2554/55   หนี้สินที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากเกษตรกรต้องการใช้เงินทุนทางด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อขยายการผลิตและกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น จากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรกู้เงินมาลงทุนกิจกรรมของครัวเรือน
 
              โดยภาคใต้มีอัตราการขยายตัวของหนี้สินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 8.92 % รองลงมาคือ ภาคเหนือ 8.29 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.97 % ในขณะที่ภาคกลางมีอัตราการขยายตัวลดลง 0.14 % 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ