ข่าว

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง กับสารพัดปัญหา"ลุ่มเจ้าพระยา"

           จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาระบุปริมาณฝนที่ตกในปี 2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 1,342.5 มม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งปกติแล้วประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมตลอดปีอยู่ที่ประมาณ 1,572.5 มม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้ในน้ำในภาคส่วนต่าง ๆ แม้กรมชลประทานจะยืนยันว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอใช้จนสิ้นฤดูแล้งปี 2563 หากเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ 

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

   ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

 

           ทว่าปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ฤดูฝนจะมาล่าช้ากว่าทุก ๆ ปี อาจจะล่วงเลยไปถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา(ณ วันที่ 28 มกราคม 2563) ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบํารุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมท้ังสิ้น 10,508 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ 3,812 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 เท่านั้น 

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

          ในขณะที่การปลูกข้าวปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้รณรงค์ให้งดการทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้งปี 2562/63 แต่ปรากฎว่า ขณะนี้มีการเพาะปลูกแล้ว 1.87 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามยังโชคดีที่ คุณภาพน้ำของแม่แม่น้ำเจ้าพระยาณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ยังเป็นปกติ เพราะกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา คลองลัดโพธิ์ และการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศของลำน้ำ พร้อมกับคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไปให้ได้

        ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีปริมาณจำกัด  ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดหมาย เพราะภาครัฐได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้มีเตรียมมาตรฐานรับมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น 

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

         ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานได้ออกมายอมรับว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ทั้งหมด กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้ให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ หากมีเหลือถึงจะจัดสรรเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้งรวมถึงการทำนาปรังด้วย ดังนั้นจึงมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานหลายพื้นที่จำเป็นจะต้องงดทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาให้งดการทำนาปรังทั้งหมด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีปลูกข้าวนาปรังบ้างพอสมควร กรมชลประทานได้พยายามที่จะช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ 

          ทั้งนี้ในการจัดสรรน้ำที่วางแผนไว้ในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 อีกจำนวน 11,340 ล้านลบ.ม. ณ วันที่ 20 มกราคม 2563 ได้มีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 7,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40 % ของแผน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาวางแผนการจัดสรรน้ำไว้ 4,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% ของแผน 

           ในขณะที่การปลูกพืชฤดูแล้งวางแผนไว้ทั้งสิ้นทั่วประเทศ 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ผลปรากฎว่าการปลูกข้าวนาปรังไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้เพาะปลูกแล้ว 3.10 ล้านไร่ เกินกว่าแผนที่วางไว้คิดเป็น 134.21%  

จับมือ...ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

           “การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาค่อนข้างยากกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ เพราะเป็นพื้นที่กว้างครอบคลุมกว่า 22 จังหวัด และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเป็นของตนเอง จะมีเพียงแค่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำมีน้อยมากมีปริมาณน้ำที่ได้งานได้เพียง 204 ล้านลบ.ม. หรือ 21% ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น จะต้องใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ในการจัดสรรน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยา ด้วยระยะทางที่ไกลน้ำย่อมมีการสูญเสียในแต่ละพื้นที่น้ำไหลผ่านก็จะมีการสูบน้ำขึ้นไปใช้ระหว่างทาง บางครั้งก็นำไปใช้ไม่เป็นไปตามที่จัดสรรให้”ทองเปลวเผย

           ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรกจากปัญหาน้ำเค็มหนุน เริ่มจากช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องต้นปี 2563 ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวง(กปน.) เกินค่ามาตรฐาน กระทบต่อการผลิตน้ำประปา กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ประกอบกับได้มีการจัดสรรน้ำส่วนหนึ่งให้พื้นที่การเกษตรลุ่มเจ้าพระยา ที่ทำนาปีล่าช้า เนื่องจากฝนทิ้งช่วงประมาณ 250,000 ไร่ ทำให้มีการดึงน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปใช้

            จึงมีผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก กระทบต่อน้ำดิบที่ส่งให้การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) และการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมแล้วกว่า 60 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทานแก้ไขด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ บริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสูบเสริมเข้าคลองวันละ 1 ล้านลบ.ม. จนปัจจุบันสามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงเข้าสู่ภาวะปกติ การประปาทั้ง 60 แห่งมีน้ำเพียงพอ กระทั่งค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลเข้่าสู่ภาวะเป็นปกติ 

    

 

             อย่างไรก็ตามในการบริหารจัดการน้ำให้พ้นวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ไปให้ได้นั้น ทุกฝายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน ประชาชนจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของน้ำ พื้นที่การเกษตรกรที่ให้งดการทำนาปรังก็จะต้องงดทำจริงๆ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด หากสามารถบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ กรมชลประทานมั่นใจว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ จะเพียงพอสำหรับการรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำและการอุปโภคบริโภคจนถึงฤดูฝนอย่างแน่นอน  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ