ข่าว

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองพื้นที่"อีอีซี"         

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองภาคเกษตร-อุตฯ พื้นที่"อีอีซี"         

        หลังรัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงทรา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขยายตัวการลงทุนของประเทศ ความมั่นคงทางด้านน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโตภาคอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการขยายตัวภาคการผลิต การบริการ รวมทั้งความต้องการใช้น้ำสำหรับพื้นที่ภาคการเกษตร 

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองพื้นที่"อีอีซี"         

แม่น้ำบางปะกง

 

              กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานหลักระดับปฏิบัติการ โดย อธิบดี “ทองเปลว กองจันทร์” สั่งการให้สำนักกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประสานความร่วมมือให้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ตรงตามเป้าหมายความต้องการที่วางไว้ โดยมอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 9 ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนให้สามารถขับเคลื่อนโครงการได้อย่างเหมาะสม

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองพื้นที่"อีอีซี"         

             สุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ชี้แจงรายละเอียดถึงการดำเนินดังกล่าว โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 มีขอบเขตรับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัด ในภาคตะวันออก คือ  ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา มีพื้นที่การเกษตร 23 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทาน 2.1 ล้านไร่ หรือ 9.1% ใน 4 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางประกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำชายทะเล ฝั่งตะวันออก ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาคุณภาพน้ำ รวมทั้งปัญหาการแบ่งปันน้ำของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม 

            หลังจากรัฐบาลมีแผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วางโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยพิจารณาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการคาดการณ์ว่าในปี 2579 จะพัฒนาแหล่งน้ำได้รวม 754 โครงการ เพิ่มปริมาณการเก็บน้ำได้อีก 1,621 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 1.5 ล้านไร่ รวมใน 20 ปี ข้างหน้าพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเพิ่มเป็น 3.7 ล้านไร่

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองพื้นที่"อีอีซี"         

            สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจ (อีอีซี) ในพื้นที่ภาคตะวันออก สุชาติ ระบุว่า การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสวอเตอร์) ได้ประเมินความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 350 ล้านลบ.ม. เป็น 750 ล้านลบ.ม.ในปี 2569 และคาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำจะเป็น 1,000 ล้านลบ.ม.ในปี 2579 เพื่อรองรับการขยายตัวทั้งด้านการเกษตรในฐานะศูนย์กลางผลไม้ การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรมและการบิน กรมชลประทานจึงกำหนดยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงด้านน้ำสำหรับอีอีซี ไว้ 6 ด้านประกอบด้วย 1.การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บน้ำ 2.พัฒนาแหล่งน้ำโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 3.เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบสูบน้ำให้เต็มศักยภาพ 4.การสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 5.การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และ 6.การจัดหาแหล่งน้ำโดยภาคเอกชน

               ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ระบุอีกว่า พื้นที่ภาคตะวันออกในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ยังขาดความมั่นคงด้านน้ำซึ่งมักเกิดปัญหาการแย่งน้ำระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเกือบทุกปี โดยเฉพาะในปี 2548 วิกฤติแล้งมากจนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดระยองและชลบุรีต้องใช้น้ำจากระบบระบายน้ำจากฟาร์มปศุสัตว์มาช่วยสวนผลไม้ ในปีเดียวกันนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บริษัทอีสวอเตอร์ ดำเนินการก่อสร้างระบบผันน้ำ 2 โครงการ คือ การวางท่อผันน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.40 เมตร จากแม่น้ำบางประกง จ.ฉะเชิงเทรา สูบน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำปีละประมาณ 35 ล้านลบ.ม. และวางท่อผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำ ประแสร์ จ.ระยอง มาลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง ปีละประมาณ 70 ล้านลบ.ม. 

 เปิด6ยุทธศาสตร์น้ำ สนองพื้นที่"อีอีซี"         

                 นอกจากนั้น สำนักงานชลประทานที่ 9 ยังได้ดำเนินการโครงการสูบผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มาลงอ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง เพื่อเชื่อมโครงข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการใช้น้ำในจังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อหาแนวทางในการวางโครงข่ายน้ำจากแหล่งข้างเคียง โดยภาพรวมได้สรุปแนวทางการสูบน้ำจากลุ่มน้ำใกล้เคียง ได้แก่ 1.โครงการผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต จ.สมุทรปราการ มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 

                 2.โครงการระบบผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 3.โครงการระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำดอกกรายมาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง ปัจจุบันอยู่ในแผนยังไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง และโครงการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกราย จ.ระยอง ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว และ 4.โครงการสถานีสูบน้ำพานทอง จ.ชลบุรี โดยการสูบน้ำจากคลองพานทองเติมเข้าเส้นท่อพระองค์ไชยานุชิต อ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละประมาณ 50 ล้านลบ.ม. จะแล้วเสร็จในปี 2562

               สำหรับโครงการสูบผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต อ่างเก็บน้ำบางพระ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ให้กรมชลประทานดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกมาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำอัตราการสูบน้ำ 5.50 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร ความยาว 58.251 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำในฤดูฝนจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ได้ปีละประมาณ 70 ล้านลบ.ม. ซึ่งได้สร้างแล้วเสร็จในปี 2556

              ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการสูบผันน้ำ ภายใต้การควบคุมของกรมชลประทาน ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาครับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าสำหรับการสูบน้ำ ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบท่อ ค่าประกันความเสียหายกับบุคคลภายนอก และจัดเก็บค่าชลประทานในอัตราลบ.ม.ละ 50 สตางค์ ตามพ.ร.บ.การชลประทานหลวง นอกจากนี้การประปาส่วนภูมิภาคยังดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ซีเอสอาร์) ในอัตราลบ.ม.ละ 10 สตางค์ 

       

         อย่างไรก็ตามเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ผันน้ำจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหากับพื้นที่ต้นน้ำ จึงกำหนดเกณฑ์ดังนี้ ระดับน้ำหน้าสถานีสูบน้ำ ต้องไม่น้อยกว่าระดับ 0.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ค่าความเค็มต้องไม่มากกว่า 0.50 กรัมต่อลิตร อัตราการไหลของน้ำหน้าสถานีไม่น้อยกว่า 1.00 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 จะเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการให้สูบหรือหยุดสูบน้ำ

               ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนารูปแบบการบูรณาการโครงการและงบประมาณด้านน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันปี 2561 ในภาคตะวันออกสามารถเก็บน้ำได้ทั้งสิ้น 2,488 ล้านลบ.ม. ในอ่างเก็บน้ำ 62 แห่ง แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 7 แห่ง และขนาดกลาง 55 แห่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีน้ำใช้อย่างเพียงพอแน่นอน 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ค้านผังเมือง 'อีอีซี' นัดชุมนุมหน้าทำเนียบฯ
-อีอีซี พัฒนาเพื่อใคร?
-ชุมนุมค้านผังเมือง 'อีอีซี' (ภาพชุด)
-(คลิปข่าว) อีอีซีวางโรดแมพมหานครการบินภาคตะวันออก

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ