ข่าว

"หมอพรทิพย์" ชี้ตรวจยืนยันสารเสพติดมีสิทธิ์ผิดพลาดได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอพรทิพย์" อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เผยระบบตรวจหาสารเสพติดมีโอกาสผิดพลาดได้ ชี้ถ้าชัวร์ต้องส่งเข้าแล็บ ย้ำสอดรับคำแถลง "รมว.ยธ." ที่ระบุเกิดความคลาดเคลื่อนเหตุขาดองค์ความรู้

วันที่ 24 พ.ย. 2563 แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ หรือ หมอพรทิพย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลักการตรวจพิสูจน์สารเคมีโดยทั่วไปจะต้องกำหนดก่อนว่าจะตรวจพิสูจน์สารเคมีอะไร เนื่องจากจะต้องนำอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจสำหรับสารเคมีแต่ละประเภทโดยเฉพาะมาทำการพิสูจน์ ซึ่งเป็นไปตามหลักการปฏิบัติสากล และขั้นตอนการตรวจจะทำได้แค่ในห้องแล็บเท่านั้น โดยการนำสารเคมีที่ต้องการมาตรวจ อาจจะมีผลตรวจที่อาจจะมีปรากฏมากกว่า 1 อย่าง จึงจะต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง อย่างการตรวจหาสารเคตามีนก็จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้พิสูจน์เฉพาะเช่นกัน

 

สำหรับประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านี้ สารเสพติดอย่าง "เคตามีน" ไม่ใช่สารเสพติดที่แพร่หลายมากนัก จึงทำให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการพบการใช้สารเคตามีนเพิ่มขึ้น จึงทำให้อาจจะเกิดความผิดพลาดได้

 

 

ทั้งนี้ทีมข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การตรวจพิสูจน์สารเสพติดที่ผิดพลาดมาจากการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การตรวจที่เป็นขั้นตอนเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้มีการส่งเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจพิสูจน์อย่างละเอียด ซึ่งอาจจะมีเจ้าหน้าที่บางรายที่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดในการตรวจ แต่กลับรับรองว่าสารเคมีที่พบเป็นเคตามีน จึงทำให้เกิดผลกระทบที่เสียหายออกมา

 

สำหรับราคาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหาสารเสพติด จากการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจหาสารเสพติดที่ใช้ตรวจจากทางปัสสาวะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบจุ่ม และแบบหยอด

 

แบบจุ่ม หรือที่เรียกว่า Strip ประกอบด้วย แถบทดสอบเป็นแผ่นยาวและแคบ วิธีการทดสอบคือ ให้นำปัสสาวะใส่ในภาชนะ ก่อนจะจุ่มแถบทดสอบลงไปในปัสสาวะ โดยให้ปลายลูกศรชี้ลง และระวังไม่ให้ปัสสาวะสูงเลยขีดที่กำหนดไว้บนแถบ จากนั้นวางแถบทดสอบในแนวราบ รอ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผล


 

ข้อดีของชุดตรวจแบบจุ่ม คือ มีราคาถูก อยู่ที่ประมาณ 30-70 บาทต่อชิ้น และสามารถตรวจหาสารแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนที่ปริมาณตั้งแต่ 1,000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่ก็มีข้อเสียก็คือ แถบจุ่มอาจเสียหายได้ง่ายจากการเก็บรักษาไม่ดี เช่น โดนความชื้น สัมผัสกับสารเคมี หรือหักงอ ทำให้มีโอกาสเสื่อมประสิทธิภาพได้

 

ขณะที่ แบบหยอด หรือ Cassette ประกอบด้วย ตลับทดสอบและหลอดหยด โดยใช้วิธีการทดสอบคือ ให้นำปัสสาวะใส่ภาชนะที่แห้งสะอาด ก่อนจะหยอดปัสสาวะลงบนตลับทดสอบ และใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะขึ้นมา โดยหยดลงในหลุมที่อยู่บนตลับทดสอบ 3 หยด วางตลับทดสอบไว้ในแนวราบ และรอ 5 นาทีจึงอ่านผล

 

ข้อดีของชุดตรวจแบบหยอด คือ ตลับตรวจเสียหายหรือเสื่อมสภาพได้ยากกว่าแบบจุ่ม ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจหาสารแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนที่ปริมาณตั้งแต่ 1,000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่มีข้อเสียคือ มีราคาสูงกว่าแบบจุ่ม โดยราคาต่อชิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 100-120 บาท

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ