Lifestyle

ราคายางพาราในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำกินถิ่นอาเซียน : ราคายางพาราในอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                      ยางธรรมชาติ หรือยางพารา ที่กำลังมีปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องในวันนี้ มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และคนพื้นเมืองได้รู้จักการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนมาก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะเข้าไปพบและนำมาคิดค้นเพื่อการผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์เป็นของใช้
 
                      การแพร่กระจายของการใช้ยางพาราเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปในช่วงปลายพุทธศตวรรษ 2300 เรื่อยมา เพราะได้มีการค้นพบวิธีทำให้ยางคงรูปได้ ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ตามมา โดยเฉพาะการนำมาใช้ในองค์ประกอบของเครื่องจักรกลต่างๆ และยุทโธปกรณ์ ทำให้ความต้องการยางพาราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
                      แรงกดดันจากการขาดแคลนอุปทานในยุคนั้น ทำให้เซอร์คลีเมนส์นำยางมาทดลองเพาะปลูกในถิ่นเอเชีย โดยเริ่มที่อินเดีย และต่อมาขยายไปในอาณานิคมของอังกฤษและฮอลแลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งได้พบว่าในคาบสมุทรแหลมมลายูเป็นแหล่งที่ยางเติบโตได้ดี ทำให้การเพาะปลูกยางพาราขยายไปอย่างกว้างขวางทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในช่วงต้นพุทธศตวรรษ 2400 สำหรับประเทศไทยมีการนำยางเข้ามาทดลองปลูกที่ จ.ตรัง เป็นแห่งแรก ในช่วงกลางพุทธศตวรรษ 2400 ซึ่งต่อมาได้มีการขยายการเพาะปลูกกันอย่างกว้างในภาคใต้ของไทย
 
                      องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้รายงานว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวยางพาราของโลกในปี 2556 มีประมาณ 64.47 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นมาจากปี 2547 ซึ่งมีพื้นที่เพียง 50 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 29 ในขณะที่ผลผลิตยางพาราของโลกในปี 2556 มีประมาณ 11.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งมีจำนวน 8.94 ล้านตัน หรือร้อยละ 33.89 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
 
                      ปัจจุบันยางพารามีแหล่งเพาะปลูกและผลิตที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในปี 2556 อาเซียนมีพื้นที่เก็บเกี่ยวยางโดยรวมประมาณ 49.92 ล้านไร่ หรือร้อยละ 77.58 และมีผลผลิตรวม 9.05 ล้านตัน หรือร้อยละ 75.61 ของผลผลิตยางพาราโลก ประเทศที่มีผลผลิตรวมมากที่สุดได้แก่ ไทย รองลงมา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยใน 3 ประเทศนี้มีผลผลิตรวมกันมีถึง 7.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 86.19 ของผลผลิตในชาติอาเซียน และร้อยละ 65.16 ของผลผลิตยางพาราโลก
 
                      กระนั้นการใช้ประโยชน์ยางพาราในกลุ่มผู้ผลิตในอาเซียนเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศมีไม่มากนัก ประมาณการอยู่ที่ 1.79 ล้านตันเท่านั้น หรือร้อยละ 19.77 อาเซียนจึงมีผลผลิตส่วนเกินถึง 6.01 ล้านตัน จะส่งออกในรูปของ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง หรือน้ำยาง เป็นต้น
 
                      สินค้ายางพาราจึงเป็นสินค้าที่แข่งขันกันเองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตในอาเซียน อุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรเห็นว่าสินค้ายางพารามีระดับราคาที่เคลื่อนไหวสูงขึ้นในช่วงเวลานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระดับราคาในปัจจุบัน และยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว แน่นอนว่าความต้องการสินค้าต่างๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ ย่อมจะชะลอตัวลงตามมาด้วย
 
                      นอกจากนี้ยางพารายังมีคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ ยางสังเคราะห์ ที่นำเอาผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียมมาใช้ ระดับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างมากย่อมทำให้ต้นทุนในการผลิตยางสังเคราะห์ถูกลง ยิ่งเป็นแรงกดดันต่อระดับราคายางพาราให้ตกต่ำลงไปด้วยอีกเช่นกัน
 
                      ราคายางพาราที่ตกต่ำลงในช่วงเวลานี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามวัฏจักรการเคลื่อนไหวของราคายางพาราที่นอกเหนือไปจากการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล ในหนึ่งช่วงของการเคลื่อนไหวของราคาตามวัฏจักรนี้ใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี กว่าจะกลับฟื้นสู่ระดับสมดุลใหม่
 
                      ดังนั้น ใครที่ไปให้สัญญากับเกษตรกรว่าจะยกระดับราคาสินค้ายางพาราให้กลับสู่ในสภาพราคาสูงๆ ได้ จึงต้องพึงระวัง เพราะจะต้องใช้เงินและทรัพยากรในการจัดการจำนวนมากมายทีเดียว กว่าจะให้มาตรการเห็นผลเกิดขึ้นได้
 
 
 
 
----------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : ราคายางพาราในอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ