ข่าว

สิทธิของเด็กที่เกิดจากน้ำเชื้อบริจาค..อยู่ที่ไหนกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แคทรินา คลาร์ก และ ลินเซย์ กรีนวอล์ท มีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง สองสาวหน้าใสวัย 20 ปีเศษ มีแต่แม่ ไม่มีพ่อ และมีความกระหายใคร่รู้อย่างยิ่งว่าชายผู้มอบสเปิร์มช่วยให้ทั้งสองเกิดมายืนบนโลกใบนี้ เป็นใครมาจากไหน ต่างกันตรงที่คลาร์กนั้นโชคดีกว่า เมื่อการค้นหา

กรีนวอล์ทกับคลาร์ก เป็นส่วนหนึ่งของผลิตผลจากคนบริจาคสเปิร์มรุ่นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พวกเขาเริ่มออกมาเรียกร้องให้แก้ไขกฎเกณฑ์บางอย่าง ขอให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาสรับรู้ว่าพ่อทางสายเลือดนั้นเป็นใครได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการห้ามบริจาคสเปิร์มแบบนิรนาม ซึ่งยังเป็นเรื่องห่างไกลในสหรัฐ แต่อังกฤษกับอีกหลายชาติยุโรปได้เริ่มแล้ว

 เสียงของคนเหล่านี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยแรงหนุนของเครือข่ายสังคมออนไลน์,ภาพยนตร์อย่าง "เดอะ คิดส์ อาร์ ออล ไรท์" ที่เล่าเรื่องวัยรุ่นสองพี่น้องที่ออกติดตามหาพ่อผู้บริจาคน้ำเชื้อ ก่อนนำพ่อมาทำความรู้จักกับแม่เลสเบี้ยน นำไปสู่เรื่องราวโกลาหลอลหม่าน และกระแสถกเถียงหลังมีการเผยแพร่ผลการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า "ชื่อพ่อฉันคือผู้บริจาค" (My Daddy's Name is Donor) ซึ่งพบว่าคนที่ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อบริจาค มีแนวโน้มเป็นเด็กมีปัญหาและซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในวัยเดียวกัน พร้อมข้อเสนอแนะให้ยุติการบริจาคสเปิร์มแบบไม่เปิดเผยชื่อ  

 ปัจจุบัน มีธนาคารสเปิร์มในสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีนโยบายเปิดเผยชื่อผู้บริจาค ซึ่งหมายถึงผู้บริจาคตกลงยินยอมให้เด็กที่เกิดมาติดต่อกับตนเองได้เมื่อพวกเขาอายุครบ 18 ปี แต่กระนั้น ผู้บริจาคจำนวนมากยังเลือกเป็นบุคคลนิรนาม ซึ่งทำให้ลินเซย์ กรีนวอล์ท ที่เริ่มตามหาพ่อมาตั้งแต่ปี 2546 และยังไม่พบ รู้สึกโกรธ 

 สิ่งที่กรีนวอล์ทรู้เกี่ยวกับพ่อคือ ชื่อ "ไซเท็กซ์ โดเนอร์ 2035" ซึ่งเป็นหมายเลขที่บริษัทธนาคารสเปิร์มชื่อ ไซเท็กซ์ ในเมืองออกัสตา รัฐจอร์เจีย ออกให้ในทศวรรษที่ 1980 เวลานี้พ่ออายุ 49 ปี เคยเข้าเรียนในวิทยาลัย เธอเหมือนพ่อคือตาสีเขียว ผมสีน้ำตาล นอกจากนี้ยังได้รู้ประวัติสุขภาพเพิ่มอีกนิดหน่อย หลังจากส่งคำร้องขอข้อมูลล่าสุดจากทางบริษัทไซเท็กซ์ แต่การได้รับรู้ข้อมูลล่าสุด ยิ่งทำให้เธอเศร้า เพราะนั่นแสดงว่า ชายคนนั้นรู้ว่าเธอกำลังตามหาตัวอยู่ แต่ไม่ต้องการจะติดต่อกลับ 

 กรีนวอล์ท เคยเขียนไว้ในบล็อกว่า หากต้องเลือกระหว่างการได้เกิดมาด้วยตัวตนเพียงครึ่ง และครึ่งหนึ่งของผู้ให้กำเนิดจงใจปฏิเสธเธอตลอดกาล กับการไม่ได้เกิดมาบนโลกนี้ เธอขอเลือกไม่เกิด พวกเธอถูกสร้างมาเพื่อให้แบกรับความสูญเสียตั้งแต่เกิด เป็นความสูญเสียที่ไม่มีมนุษย์คนใดควรจะต้องทน

 ส่วนคลาร์กนั้น รู้สึกประหลาดใจมากเมื่อความพยายามค้นหาตัวตนพ่อทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2549 สำเร็จในชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์ เธอส่งอีเมลให้เขา และได้รับการตอบกลับทันที เป็นการตอบกลับที่เป็นมิตร พร้อมรูปถ่าย แต่หลังจากนั้น แทบไม่มีการติดต่อกันอีก และไม่เคยเจอหน้ากัน นั่นทำให้คลาร์ก รู้สึกอึดอัดใจและคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา เป็นเพราะเธอไปกดดันเขามากเกินไป เขาอาจยังไม่พร้อมที่จะออกมาเปิดเผยตัว บางทีเขาอาจจะอาย หรือรู้สึกผิด เธอมีแต่ความสงสัย

 คลาร์กคับแค้นใจจนรู้สึกชิงชังแนวคิดการบริจาคสเปิร์ม แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เธอยอมรับว่ามันเป็นเรื่องดีสำหรับหลายๆ ครอบครัว เธอจึงสนับสนุนให้ยุติการบริจาคแบบไม่ประสงค์บอกนามแทน และหวังว่าจะมีพ่อแม่มากขึ้นที่บอกความจริงกับลูกที่ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อผู้บริจาคโดยเร็ว   

 ในที่สุด คลาร์กได้ผันตัวเองมาเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจัง กระทั่งเคยล็อบบี้ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่จะทำให้เวอร์จิเนียเป็นรัฐแรกในการสั่งห้ามการบริจาคสเปิร์มแบบนิรนาม แต่ไม่สำเร็จ
  
 ในฟากของสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์อเมริกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารสเปิร์มและคลินิกเจริญพันธุ์จำนวนมาก สนับสนุนให้พ่อแม่ของเด็กที่เกิดจากน้ำเชื้อบริจาค บอกความจริงกับลูกของตน แต่ไม่สนับสนุนให้ออกกฎห้ามการบริจาคแบบนิรนาม โดยมองว่าสิทธิของเด็กจะต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของผู้บริจาค

 ดร.เจมี กรีโฟ จากศูนย์เจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในฐานะที่เคยเป็นประธานสมาคมเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า การรณรงค์ให้เทน้ำหนักสิทธิไปทางเด็ก อาจจะหาแนวร่วมไม่ได้ง่ายนัก เพราะหากสัญญากำหนดไว้ว่าเป็นการบริจาคแบบนิรนาม ก็ควรให้เป็นตามนั้น เป็นเรื่องที่เด็กต้องรับมือกับมัน และเชื่อว่าบรรดาลูกๆของผู้บริจาคสเปิร์มที่พยายามตามหาพ่อที่ให้กำเนิด ส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ และถึงจะสำเร็จ ก็อาจนำมาซึ่งความผิดหวังครั้งใหญ่ก็ได้

 แต่นั่นไม่ใช่กรณีของ ท็อดด์ ไวท์เฮิร์สต นักฟิสิกส์วัย 44 ในนครนิวยอร์กที่เคยบริจาคสเปิร์มให้แก่ธนาคารสเปิร์มแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในเด็กหลายคนที่ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อของไวท์เฮิร์สต์ ได้ใช้เว็บไซต์มายสเปซ ติดตามตัวเขาจนพบ ไม่นานนัก ไวท์เฮิร์สตได้พบกับเด็กสาวคนนั้น เธออายุได้ 17 ปีแล้ว และยังได้พบน้องชายอีก 2 คน วัย 12 กับ 15 ทั้งสามได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ที่ใช้บริการธนาคารสเปิร์มเดียวกัน ปรากฏว่าทั้งหมดสามารถต่อกันติดในเวลาอันรวดเร็ว และยังติดต่อกันเรื่อยมา

  ไวท์เฮิร์สต กล่าวว่า เด็กๆ ไม่เคยคาดหวังอะไรในตัวเขา แต่อยากรู้จักเท่านั้น ดังนั้น พวกเราเลยอยากใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น และถือว่านี่เป็นโบนัสของชีวิต เป็นสิ่งพิเศษสุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเรา   

 อีกหนึ่งเรื่องราวที่คลี่คลายด้วยดีเกิดขึ้นในออสเตรเลีย ไมแฟนวี วอล์กเกอร์ ได้พบกับพ่อผู้ให้สเปิร์ม ไมเคิล ลินเดน ในปี 2544 หลังจากที่ตามหาอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ รวมทั้งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ลินเดนได้อ่านบทความชิ้นนั้น และได้ติดต่อกลับไป ทั้งคู่ยังคงเป็นเพื่อนกันนับจากนั้นมา แม้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการจากครอบครัวทั้งสอง 

 วอล์กเกอร์ บรรยายความรู้สึกเวลานั้นว่า แปลกๆ จับต้นชนปลายไม่ถูก ลินเดนเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเธอ แต่เวลาเดียวกัน กลับรู้สึกว่าได้รู้จักชายคนนี้มาตลอดชีวิต

 การพบกันนำสิ่งดีๆ มาให้ก็จริง แต่บุคคลทั้งคู่กลับไม่เห็นด้วยที่สิทธิของเด็กที่เป็นผลผลิตจากการบริจาคสเปิร์ม ถูกลิดรอนมากเกินไป

 ในสหรัฐอเมริกา การบริจาคสเปิร์มเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก แม้ไม่มีการรวบรวมสถิติอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีการตั้งครรภ์จากน้ำเชื้อบริจาคปีละอย่างน้อย 3 หมื่นราย หรืออาจมากกว่านั้น 

 คนที่อยู่ในเครือข่ายการบริจาคแบบไม่ประสงค์ออกนามมีอยู่มากมาย ตั้งแต่ตัวผู้บริจาค เด็กๆ ที่เกิดมา และพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่มีเว็บไซต์เป็นศูนย์กลางให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสพบปะกันหากมีประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น คุณแม่อย่างเวนดี้ เครเมอร์ ได้เปิดเว็บไซต์ชื่อ โดเนอร์ ซิบลิง รีจิสตรี้ ในรัฐโคโลราโด เมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งแรกเริ่มเดิมที เพื่อให้ลูกชาย ไรอัน ได้ใช้ตามหาพี่น้องร่วมสเปิร์มบริจาค จนปัจจุบัน มีผู้เข้าไปลงทะเบียนแล้วกว่า 2.8 หมื่นคน  และที่ผ่านมาได้ช่วยเป็นสื่อกลางให้คนราว 7,400 คน พบเจอกับพี่น้องต่างมารดาและพ่อเจ้าของน้ำเชื้อ

 เครเมอร์ ยังเข้าร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศที่กำลังล็อบบี้ให้ยุติการบริจาคแบบนิรนาม และปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้การตามหาเจ้าของสเปิร์ม ทำได้ง่ายขึ้น

 "เราพูดถึงแต่สิทธิของพ่อแม่ ผู้บริจาค และคลินิกกันอยู่เสมอ แล้วสิทธิของชีวิตที่ปฏิสนธิจากผู้บริจาคล่ะ เหตุใดจึงไม่เคยได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมเลย"  เครมเมอร์กล่าวทิ้งท้าย

อุไรวรรณ นอร์มา
ที่มา-เอพี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ