
'ผบ.ตร.' ใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้ง 'ก.ตร.' ครั้งแรก ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่
"ผบ.ตร." ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง "ก.ตร." ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ 2565 นับเป็นครั้งแรกของตำรวจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับ รอง ผกก.ขึ้นไป
15 มี.ค.2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อมาทำหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 พร้อมข้าราชการตำรวจที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง คอยควบคุมการเลือกตั้ง ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต
ทั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง ก.ตร.ครั้งแรกของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ กำหนดวันเลือกตั้งพร้อมกัน คือในวันนี้ (15 มี.ค.66) เวลา 08.30-16.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตามต่างจังหวัดให้เลือก ณ สถานที่ประจำจังหวัดนั้นๆ ที่กกต.กำหนด
ส่วนตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน กทม.หรือส่วนกลาง ใช้สโมสรตำรวจ โดยบรรยายกาศการเลือกตั้ง ก.ตร.ของข้าราชการตำรวจเป็นไปด้วยคึกคัก ตำรวจต่างตื่นตัวมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเป็นข้าราชการตำรวจตั้งแต่รองผู้กำกับการ หรือเทียบเท่าขึ้นไปมีประมาณ 13,000 กว่าคน กำหนดให้ 1 บัตร เลือกได้ไม่เกิน 6 คน แบ่งเป็นเลือกผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ก) ได้ไม่เกิน 3 คน และ เลือกผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ข) ได้ไม่เกิน 3 คน
สำหรับผู้สมัครผู้ทรงวุฒิประเภท (ก) คุณสมบัติ ต้องเคยเป็นข้าราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการขึ้นไป และพ้นจากความเป็นข้าราชการตำรวจเกิน 1 ปี มีผู้สมัคร 23 คน ต้องเลือกให้เหลือ 3 คนประเภท ข. ผู้ได้รับการเสนอชื่อ 6 คน เลือกได้ 3 คน
โครงสร้าง "ก.ตร." มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, ผบ.ตร. รองประธาน, กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ., เลขาธิการ ก.พ.ร., รอง ผบ.ตร. 5 คน (ตามลำดับอาวุโส), จเรตำรวจแห่งชาติ, ผู้ทรงวุฒิประเภท ก. 3 คน และ ข. 3 คน โดยมี ผบช.สง.ก.ตร. เป็นเลขานุการ รองผบช.สง.ก.ตร. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ทรงคุณวุฒิประเภท (ก) ตามกฎหมายมีได้ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิประเภท (ข) 3 คน วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพียงวาระเดียว มาจากการเลือกตั้ง