ข่าว

กำหนดแผน'เคยู โมเดล'ทางแก้วิกฤติน้ำท่วมปี55

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กำหนดแผน 'เคยู โมเดล' ทางแก้วิกฤติน้ำท่วมปี55 : รายงานพิเศษ : โดย ... ปารมี ปานงาม

          เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งล่าสุดช่วงปลายปี 2554 สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเป็นประวัติการณ์ ทั้งทรัพย์สิน ชีวิตผู้คน สัตว์เลี้ยงและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2554 พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย 17 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ พัทลุง และนราธิวาส รวมแล้ว 12.59 ไร่ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายภาคส่วนต่างหาหนทางในการที่จะแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในปี 2555 และการแก้ปัญหาในระยาวในหลายโครงการทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น 

          ในส่วนของนโยบายและการวางแผนงานในระดับประเทศนั้น รัฐบาลได้มอบหมายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการและแก้ปัญหาที่เกิดเพื่อที่จะได้รับผลกระทบในทรัพย์สินและการดำเนินชีวิต อย่างล่าสุดในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ระดมมันสมองจากหลายภาคส่วนในรูปแบบของการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “ก้าวพ้นวิกฤติน้ำบนเส้นทางเกษตรศาสตร์โมเดล” เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและระดมสมองในการเตรียมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมที่ใกล้จะมาถึงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ 

          สำหรับการเตรียมความพร้อมตามหลักนโยบายภาครัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้กำหนดแผนงาน 2 แบบด้วยกัน คือ แบบปฏิบัติการอุทกภัยระยะเร่งเด่น กับยุทธศาสตร์การบรรเทาทุกข์ภัยแบบบูรณาการ (กรณีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) 

          แผนงานระยะเร่งด่วนนั้น มีการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก โดยมุ่งเน้นใน 8 ลุ่มน้ำที่สำคัญที่เกี่ยวพันธ์กับแม่น้ำเจ้าพระยา แผนเร่งฟื้นฟูและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมที่เกิดจากความเสียหายเมื่อปีที่แล้ว แผนการพัฒนาคลังข้อมูลระบบะพยากรณ์และเตือนภัยจะเป็นความร่วมมือและรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานเพื่อนำมาวิเคราะห์และคาดการณ์แผนงานพื้นที่รับน้ำนองหรือแผนที่ทั้งหมดที่สามารถจะนำน้ำระบายลงสู่พื้นที่ได้ และสุดท้ายแผนปรับปรุงองค์ประกอบเพื่อการบริหารจัดการน้ำ 

          แนวทางแก้ปัญหาในมุมมองของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ระบุว่า แผนงานด้านกรมชลประทานก็มี 4 แผนงาน คือ 1.จะมีการปรับปรุง จัดการเขื่อนน้ำหลัก 2.ฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างเดิม 3.ระบบพยากรณ์ และ 4.พื้นที่รับน้ำนอง เขื่อนทั้งในประเทศไทยมีทั้งหมดด้วยกัน 33 เขื่อน เป็นเขื่อนของการไฟฟ้า 10 เขื่อน และของกรมชลประทาน 23 เขื่อน ซึ่งจะเป็นการวางแผนในการใช้น้ำในแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ในแต่ละปีจะมีน้ำมาก-น้ำน้อย ถ้าน้ำมากจะอยู่ 83% และน้ำน้อยจะอยู่ที่ 59% 

          จากสถิติในปีที่ผ่านมาจึงมีเทคโนโลยีที่เป็นระบบคำนวณพยากรณ์ที่มากกว่า 500 สถานีโดยใช้การเชื่อมโยง โดยเอาโปรแกรมพยากรณ์ทั้งหมดนำมารวบรวมและประมวลผลความรวดเร็วของน้ำเพื่อจัดสรรน้ำในเขื่อน หลังจากประมวลผลเสร็จน้ำมากน้อยเพียงใดยังมีพื้นที่รองรับน้ำส่วนที่เกิน คือพื้นที่รับน้ำนอง การดำเนินในการหาพื้นที่คือสำรวจพื้นที่แล้วหาศักยภาพในการกักเก็บน้ำแล้วจำลองสภาพน้ำในปี 2554 และต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน แต่ทั้งหมดนี้ในการบริหาารจะขึ้นอยู่กับเรื่องการบรรเทาและอุทกภัยเป็นอันดับแรก ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าว

          ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำเสนอแบบ เคยู โมเดล (ku model) ที่ช่วยบรรเทาและแรงต้านของน้ำโดยมีแนวคิดป้องกันน้ำไม่ให้รอดรั้วใต้กำแพง กำแพงที่ใช้จะเป็นกำแพงทึบ และเสริมกำแพงด้านหลัง รั้วนี้มีการออกแบบป้องกันการไหลลอดของน้ำจะไม่สามารถผ่านหรือรอดรั้วจากใต้ดินได้เนื่องจากมีแผ่นจีซีแอล (GCL) ที่ผลิตจากวัสดุเบนโทไนท์ มีชั้นของแผ่นใยสังเคราะห์ชนิดถักทอ แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดไม่ถักทอ เป็นตัวประสานและยึดติดกันกับด้าย ป้องกันน้ำไหลผ่านรอยต่อ ป้องกันการล้มคว่ำ สร้างระบบดักน้ำใต้ดินป้องกันการไหลผ่านดินจนเป็นโพรง อายุการใช้งานของระบบกันน้ำใต้ดินมากกว่า 30 ปี ประหยัด สามารถหาวัสดุและผู้ก่อสร้างได้ง่าย และยังไม่ต้องรื้อรั้วเก่าสามารถทำและก่อสร้างต่อได้เลย "ขั้นตอนการทำ รั้วเดิมตั้งขุดหลุมด้านหลัง ใส่แผ่นจีซีแอลฝังลงไปใต้รั้ว และนำดินกลบนำแผ่นจีซีแอลไว้ชั้นอีกครั้ง และกลบดินให้สูง 70 เซนติเมตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแต่รั้วที่จะไม่สร้างความอึดอัดให้ผู้ที่อยู่ในรอบรั้วแห่งนี้เนื่องจากมีประโยชน์เพื่อใช้เป็นลู่วิ่งรอบรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรฯ แต่ในการทำครั้งนี้จะต้องมีวิศกรในการควบคุมจึงมั่นใจได้เอาเคยู โมเดล เอาอยู่ครับ" รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว

          ขณะที่ รศ.ดร.วราวุธ วุฒิวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คาดการณ์ว่าในปี 2555 ที่อาจเกิดเหตุการณ์อุทกภัยได้มาจาก 4 ประเด็น คือ การเกิดเหตุการณ์ในน้ำท่วมเมื่อครั้งอดีต จากการศึกษาการน้ำท่วมเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 เกิดน้ำท่วมลึก 8 ศอก หรือประมาณ 4 เมตร แต่ในปีพ.ศ.2485 และพ.ศ.2538 ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงที่สุดในระดับ 2.27 เมตร นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่ในปี พ.ศ.2554 เกิดประวัติกาลครั้งใหม่ มีระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.53 ที่ว่าได้สถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 

          ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเละหนุน และสิ่งที่ตามมานั้นคือความเตรียมพร้อมและระบบการป้องกันมาจากเครื่องมือ เช่น อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ระบบพยากรณ์ นี่คือการป้องกันแต่สิ่งที่เราจะป้องกันไม่ได้คือ พายุ ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดมวลน้ำมหาศาลนั่นคือ พายุที่เข้ามาจำนวนมากและทิศทางการเข้าคือทิศทางเดิมหรือเกิดซ้ำๆ จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ต้องขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ถ้าภูมิอากาศไม่มีความเปลื่ยนแปลงก็จะไม่ส่งผลให้เกิดผลกระทบในประเทศไทยได้

          เคยู โมเมล ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเสนอมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมในปี 2555 ที่ก่อนหน้านี้มีหลายหน่วยงานที่เสนอแผนมา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลน่าจะนำไปพิจารณาเพื่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติในอนาคต

 

 

----------

(หมายเหตุ : กำหนดแผน 'เคยู โมเดล' ทางแก้วิกฤติน้ำท่วมปี55 : รายงานพิเศษ : โดย ... ปารมี ปานงาม)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ