ข่าว

8 วิธี "ป้องกันเหตุอาชญากรรม" จากมิจฉาชีพ หากผูกบัญชี "ช้อปปิ้งออนไลน์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกไซเบอร์ แนะ 8 วิธี "ป้องกันเหตุอาชญากรรม" จากมิจฉาชีพ หากผูกบัญชีธนาคาร บัตรเคดิต และ "ช้อปปิ้งออนไลน์" ล่าสุดมีผู้เสียหายจำนวนมาก

จากกรณีที่มีการเสนอข่าวในโซเชียลมีเดีย ผู้เสียหายหลายราย ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หลังซื้อขายสินค้า หรือ "ช้อปปิ้งออนไลน์" โดยมีการผูกเคดิตธนาคาร กับ แอปพลิเคชันต่างๆ จากนั้นเงินที่อยู่ในบัญชี หายไป โดยที่รู้ถึงสาเหตุ ความเสียหายกว่ามากถึง 50,000 บาท

 

ล่าสุดวันนี้ (4 ธันวาคม 2565) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ในฐานะ โฆษก ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ออกมาเตือนภัย  "ป้องกันเหตุอาชญากรรม" ถึงเรื่องดังกล่าว ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพ และ ระมัดระวัง การกรอกข้อมูลส่วนตัว ทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือ แอปพลิเคชันปลอม

พ.ต.อ.กฤษณะ ยังแนะนำ นัก "ช้อปปิ้งออนไลน์" ถึงแนวทาง  "ป้องกันเหตุอาชญากรรม" มิจฉาชีพ เบื้องต้น 8 แนวทาง ดังนี้

 

1.หลีกเลี่ยงการให้หักเงินในบัญชีธนาคารอัตโนมัติ ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง หรือชำระสินค้าผ่าน QR code แทน

2.บัญชีธนาคารที่ผูก หรือเชื่อมไว้กับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีจำนวนเงินในบัญชีไม่มาก

3.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก นอกเหนือจาก  AppStore หรือ Playstore

4.ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการบัญชีธนาคารผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)

5.หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)

6.ระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเอง

7.ควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) หรือจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตรเพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน

8.หากพบสิ่งผิดปกติของบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ให้ทำการแจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์

 

สำหรับมิจฉาชีพ ที่นำเงินผู้เสียหายไปใช้ จะถูก เข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ  ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ หากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือ บางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่า จะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน” ก็จะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวง ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิด ในโลกออนไลน์ ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้ แนวทางป้องกันให้ ประชาชนที่ "ช้อปปิ้งออนไลน์" ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

ทั้งนี้หากได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย หรือ พบเบาะแสการกระทำผิด สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และ แจ้งความออนไลน์ ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ